svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชั่วโมงสืบสวน 20 ต.ค. 62"โรคซึมเศร้า" หลุมดำคร่าชีวิต

22 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยฆ่าตัวตายประมาณ 40,000 ราย เฉลี่ยแล้วเดือนละ 333 ราย หรือวันละ 11 ราย ขณะที่สาเหตุอันดับหนึ่งมาจากโรคซึมเศร้า ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า โรคซึมเศร้าคืออะไร และจะมีวิธีสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย ติดตามจากทีมข่าวชั่วโมงสืบสวนครับ

การฆ่าตัวตาย หรือ "อัตวินิบาตกรรม"เป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมไทย และทั่วโลกกำลังเผชิญ และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ข่าวคราวที่ปรากฎให้เห็นตามหน้าสื่อ ทั้งการจากไปของ"เหม ภูมิภาฑิต นิตยารส" ดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงตัดสินใจอำลาโลกด้วยการผูกคอตายในคอนโดเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ถัดจากนั้นไม่นานก็ปรากฎข่าวการเสียชีวิตของ"ซอลลี่" นักแสดงและนักร้องชื่อดัง ชาวเกาหลีใต้ ผูกคอตายภายในบ้าน โดยมีสาเหตุมาจากการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง
นี่ยังไม่นับรวมบุคคลอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นข่าว ทำให้หลายฝ่ายหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นกรณีศึกษา โดยเฉพาะกรมสุขภาพจิต มีความเป็นห่วงผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย น้อยคนที่จะรู้เหตุผลที่แท้จริง แต่ปมสงสัยมักถูกเฉลยด้วยจดหมายลาตาย ที่ผู้ตายเขียนระบายความในใจถึงสาเหตุที่ตัดสินใจทำแบบนี้ แต่ทว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้รูปแบบการส่งสัญญาณเตือนเปลี่ยนไปด้วย กลายเป็นการส่งข้อความหรือโพสต์บรรยายลงในโลกโซเชียล

โรคซึมเศร้าเกิดจากการทำงานของระบบสมองที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย แต่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจ และจะสามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ แต่ในความจริงแล้วโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย
ปัญหาสำคัญของการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคือ การไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือบางคนรู้แต่ไม่ยอมเข้ารับการรักษา ทำให้ตัวเลขผู้ได้รับการตรวจรักษามีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นจากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด
ยิ่งไปกว่านั้นคือคนรอบข้างไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจ ไม่รู้วิธีการพูดหรืออยู่ร่วมกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า นั่นเท่ากับยิ่งผลักไสให้ผู้ป่วยถอยห่างจากสังคมภายนอก และอยากเก็บตัวอยู่ในมุมมืดคนเดียว

logoline