svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

'พระพุทธรูป'​ เกิดหลัง​ 'พระพุทธเจ้า'​ ปรินิพพาน​ไปแล้ว​ 500​ ปี​ กับข้อถกเถียง​รูปพระอุลตร้า​แมน​

09 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

'พระพุทธรูป' ในพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นพลวัต ความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยอย่างหนึ่งแต่เดิมนั้นพุทธศาสนาไม่มีรูปเคารพแต่อย่างใด การสร้างพระพุทธรูปจริงๆ เริ่มมีการสร้างขึ้นมาตั้งแต่ระหว่าง พ.ศ. 500 - 550

อาจเรียกว่าไม่เหมาะสมสำหรับสายตาของความเป็น 'อนุรักษ์นิยม' แต่ก็ทำให้สังคมได้ถกเถียงถึงหลักธรรมอันเป็นแก่นคำสอนของ 'พระพุทธเจ้า' ขึ้นมาอีกครั้ง เกี่ยวกับเรื่อง 'อัตตาตัวตน' และความ 'ยึดมั่นถือมั่น' เมื่อนักศึกษาวาดรูป 'พระอุลตร้าแมน' จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของ 2 ขั้วทางความคิด

'เหมาะสม' หรือ'ไม่เหมาะสม' ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลจะคิด ในมุมที่ไม่เหมาะสมมองว่าพระพุทธเจ้าเป็นของสูงแต่ตัวการ์ตูนเป็นของเล่น ไม่ถูกกาละเทศะที่ ไม่ควรจะนำมาคู่กัน ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง

แต่ในมุมที่เหมาะสมก็อาจมองว่า เป็นจินตนาการทางความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ตีความพระพุทธศาสนาออกไปในแง่มุมที่แทนด้วยอัตลักษณ์ของ ความเป็น 'ซุปเปอร์ฮีโร่' ในตัวการ์ตูน

ถ้าจะให้ตัดสินถูกผิดเรื่องนี้ ก็คงจะต้องมองที่ 'เจตนา'ของผู้วาดภาพ ว่าต้องการลบหลู่ หรือสะท้อนศรัทธา ออกมาผ่านงานศิลปะ ซึ่งนักศึกษาคนนี้บอกว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะลบหลู่พระพุทธเจ้าแต่อย่างใด แต่ต้องการที่จะสะท้อนแง่มุมใหม่เกี่ยวกับศาสนาที่สร้างสรรค์

กระแสของความไม่เห็นด้วย เกี่ยวกับวาดภาพ 'พระอุลตร้าแมน' นี้จึงถูกคลื่นลูกใหม่ สะท้อนและกระทบกระเทียบเปรียบเปรย กับพฤติกรรมของชาวพุทธในปัจจุบันว่า ได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีพอ จนสามารถวิพากษ์วิจารณ์สิ่งเหล่านี้ได้แล้วหรือ

บางคนก็เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามถึงการรักษาศีล 5 ของชาวพุทธหลายคน อ้างอิงไปกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าเสือดำ ซึ่งผิดศีลข้อ 1 การลักทรัพย์ ก็จะได้เห็นคดีฉ้อโกงมากมายในประเทศ การประพฤติผิดในกามก็ได้เห็นครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์หย่าร้าง การพูดปด เราก็ได้เห็นการพูดจาเพ้อเจ้อในสภา และงดสุรายาเมา ในประเทศนี้ก็มีหลายบริษัทแบรนด์ดังที่เป็นเจ้าของสุรา เหล่านี้สวนทางกับภาพของความเป็น 'เมืองพุทธ'

มีการเปรียบเทียบไปอีกถึง 'วัตถุมงคล' ต่างๆ เช่นนำ พะยูน 'มาเรียม' มาปั้นเป็นวัตถุมงคลบ้าง หรือนับถือ'ปลัดขิก' ซึ่งคล้ายกับอวัยวะเพศชายบ้าง ต่างๆเหล่านี้กลับไม่ขัดหูขัดตา 'ศรัทธาชาวพุทธ' มากเท่ากับภาพ 'พระอุลตร้าแมน'

ถ้า 'พระพุทธเจ้า' ยังมีชีวิตอยู่ พระองค์จะแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร? คงต้องย้อนกลับไปดูคำสอนที่ผ่านๆมาในสมัยพุทธกาลหนึ่งในนั้นคือ หลักธรรมเกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ ประกอบเป็นร่างกายและจิตใจรวมกันว่าเป็น 'ตัวตน' และยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่'ถูกใจ' อันมาเกี่ยวข้องด้วยว่าเป็น 'ของตน' เหล่านี้นำมาซึ่งความมัวหมอง เศร้าใจ ทุกข์ใจ หรือเรียกสั้นๆง่ายๆ ว่าศาสนาพุทธสอนให้คนเรา 'ปล่อยวาง'

กระแสสังคมบางส่วนที่มองว่าภาพ 'พระอุลตร้าแมน' ไม่เหมาะสม จึงทำให้เกิดคำถามได้ว่า นั่นเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับหลักธรรมความยึดมั่นถือมั่นในพุทธศาสนา หรือไม่? และชาวพุทธที่ดี ควรกังวัลเกี่ยวกับเรื่องใดในสังคมที่มากในกว่ารูป 'พระอุลตร้าแมน' หรือไม่?

'วัฒนธรรม' หรือ สิ่งใดบนโลกใบนี้ ย่อมพลวัตเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ถ้าสิ่งใดหยุดนิ่ง อาจเรียกได้ว่า 'ตาย' หรือสูญสิ้นไปแล้ว ศาสนาและวัฒนธรรม ประเพณี ก็เช่นเดียวกัน ล้วนขับเคลื่อนหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เป็นสิ่งที่ยังมีชีวิต และยังไม่ตาย เพียงแต่รูปแบบเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง

'พระพุทธรูป' ในพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นพลวัต ความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยอย่างหนึ่งแต่เดิมนั้นพุทธศาสนาไม่มีรูปเคารพแต่อย่างใด หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ชาวพุทธอยากจะมีสิ่งที่จะทำให้รำลึกถึง ก็ได้แต่นำเอาสิ่งของอันได้แก่ ดิน น้ำ และกิ่งก้าน ใบโพธิ์ จากบริเวณสังเวชนียสถาน 4 แห่ง เก็บมาไว้เป็นที่ระลึกบูชาคุณพระพุทธเจ้า

ล่วงมาถึงในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช หรือหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้ามา 300 ปี ก็ยังไม่มีรูปเคารพแทนพระพุทธเจ้าที่เป็นรูปคน โดยใช้รูปธรรมจักรแทน

การสร้างพระพุทธรูปจริงๆ เริ่มมีการสร้างขึ้นมาตั้งแต่ระหว่าง พ.ศ. 500 - 550 พระพุทธรูปองค์แรกเกิดขึ้นในสมัยของ 'พระเจ้ามิลินท์' หรือเมนันเดอร์ที่ 1 ชาวกรีกที่มาครอบครองแคว้นคันธารราฐ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 หรือ 2,000 ปีที่แล้ว

พระพุทธรูปที่เกิดขึ้นครั้งแรก ถ่ายแบบอย่างเทวรูปที่ชาวกรีกนับถือกันในยุโรป มาสร้างพระพุทธรูปแบบ 'คันธารราฐ' จึงมีใบหน้าเหมือนฝรั่งชาวกรีก จีวรก็เป็นริ้วเหมือนเครื่องนุ่งห่มของเทวรูปกรีก

ก่อนจะพัฒนาเป็นพุทธศิลป์ประจำภูมิภาคต่างๆ และเกิดเป็นข้อถกเถียงอีกครั้ง เมื่อพลวัตหมุนเวียนมาถึงจุดที่ คนรุ่นใหม่วาดรูปพระอุลตร้าแมนในวันนี้

คำถามสำคัญก็คือสิ่งที่ควรตระหนักเกี่ยวกับพุทธศาสนา คือสิ่งใด? 'พระพุทธรูป' หรือ 'คำสอน' ที่ควรจะคงอยู่ตลอดไป...

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline