svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ทำความรู้จัก"กฎอัยการศึก" ให้อำนาจทหาร-เข้มกว่า พ.ร.ก.

25 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ข่าวลือเรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร และการประกาศกฎอัยการศึก สร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว ฝ่ายความมั่นคงมองว่าเป็นความจงใจสร้างข่าวเท็จเพื่อหวังระดมมวลชนให้มาร่วมชุมนุม พร้อมๆ กับ "ตีปลาหน้าไซ" ดักคอกองทัพและฝ่ายที่มีศักยภาพในการยึดอำนาจไปในตัว

กฎอัยการศึกเป็น "กฎหมายพิเศษ" ทางความมั่นคงที่ฝ่ายผู้ถืออำนาจรัฐหยิบมาใช้ได้ คล้ายกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคง แต่ "กฎหมายพิเศษ" 3 ฉบับนี้มีดีกรีการ "จำกัดสิทธิ์" เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงที่แตกต่างกันไป เริ่มจาก

1. กฎอัยการศึก หรือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 


- เป็นกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่โบราณ นานกว่า 100 ปี (ปัจจุบัน 106 ปี) 

- ให้อำนาจทหารเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย และเป็นหน่วยหลักในการใช้อำนาจแทนฝ่ายพลเรือนและตำรวจ

- สามารถปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม กักขัง ได้ทุกกรณี ไม่มียกเว้น ทั้งกลางวันกลางคืนและไม่ต้องมีหมายศาล 

- สามารถกักตัวบุคคลได้โดยไม่ต้องมีหมาย และไม่ต้องแจ้งข้อหา เป็นเวลา 7 วัน 

- ให้อำนาจปิดสื่อ และตรวจสอบการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ได้ 

- ให้อำนาจศาลทหารตัดสินคดีบางประเภทแทนศาลพลเรือน 

- ผู้ประกาศกฎอัยการศึกเป็นฝ่ายทหาร เช่น ผบ.ทบ. แต่เวลายกเลิกการประกาศ ต้องมีพระบรมราชโองการ

- มักใช้เวลาเกิดศึกสงคราม เกิดเหตุการณ์จลาจล และประกาศใช้ทุกครั้งเมื่อมีการปฏิวัติ รัฐประหาร 

พูดง่ายๆ ก็คือถ้ามีการประกาศกฎอัยการศึก ก็น่าจะมีการยึดอำนาจโดยฝ่ายทหาร 

ทำความรู้จัก"กฎอัยการศึก" ให้อำนาจทหาร-เข้มกว่า พ.ร.ก.

2. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 


- ประกาศใช้เมื่อปี 2548 ในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อควบคุมสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

- อำนาจของทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปอยู่ที่นายกฯ

- สามารถออกคำสั่งใช้กำลังของทุกหน่วย รวมทั้งฝ่ายทหาร สามารถตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานได้ 

- ให้อำนาจปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม กักขัง ได้คล้ายๆ กฎอัยการศึก รวมถึงการควบคุมสื่อ

- การกักตัวบุคคลโดยไม่ต้องแจ้งข้อหา สามารถคุมตัวได้ไม่เกินคราวละ 7 วัน สูงสุดไม่เกิน 30 วัน 

- ผู้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือนายกฯ โดยความเห็นชอบของ ครม. ประกาศได้คราวละไม่เกิน 3 เดือน 

- เคยใช้ควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองมาแล้วเมื่อปี 53 และปี 63 (หลังกรณีคุกคามขบวนเสด็จฯ) 

- ใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน รวมพื้นที่ 33 อำเภอ ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว 5 อำเภอ


ทำความรู้จัก"กฎอัยการศึก" ให้อำนาจทหาร-เข้มกว่า พ.ร.ก.

3. พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 


- ประกาศใช้เมื่อปี 2551 ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ 

- ให้อำนาจตรวจค้น จับกุมเช่นกัน แต่มีดีกรีอ่อนกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและกฎอัยการศึก 

- ผู้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ คือคณะรัฐมนตรี โดยต้องกำหนดพื้นที่และมีแผนแก้ไขสถานการณ์ความมั่นคง

- หลังการประกาศใช้ ต้องมีการรายงานต่อรัฐสภา 

- เคยใช้ควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองมาแล้วในช่วงต้นของการชุมนุม กปปส. ในรัฐบาลยิ่้งลักษณ์ ชินวัตร

ทำความรู้จัก"กฎอัยการศึก" ให้อำนาจทหาร-เข้มกว่า พ.ร.ก.


logoline