svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"เศรษฐพงค์" ระบุ บัตรประชาชน"สมาร์ท การ์ด" ควรใช้ยืนยันตัวตนดิจิทัลได้แล้ว

30 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เศรษฐพงค์" เร่งรัฐบาลพัฒนา E-Government ให้สมบูรณ์แบบ ระบุ บัตรปชช. "สมาร์ท การ์ด" ควรใช้ยืนยันตัวตนดิจิทัลได้แล้ว แนะ ยกเครื่องกฎระเบียบให้เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่าน ชี้ เป็นพื้นฐานสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.  พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และ รองประธานคณะกรรมาธิการสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงนี้มีงานมหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลระดับนานาชาติ หรือ Digital Thailand Big bang 2019 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 ต.ค.นี้ 
โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่าน ซึ่งท่านนายกฯ ได้ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "บทบาทของประเทศไทยในเวที ASEAN Connectivity" ได้ระบุถึงขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness) ของประเทศไทย ที่มีลำดับดีขึ้นมาอยู่ที่ 38 จากเดิมอยู่อันดับที่ 40 
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า การจัดอันดับ "ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัล" ของ IMD World Digital Competitiveness Ranking (WDCR) ได้พิจารณาจากปัจจัยความพร้อมทางการแข่งขันด้านดิจิทัล 3 ด้าน  
ปัจจัยแรก คือความรู้ความชำนาญ (knowledge) สำหรับประเทศไทยอาจจะยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ไม่ได้แย่อะไรมาก 
ปัจจัยที่สอง คือ เรื่องเทคโนโลยี (Technology) 
ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีแนวโน้มที่ดี แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง และควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขมากที่สุดคือ 
ปัจจัยที่สาม คือ เรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ IT integration ในประเด็น E-government และ Software Piracy เป็นเรื่องที่มีอันดับไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งในเรื่อง Software Piracy ทั้งภาครัฐและเอกชนควรเร่งแก้ไขโดยการเตรียมความพร้อมในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ที่เข้มงวดมากกว่าที่เป็นอยู่ 
รองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า เรื่องสำคัญและน่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือ E-Government ที่จะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้พยายามดำเนินการในเรื่องนี้มานานหลายปีแล้ว แต่ผลที่ได้รับคือยังถูกจัดอันดับที่แย่ลงอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเรื่องข้อกำหนด กฎระเบียบ กฎหมาย ที่ไม่เอื้ออำนวยให้เกิด E-Government ได้อย่างแท้จริง แม้เราจะมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์และบุคลากรพอสมควร 
ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ในเรื่องของ บัตรประชาชน Smart Card ที่มีมานาน 15 ปีแล้ว แต่หน่วยราชการหลายหน่วยงานยังไม่สามารถใช้ในการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลได้  เช่น การรับเบี้ยประชุมต่างๆ ของภาครัฐ หน่วยงานยังคงใช้การถ่ายสำเนาบัตรประชาชนและเซ็นรับรองอยู่ แทนที่จะใช้ประโยชน์ได้ Smart Card อย่างเต็มประสิทธิภาพ 
นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด จะเห็นได้ว่าประชาชนยังคงต้องถือบัตรประชาชน Smart Card ไปให้เจ้าหน้าที่ กกต. ไล่หาชื่อในกระดาษ แล้วให้ประชาชนลงรายมือชื่อเพื่อยืนยันตัวตนในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งจะเห็นว่าประเทศไทยยังคงล้าหลังในเรื่องนี้อยู่  
"หากจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่จะใช้ดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาการดำเนินการในเรื่อง E-Government ให้ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบโดยเร็ว เพราะถือเป็นเรื่องพื้นฐานและเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน 
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ประเทศไทยในทุกๆ มิติ และสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชนทุกคน และแน่นอนว่าจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย" พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

logoline