svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"วิษณุ"ลังเลร่างประชามติคว่ำอีกไหม ใครเจ้าภาพถกกันก่อน

23 มีนาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วิษณุ" ปัดออกความเห็น รัฐบาลเป็นเจ้าภาพแก้รธน. โยนวิปรัฐบาลถกกันก่อน ลังเลตอบร่างประชามติวาระ 3 คว่ำไหมเพราะมีประเด็นใหญ่ที่ต้องพิจารณา เช่น ปชช.เท่าไรถึงจะเป็นประชามติ เสียงโหวตจะใช้เสียงข้างมากหรือขนาดไหน ส่วนถ้าคว่ำรัฐบาลต้องรับผิดชอบไหม ชี้ ต้องเข้าใจว่าผ่านไม่ผ่านไม่ได้เขียนในรธน.

วันนี้ ( 23 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณี นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ส่วนตัวไม่ทราบ แต่คนอื่นจะคุยกันหรือไม่นั้นตนไม่รู้ รวมถึงใครจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้เขาไปคุยกันก่อนแล้วเสนอมาเราจะไปบอกเขาก่อนทำไม เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะแก้อะไรปัญหามันอยู่ตรงนี้ แล้วแต่ละพรรคก็คิดไม่ตรงกันเพราะถ้าคิดตรงกันมันก็จะง่ายใครจะเป็นเจ้าภาพก็ไม่แปลก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือแต่ละพรรคคิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 279 มาตราไม่ตรงกัน ตนจึงบอกว่าเลือกเอามาตราที่จำเป็นและไม่ต้องทำประชามติก่อน อันนั้นจะง่าย

เมื่อถามว่าคิดว่ามาตราใดที่ควรดำเนินการก่อนแล้วจะไม่มีปัญหา นายวิษณุ ปฏิเสธจะตอบคำถามดังกล่าวโดยระบุว่า "ไม่อยากจะไปตอบ" เมื่อถามอีกว่าใครควรเป็นเริ่มพูดคุยประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ ตอบว่า วิปรัฐบาลเขาทำอยู่แต่ก็ต้องรอให้เขาเสนอมาก่อน

เมื่อถามถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ ที่บางมาตราเสียงข้างน้อยชนะเสียงข้างมาก จนต้องเลื่อนการพิจารณากฎหมายออกไป มีความกังวลว่าจะถูกคว่ำในวาระ 3 หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ก่อน มีผู้ขอแปรญัตติและมีผู้สงวนคำแปรญัตติเอาไว้ ซึ่งตนเข้าใจว่าอาจมีความประมาทหรือเผลอไปหน่อย เพราะเมื่อถึงเวลาลงมติสมาชิกรัฐสภาไปอยู่ข้างนอกห้องประชุม แต่ก็ไม่เป็นไรนี้แหละคือความจำเป็นที่ต้องขอเวลานอก และต่อมาเมื่อแก้ไม่เสร็จก็ต้องขอเวลาพิเศษแล้วพักการประชุมจนต้องเลื่อนออกไป


เมื่อถามย้ำว่ากังวลว่ากฎหมายจะถูกตีตกในวาระ 3 หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า อย่าคิดล่วงหน้าเพราะตอนนี้เรื่องอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา และคระกรรมาธิการที่ไปทำงานร่วมกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอยู่ที่ มาตรา 10-13 และบทกำหนดโทษ ที่เรายังไม่เห็นกัน ดังนั้นการโหวตวาระ 3 จึงไม่ควรมีอะไรแต่ก็ยังพูดยากเพราะยังมีประเด็นใหญ่ในมาตราหลังๆอีก เช่น จำนวนเสียงประชาชนเท่าไหร่ถึงจะเป็นประชามติ รวมทั้งเสียงโหวตจะใช้เสียงข้างมากหรือเสียงขนาดไหนซึ่งเป็นมาตราสำคัญที่ยังไปไม่ถึง

เมื่อถามถึงกรณีนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ระบุว่าถ้ากฎหมายประชามติถูกคว่ำในวาระ 3 รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบว่า ต้องเข้าใจว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นของรัฐบาล เป็นกฎหมายปฏิรูป และกฎหมายสำคัญ ต้องเข้าใจคำว่าผ่านไม่ผ่านไม่ได้มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นประเพณีการปกครองของในหลายประเทศ เช่นอังกฤษถ้ารัฐบาลเสนอกฎหมายแล้วไม่ผ่านวาระ 1 ตรงนั้นจะมีผลกระทบ เช่นลาออกหรือยุบสภาเพราะแสดงว่าสภาไม่ไว้วางใจ แต่เมื่อกฎหมายประชามติผ่านวาระ 1 สภารับร่างไปแล้ว ต่อมามีการแก้ไข การแก้จึงเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ผลจะออกมาไม่เหมือนกันกับคำว่าไม่ผ่าน เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน รัฐบาลก็ควรต้องแสดงความรับผิดชอบ นายวิษณุ ถามกลับว่า "คุณว่าใช่หรือไม่ ไม่เป็นไรเขาก็พูดทุกวันอยู่แล้ว เดี๋ยวคนนั้นพูดคนนี้พูด บางคนบอกให้ยุบสภาเสียด้วยซ้ำ"

logoline