svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

แจงปมทหารเข้าห้องเรียน"ไอโอ"วอนอย่าโยงมั่ว

30 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ฝ่ายมั่นคง" แจงปมทหารเข้าห้องเรียน "ไอโอ" เป็นเรื่องปกติ เพราะปฏิบัติการข่าวสาร เป็นการทำสงครามรูปแบบหนึ่ง มีสหรัฐฯเป็นต้นแบบใช้กันทั่วโลก ไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ แจงเป็นคนละเรื่องกับข้อกล่าวหาใช้โจมตีประชาชน ซึ่งกองทัพเคยแจงไปแล้ว อย่าเอามาปะปนกัน

กรณีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศรส.ส.พรรคก้าวไกล นำภาพคล้ายกำลังพลของกองทัพนั่งฟังบรรยาย โดยบนจอภาพมีข้อความเกี่ยวกับ "ไอโอ" จนมีการโจมตีว่าเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่ากองทัพใช้งบประมาณทำไอโอเพื่อแบ่งแยกประชาชน ตามที่เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วงต้นปีที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดแหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคงชี้แจงว่า จริงๆ แล้วการบรรยายหรือให้ความรู้เรื่องไอโอ แก่กำลังพลของกองทัพ หรือผู้ที่่ปฏิบัติงานด้านความมั่นคง เป็นเรื่องปกติที่ทำกันทั่วโลก เนื่องจากสงครามข่าวสาร เป็นสมรภูมิหนึ่งที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือดในโลกปัจจุบัน

คำว่า "ไอโอ" ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Information Operation หรือ "ปฏิบัติการข่าวสาร" ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้ชิงความได้เปรียบในการรบหรือการทำสงคราม

หลักการสำคัญของ "ไอโอ" คือ การเผยแพร่ความคิดและความเชื่อของ "ฝ่ายเรา" ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และทำให้เกิดความคิด ความเชื่อ คล้อยตามความประสงค์ของ "ฝ่ายเรา" ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางระงับยับยั้ง ขัดขวาง หรือทำลายศักยภาพด้านการ "ไอโอ" ของฝ่ายตรงข้าม หรือ "ฝ่ายศัตรู" เพื่อไม่ให้สามารถเผยแพร่ความคิด ความเชื่อ ต่อกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายของ "ฝ่ายเรา" ได้

ประเทศที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของงาน "ไอโอ" คือ สหรัฐอเมริกา เคยใช้เครื่องมือนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายสมรภูมิ ทำให้แทบทุกประเทศทั่วโลกตื่นตัว และศึกษาเรียนรู้เรื่องไอโอ

ส่วนวิธีการเผยแพร่ความคิดความเชื่อ ที่สามารถส่งถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด แน่นอนว่าจำเป็นต้องพึ่งพาสื่อทุกชนิด ฉะนั้นในอดีต ฝ่ายที่ทำไอโอได้มาก จึงเป็น "ฝ่ายรัฐ" เพราะคุมสื่อแทบทุกชนิดอยู่ในมือ แต่ในยุคปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย หรือ "สื่อสังคมออนไลน์" ที่ทุกคนเป็นสื่อและผลิตสื่อได้ด้วยตนเอง ทำให้งาน "ไอโอ" ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ภาครัฐอีกต่อไป ฉะนั้นหากใครมีขีดความสามารถ หรือ "ทักษะ" ในการใช้สื่อประเภทต่างๆ ได้มากกว่า ก็จะทำไอโอได้เหนือกว่าอีกฝ่าย

ที่สำคัญ ความเชี่ยวชาญการใช้ "สื่อใหม่" หรือ "นิวมีเดีย" ยังสามารถระงับหรือขัดขวางการ "ไอโอ" ของฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย เช่น วิธี report หรือวิธีใช้คนจำนวนมากเข้าไปใช้เว็บ เพจเฟซบุ๊ก หรืออินสตราแกรมของฝ่ายตรงข้ามพร้อมๆ กันจนเว็บหรือเพจล่ม หรือถ้าเป็นระดับมืออาชีพมากกว่านั้น อาจใช้การโจมตีด้วยไวรัสกันเลยทีเดียว

สถานการณ์ในปัจจุบันสรุปได้ว่า คนทั่วไปที่มีความรอบรู้ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพิเศษ ก็อาจมีความสามารถในการทำ "ไอโอ" เหนือหน่วยงานรัฐบางหน่วย ที่ยังมีบุคลากรด้านนี้น้อย หรือบุคลากรไม่พัฒนาตัวเองด้วยซ้ำ

ฉะนั้นการศึกษาหรือเรียนรู้เรื่องไอโอ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของกำลังพลในกองทัพ และผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเคยกล่าวหา เรื่องการใช้งบประมาณไปทำไอโอสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน โดยในเรื่องที่กล่าวหา ทางกองทัพ และ กอ.รมน. เคยออกมาชี้แจงแล้ว และเป็นคนละเรื่องกับการเรียนรู้เรื่องปฏิบัติการข่าวสาร ซึ่งมีความจำเป็นต่อการทำสงครามด้านการสื่อสารในปัจจุบัน

logoline