svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

200 ซีอีโอ โหวต"นายกฯ-อนุทิน"สอบตก เต็ม10 ได้ 1 คะแนนแนะ ‘ปรับครม.’ รับมือวิกฤต 55%

28 เมษายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

200 ซีอีโอ โหวต "นายกฯ-อนุทิน" เต็ม 10 ให้ 1 คะแนน จี้ปรับ ครม.ดึงคนเก่งร่วมบริหาร หลังโควิด "วิกฤตหนัก" ระบุ "สาธารณสุข" ควรปรับออกมากสุด ให้คะแนนทีมเศรษฐกิจตกทั้งทีม เสนอทางแก้ "เร่งฉีดวัคซีนให้เร็ว"แนะรัฐเร่งผ่อนกฎทำธุรกิจ ลดภาษี พักเงินต้น ยืดหนี้ ลดดอก

"กรุงเทพธุรกิจ" สำรวจความคิดเห็น 200 ซีอีโอ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก ท่องเที่ยว รถยนต์ อุปโภค บริโภค ไอทีดิจิทัล ถึงข้อเสนอแนะ "ทางออก" วิกฤติโควิดในไทยที่ขณะนี้วิกฤติระดับสูงสุด ยอดผู้ติดเชื้อยังคงหลักพัน ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ผลสำรวจ พบว่า ซีอีโอกว่า 55% ระบุ รัฐบาลควร "ปรับคณะรัฐมนตรี" ดึงคนเก่ง ที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาร่วมบริหาร และแก้สถานการณ์โควิด-19 ที่เข้าขั้นวิกฤตสูงสุด ซึ่งรัฐบาลชุดนี้กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักถึงการบริหารจัดการที่ล้มเหลว รองลงมา ซีอีโอ 30% เห็นว่า รัฐบาลควร "ลาออก" และ 21.3% อยากให้เป็นรัฐบาลชุดเดิม แต่ขอให้มีมาตรการแก้ปัญหาแบบเชิงรุก ชัดเจน และวัดผลได้ ขณะซีอีโอราว 12.2% อยากให้รัฐบาลชุดนี้ยุบสภา

กระทรวงที่ซีอีโอมีความเห็นว่า ควรปรับ ครม.ออกมากที่สุด 79.3% คือ กระทรวงสาธารณสุข รองลงมา กระทรวงมหาดไทย35.2% และ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง 31.6%

วิกฤตโควิดระลอกใหม่นี้ กระทบภาพรวมธุรกิจหนัก โดยเฉพาะจากมาตรการคุมเข้มรายจังหวัด การปิดสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง สถานบริการที่ปิดเร็วขึ้น รวมถึงการขอความร่วมมือไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านในเวลาที่กำหนด การขอความร่วมมือเวิร์คฟอร์มโฮม ย่อมกระทบยอดขาย และรายได้ในภาคบริการ รวมถึงธุรกิจที่ยากจะหลีกเลี่ยง

ขอรัฐลดภาษี ยืดหนี้ ลดดอกปล่อยกู้
ซีอีโอ เห็นว่า รัฐบาลควรเร่งนโยบายเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจเพื่อรับมือวิกฤติ โดยกว่า 82.8% ต้องการให้รัฐบาลเร่งผ่อนคลายข้อกำหนดการทำธุรกิจ ลดภาษี พักเงินต้น ยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย รองลงมา 53% ต้องการให้ปล่อยซอฟต์โลนให้ทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ส่วน 46.5% ต้องการให้ลดหรือฟรีค่าครองชีพ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ให้ทุกครัวเรือน ขณะที่ 27.8% ต้องการให้รัฐแจกเงินเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย

ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติม เช่น ให้รัฐเร่งแก้ที่ต้นตอ คือ เร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด เปิดให้เอกชนรวมถึงโรงพยาบาลเอกชนสั่งวัคซีนได้ มีมาตรการสร้างงาน สร้างอาชีพรองรับ ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบตามมากน้อยตามลำดับ ปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เติมสภาพคล่องทางการเงินให้หันมาบริโภค และใช้จ่ายในประเทศมาขึ้น

"ฉีดวัคซีนให้เร็ว และให้มากที่สุด
เมื่อถามว่า นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ปัญหาที่เข้าขั้นวิกฤตสูงสุด คือ อะไร ซีอีโอมากกว่า 86.9% ต้องการให้เร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด รองลงมา 54.5% เร่งระดมภาคเอกชน โรงพยาบาลและทุกภาคส่วนร่วมสนับสนุน เตียง สถานที่รักษา รองรับผู้ป่วย ซีอีโอมากกว่า 43% อยากให้มีบทลงโทษทางกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนมาตรการสาธารณสุขเข้มงวด และ 42.9% ต้องการให้ใช้ระบบเทเลเมดิซีนเต็มรูปแบบรองรับผู้ป่วยที่ต้องคำแนะนำ

นอกจากนี้ ซีอีโอ 36% ยังต้องการให้รัฐบาลให้อำนาจจังหวัดล็อกดาวน์ในจังหวัดของตัวเอง ขณะที่ 33.8% บอกว่าควรเพิ่มบุคลากร อาสาสมัคร ที่มีความรู้ให้คำแนะนำการ วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อ ผ่านสายด่วน หรือแอพพลิเคชัน และมีซีอีโอราว 27.3% เห็นว่าควรใช้มาตรการล็อกดาวน์บางจังหวัด รวมถึงอาจต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

ความเห็นเพิ่มเติมในส่วนนี้ ซีอีโอ ระบุว่า รัฐอาจจำเป็นต้องปิดสถานบริการไม่มีกำหนดเพื่อควบคุมระบาดและสกัดไม่ให้เกิดคลัสเตอร์เพิ่ม รวมทั้งเข้มงวดการลักลอบเข้าประเทศที่เชื่อว่ามีคนไทยอำนวยความสะดวก เพราะอาจเป็นช่องโหว่นำโควิดสายพันธุุ์ใหม่เข้ามา ทั้งต้องบังคับใช้กฎหมายลงโทษกลุ่มบุคคลที่เป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อเข้มงวด

ส่วนมุมผู้ป่วยติดเชื้อมีคำแนะนำว่า หากอาการไม่รุนแรงควรพิจารณาให้กักตัวที่บ้าน เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงให้ผู้ป่วยรุนแรง ที่สำคัญรัฐควรเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาช่วยเต็มที่

ทีมเศรษฐกิจ-สาธารณสุข "สอบตก"

อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" เปิดให้ซีอีโอให้คะแนนความพึงพอใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการแก้วิกฤตครั้งนี้ โดยซีอีโอส่วนใหญ่ประเมินให้ "สอบตก" ซึ่งซีอีโอที่ตอบในสัดส่วนมากที่สุดให้คะแนนเพียงแค่ 1 คะแนน จากเต็ม 10

ซีอีโอ 24.9% ให้คะแนนความพึงพอใจต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในการแก้วิกฤติ จากคะแนนเต็ม 10 ให้เพียง 1 คะแนน 14.7% ให้ 5 คะแนน 14.2% ให้ 3 คะแนน และ 10.6% ให้ 6 คะแนน มีซีอีโอเพียง 2.5% เท่านั้นที่ให้คะแนน พล.อ.ประยุทธ์เต็ม 10 คะแนน

ด้านความพึงพอใจต่อ "นายอนุทิน ชาญวีรกุล" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซีอีโอ 39.9% ให้ 1 คะแนน รองลงมา 15.7% ให้ 3 คะแนน 11.6% ให้ 2 คะแนน มีซีอีโอเพียง 1.5% เท่านั้นที่ให้คะแนนเต็ม 10

ส่วน "นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งรับผิดชอบงานนโยบายเศรษฐกิจ ซีอีโอ 23.4% ให้ 1 คะแนน รองลงมา 14.7% ให้ 5 คะแนน และ 13.7% ให้ 3 คะแนน มีซีอีโอเพียง 2.5% เท่านั้นที่ให้คะแนนเต็ม 10
เช่นเดียวกับ "นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งรับผิดชอบนโยบายการเงินการคลังของประเทศ ซีอีโอ 19.5% ให้ 1 คะแนน รองลงมา 14.9% ให้ 5 คะแนน มีเพียง 1.5% เท่านั้นที่ให้คะแนนเต็ม 10

จี้รัฐหนุนเอกชนร่วม "วัคซีน"
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมของ "ทางออก" วิกฤตครั้งนี้ ซึ่งซีอีโอส่วนใหญ่ย้ำการ "เร่งฉีดวัคซีน" ให้เร็ว เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ รวมถึงเรียกร้องให้เปลี่ยนทีมผู้บริหารจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศ ตั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลโควิดโดยเฉพาะและให้อำนาจตรง ทั้งควรพิจารณาให้ประชาชนได้รับการตรวจโควิดฟรี

ซีอีโอให้ความเห็นการบริหารจัดการวัคซีนอย่างกว้างขวาง บางความเห็น ระบุว่า หากรัฐต้องการใช้วัคซีนเพียงแค่ 2 ยี่ห้อ ด้วยเหตุผลทางการเมือง ควรเปิดให้เอกชนจัดการวัคซีนที่มีคุณภาพยี่ห้ออื่นภายใต้การควบคุมของโรงพยาบาล ไม่ใช่มาปิดกั้น

หรือรัฐบาลควรนำเข้าวัคซีนหลายยี่ห้อเพื่อจำหน่ายราคาต้นทุน ให้เป็นทางเลือกประชาชนได้เข้าถึงเสรี จัดทำแผนบริหารจัดการวัคซีนเป็นระบบ ตั้งแต่จัดหา กระจายและกำหนดความร่วมมือรัฐและเอกชนในรายละเอียด

"รัฐบาลควรถอยออกไป ให้เอกชนนำเข้าวัคซีน และให้โรงพยาบาล รวมถึงเอกชนได้บริหารจัดการกันเองตามที่เคยเป็น เพราะมีประสิทธิภาพมากกว่าที่รัฐจะแทรกแซง ที่สำคัญเลิกหาผลประโยชน์จากวัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ การคอร์รัปชั่นจะซ้ำเติมสถานการณ์อย่างมาก" หนึ่งในความเห็นของซีอีโอ

ดึงผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขร่วมงาน
ขณะเดียวกัน มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาผู้มีความรู้ ซื่อสัตย์และกล้าตัดสินใจมาทำงานแก้ปัญหาโควิด รวมถึงรัฐบาลควรเปิดทางให้มีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศแทน หรือพิจารณาคืนอำนาจให้กับประชาชน

"นายกฯ ควรใช้อำนาจในการบริหารงาน และเลือกคนดีมาทำงาน หยุดการเอื้อพวกพ้อง หมดเวลารักพี่รักน้อง ปัญหาบ้านเมืองสำคัญที่สุด" ความเห็นบางส่วนจากซีอีโอ

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งผ่าตัดหน่วยงานราชการที่ปล่อยให้เปิดผับ บาร์ นอกเวลามาหลายปีที่มีทุจริตคอร์รัปชั่นกันเกือบทุกหน่วยงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุการระบาดวงกว้าง

ซีอีโอ บางรายให้ความเห็นว่า หากรัฐบาลต้องการบริหารต่อ ต้องเปิดกว้างระดมเอกชนทุกภาคส่วนมาช่วยเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพดำเนินการ ไม่ใช่มุ่งเน้นเอกชนรายใหญ่ แต่ต้องให้เอกชนทุกส่วนมาช่วยอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว

ส่วนมาตรการช่วยธุรกิจ รัฐควรชัดเจนเพื่อให้ธุรกิจเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ควรประกาศทีหลัง ควรให้ธุรกิจมีเวลาเตรียมแผนให้สอดคล้องกัน ขณะที่รัฐบาลอาจนำเงินเยียวยาไปช่วยเหลือกลุ่มฐานรากที่ไม่ใช้วิธีการแจกเงิน แต่เร่งส่งเสริมเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการคล่องตัว

หมอไม่ทน2แสนชื่อไล่อนุทิน
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวกรณี "หมอไม่ทน" ผุดแคมเปญ ล่ารายชื่อไล่ "นายอนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ "ลาออก" เพื่อให้ผู้มีความสามารถ มีความเหมาะสมมากกว่าเข้ารับตำแหน่ง หลังจากเห็นว่าไม่มีความสามารถมากพอในการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของ โควิด-19
โดยวันนี้ (28 เม.ย.) เมื่อเวลา 07.41 น. ยอดผู้ลงชื่อร่วมสนับสนุนการ "ไล่อนุทิน" ผ่านเว็บไซต์ change.org ในครั้งนี้รวมทะลุ 211,199 รายชื่อแล้ว

200 ซีอีโอ โหวต\"นายกฯ-อนุทิน\"สอบตก เต็ม10 ได้ 1 คะแนนแนะ ‘ปรับครม.’ รับมือวิกฤต 55%

logoline