svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สุทิน"แนะทบทวนถึงเวลาพาชาติหลุดพ้นขัดแย้งแล้วหรือยัง

21 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สุทิน คลังแสง" ย้ำทุกฝ่ายต้องทบทวนถึงเวลาแล้วหรือไม่ในการพาประเทศออกจากความขัดแย้ง เชื่อชุมนุม 19 ก.ย.มีผลกดดันวุฒิภสาร่วมสนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญ รับร่างไอลอว์เข้าบรรจุไม่ทันพิจารณาสมัยประชุมนี้

(21 กันยายน 2563) นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงแนวทางการหารือในที่ประชุม 3 ฝ่าย ระหว่าง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ในวันที่ 22 ก.ย.นั้น เพื่อเตรียมความพร้อมการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่ามีญัตติเยอะ แต่เวลาที่ให้น้อย จึงกังวลถึงวิธีการบริหารการประชุมและการลงมติในเวลาที่จำกัด

ส่วนเรื่องท่าทีก็คงจะมีการพูดคุยกันบ้าง สิ่งใดที่พอจะเป็นไปได้ หรือมีการติดใจในประเด็นใด หรือเคลือบแคลงในเจตนาอะไรก็จะพูดคุยกัน โดยชักชวนให้คิดถึงเสียงเรียกร้องของประชาชน ทั้งส่วนที่มาชุมนุมและไม่มาชุมนุม พิจารณาถึงทางออกของบ้านเมือง โดยเชื่อว่าทุกคนที่คิดได้เป็นผู้ใหญ่กันแล้วว่า ถึงเวลาหรือไม่ที่จะต้องเอาประเทศออกจากความขัดแย้ง เดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย หรือจะจมอยู่อย่างนี้ และถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องเสียสละแล้วหรือไม่ ก็ต้องร่วมกันคิดว่าหากเสียสละแล้ว แต่อาจจะไม่ถึงกับต้องเสียเกียรติ หากมีความพร้อม มีเป้าหมายคิดที่จะทำให้ทุกคนไปกันได้ ก็น่าจะมีการพูดคุยกัน

ส่วนการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา จะมีผลต่อการตัดสินใจของวุฒิสภา (ส.ว.) ในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ซึ่งการชุมนุมที่เกิดขึ้น แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดูไม่ได้เป็นประเด็นหลักที่มีการปราศรัย แต่หากแยกแยะออกก็คงเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องหลัก เพราะข้อเรียกร้องใดๆก็ตาม รัฐธรรมนูญคือกุญแจ หากไม่จัดการที่รัฐธรรมนูญ เสียงเรียกร้องต่างๆ เดินไปไม่ได้ จึงเชื่อว่ามีผลต่อการตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอยากให้ตระหนักว่า หากไม่รับข้อเสนอหรือไม่ทำอะไรเลย อาจจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นบ้าง และการชุมนุมหน้ารัฐสภาวันที่ 24 ก.ย.นี้ ยิ่งเป็นโอกาสดีของสมาชิกรัฐสภา ที่ประชาชนมาแสดงความต้องการแบบทางตรงให้เห็น

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า การลงมติของส.ว.ที่อาจมีการควบคุมเสียง โดย ส.ว.ที่เป็นผู้นำเหล่าทัพ ประธานวิปฝ้ายค้าน กล่าวว่า เมื่อได้โอกาสที่ดีเข้ามาทำงาน กำหนดทางเลือกให้กับประเทศ ก็ควรมีความเป็นอิสระ แต่ก็มองว่าจุดที่น่าสนใจอยู่ที่การตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล โดยส.ว. จะต้องเลือกเอาระหว่างชาติบ้านเมืองกับกลุ่มคนที่อยากจะให้ ส.ว.ทำอะไรให้

เมื่อถามว่า ร่างฉบับประชาชนที่กลุ่มไอลอว์จะมายื่นวันที่ 22 ก.ย.นัั้น คงไม่สามารถเข้าสู่ระเบียบวาระได้ทันวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ แต่เบื้องต้น ก็มีความคิดกันว่า จะเอาภาคประชาชนมาร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ และยังมีโอกาสอีกครั้งในกระบวนการสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่เปิดกว้างอยู่แล้ว หรือหากมีเหตุพลาดพลั้ง ก็ยังมีโอกาสยื่นญัตติซ้ำได้ หรืออาจนำเอาประเด็นความคิดต่างๆ ที่อยู่ในร่างของภาคประชาชนกลุ่มไอลอว์ เข้าไปเติมในชั้นกมธ.หากสอดคล้องในหลักการ

logoline