svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"กะเหรี่ยงดอยช้าง" สถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ​ ทส. ย้ำ ปชช.ต้องเป็นผู้นำจัดการทรัพยากร

29 กุมภาพันธ์ 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กะเหรี่ยงดอยช้างป่าแป๋สถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ สู้ภัยประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับที่ชุมชน ย้ำขอจัดการดูแลทรัพยากรตามวิถีชีวิตดั้งเดิม ขอฝั่งร่างอันไร้วิญญาณคืนสู่ผืนดินมาตุภูมิ ด้านผู้ช่วย รมว. ทส. ประชาชนต้องเป็นผู้นำการจัดการทรัพยากร

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ (ต่าหลู่เก่อชอ) ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน จัดกิจกรรมสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษชาวกะเหรี่ยง ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานเครือข่ายอื่นๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน เพื่อยืนยันแนวทางการจัดการทรัพยากรตามวิถีชีวิตดั้งเดิม ปฏิเสธกฎหมายป่าไม้ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน

"กะเหรี่ยงดอยช้าง" สถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ​ ทส. ย้ำ ปชช.ต้องเป็นผู้นำจัดการทรัพยากร



บัญชา มุแฮ แกนนำเยาวชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ กล่าวว่า ชุมชนได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าบ้านโฮ่งทับพื้นที่ชุมชนตั้งแต่ปี 2559 และถูกยึดไร่หมุนเวียนเนื้อที่ 18 ไร่ 4 ครัวเรือนเมื่อกลางปี 2552 จึงได้เข้าร่วมขับเคลื่อนกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างวันที่ 13-15 มกราคมที่ผ่านมา จนได้รับการรับรองให้เป็นพื้นที่นำร่องการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยยึดมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 เป็นหลักการในการจัดการทรัพยากร

"เรากังวลเรื่องการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นจิตวิญญาณ เป็นเลือดเนื้อ เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนที่นี่ เพราะการทำไร่หมุนเวียนเป็นการต่อชีวิตและลมหายใจ และเป็นการดูแลผืนป่าที่พวกเราดูแลและอยู่อาศัยมามติ ครม. สำคัญกับคนทั้งโลก เพราะระบบวิถีชีวิตของพวกเราเป็นวิถีภูมิปัญญาที่ดูแลรักษาป่า สภาพพื้นที่จะยังเป็นป่าเขาเขียวขจี การที่เราประกาศและรักษาไว้เป็นความยั่งยืน เป็นความเกื้อกูล เป็นความสมดุลในวิถีชีวิตคนกับป่า ใขณะเดียวกันก็ได้รักษาโลกนี้ไว้ ป่าไม่ถูกทำลาย สัตว์ป่าก็ยังอยู่ เป็นวงจรที่พึ่งพาอาศัยกันและกัน ดูแลไม่ให้เป็นเหยื่อของพืชเชิงเดี่ยวและทุนนิยม" บัญชากล่าวโดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ นายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่เพื่อให้นโยบายการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับที่ดินของรัฐ โดยใช้ มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 แก้ไขปัญหา กล่าวว่า ชุมชนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี มีศักยภาพในการดูแลจัดการทรัพยากรได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะการจัดการไฟป่าที่ต้องใช้กำลังคนและความทุ่มเทอย่างมากในแต่ละปี รัฐจึงมีหน้าที่ต้องส่งเสริมการทำงานของชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นองค์กรนำในการจัดการดูแลป่า

"กะเหรี่ยงดอยช้าง" สถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ​ ทส. ย้ำ ปชช.ต้องเป็นผู้นำจัดการทรัพยากร



"ในเชิงของการเป็นผู้บริหารกระทรวงผมต้องดูสามประเด็น ประเด็นแรกคือทำอย่างไรให้พี่น้องมีความมั่นคงในที่ดิน ถ้าอยู่ในป่าไม้หรืออุทยานฯ ก็มานั่งคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้มั่นคง ถ้าท่านอยู่อย่างมั่นคงก็ไม่ต้องไปตื่นผวาว่าจะโดนใครจับ สองคือ สิทธิในการบริหารจัดการที่จะตกลงกันท่านต้องเป็นผู้นำ ประชาชนต้องเป็นศูนย์กลาง ท่านต้องร่วมคิดร่วมสร้างร่วมทำ สามคือ ราชการทั้งหมดก็ต้องอำนวยความสะดวก อำนวยให้พี่น้องประชาชนในเรื่องของกฎระเบียบ ไม่ใช่มาข่มเหง มารังแก ระหว่างที่เขาสำรวจตรวจสอบ อย่าไปจับเขา" ผู้ช่วย รมว. กล่าว

ในช่วงเวลากว่า 9 ปีหลังจากมีมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 มีการสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษมาแล้ว 11 ชุมชน โดยทั้งหมดเป็นการลุกขึ้นทำกระบวนการโดยชุมชนเอง ชุมชนดอยช้างป่าแป๋เป็นชุมชนแรกที่มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพร่วม เนื่องจากในมติ ครม. ดังกล่าวได้กำหนดขอบเขตหน้าที่ให้กระทรวง ทส. ต้องดำเนินการด้วย เช่น การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับไร่หมุนเวียน การเพิกถอนพื้นที่ป่าของรัฐออกจากพื้นที่ของชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม การยุติการจับกุม และการจัดให้ชุมชนบริหารจัดการในรูปแบบโฉนดชุมชน เป็นต้น

logoline