svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมศิลปากร แจง บูรณะวัดอรุณฯ ยึดลวดลายเดิม 60% ลายใหม่ 40% ถูกต้องตามต้นแบบ

16 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อธิบดีกรมศิลปากร ยืนยัน การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง ถูกต้องตามต้นแบบ ยึดของเดิมไม่ผิดเพี้ยน ชี้มีสีขาวขึ้น เพราะปูนปั้นใหม่ ใช้วิธีการหมักตามกรรมวิธีโบราณ บวกกับเซรามิกผิวขาว จึงโดดเด่นขึ้นมา

ข่าวที่เกี่ยวข้องความอัปลักษณ์ที่ไทยทำได้ประเทศเดียว !!(อ่าน..วัดอรุณฯ แจงองค์พระปรางค์ขาวขึ้น เพราะทำความสะอาด)


หลังจากตัวแทน วัดอรุณราชวรารามฯ ออกมายืนยันว่า การบูรณปฏิสังขรณ์ ยึดรูปแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจากต้นแบบ ล่าสุด อธิบดีกรมศิลปากร นำหลักฐานสำคัญประวัติศาสตร์ แถลง ยืนยัน การบูรณะพระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามฯ ถูกต้องตามต้นแบบ ยึดของเดิมไม่ผิดเพี้ยน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2
อธิบดีกรมศิลปากร อนันต์ ชูโชติ บอกว่า วัดอรุณราชวรารามฯ เป็นโบราณสถานมีชีวิต แตกต่างจากโบราณสถานใน จ.พระนครศรีอยุธยา ดังนั้นการบูรณะ จึงยึดตามต้นแบบสมัยรัชกาลที่ 2
ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พระปรางค์เปรียบเสมือนมหาธาตุของกรุงรัตนโกสินทร์ การบูรณะ จะเน้นปรางค์ประธาน บุษบก ประจำทิศทั้งสี่ด้าน
ก่อนบูรณะ เจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บข้อมูลทุกชั้น ทุกด้าน ด้วยภาพถ่ายสามมิติ หรือ ทรีดีสแกน ลอกลายไว้ทั้งหมด การจัดเก็บสี การจัดเก็บลวดลาย ซึ่งเก็บลวดลายที่เป็นเซรามิก ทั้งปรางค์ประธาน มีลายทั้งสิ้น 120 ลวดลาย เพื่อเป็นหลักฐานก่อนการบูรณะ
ซึ่งกรมศิลปากร ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งได้ใช้บุคคลกรจำนวนมาก รวมรวมข้อมูล เพราะตระหนักถึงความเป็นโบราณสถานที่ล้ำค่า เป็นสมบัติของชาติ
อธิบดีกรมศิลปากร ยืนยันว่า ขั้นตอนการเผา รวมถึงสีของวัสดุที่นำมาติดทับ ผ่านการพิจารณาอย่างละเอียด ยืนยันว่าไม่ได้ถอดแบบลายของเดิมออกไปแล้วใช้ลายใหม่ ยกเว้นลวดลายที่เสียหายเกิน 50%
อธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า การบูรณะ ยังยึดลวดลายเดิม 60% ส่วน 40% ที่เสริมใหม่ ผ่านการวิเคราะห์ถึงลวดลายที่ยึดของเดิมเป็นหลัก ภาพรวมของโบราณสถานที่มีสีขาวขึ้น เพราะเมื่อปูนปั้นใหม่ ใช้วิธีการหมักตามกรรมวิธีโบราณ บวกกับ เซรามิก ผิวขาวจึงโดดเด่นขึ้นมา
การทำความสะอาดคราบดำตะไคร่น้ำ ทำให้เส้นรอบนอกของลวดลายกระเบื้องดูชัดเจน การบูรณะครั้งนี้จึงไม่แตกต่างจากการบูรณะ สมัยรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 และ ความเป็นวัดอรุณราชวรารามฯ ยังคงมีอยู่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า เศษกระเบื้อง วัสดุที่ถูกแกะออก ถูกนำไปทำวัตถุมงคล อธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า ไม่ทราบข้อมูลและไม่ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ แต่หากนำไปทำวัตถุมงคล ก็เป็นสิทธิของทางวัด ส่วนกระเบื้องที่เป็นชิ้นส่วนเสียหายถูกเก็บไว้ที่วัด และส่งมาที่กรมศิลปากรส่วนหนึ่ง เพื่อใช้ถ่ายทอดเรื่องราวของการบูรณะ
สำหรับการอนุรักษ์โบราณสถานรอบเกาะกรุงรัตนะโกสินทร์ จะยึดแบบเดียวกันด้วยการเก็บข้อมูล เพื่อส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมไปยังอนาคต พร้อมน้อมรับข้อเสนอแนะของประชาชนที่ห่วงใย ส่วนพิธีสมโภชพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ยังเป็นไปตามกำหนดเดิม
โดยจะจัดขึ้นหลังเสร็จพิธีอัญเชิญกระดิ่งทองคำไปประดิษฐานสี่ทิศ รอบพระมหามงกุฎ เหนือยอดนภศูล บนยอดพระปรางค์ ส่วนงานสมโภชพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2560 - 5 มกราคม 2560 เป็นเวลา 10 วัน

logoline