svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คมนาคมเล็งแก้มติ ครม. ขออำนาจสาง 'ค่าโง่' ทางด่วน

09 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

'ศักดิ์สยาม' ยอมรับคมนาคมไร้อำนาจแก้ปัญหาค่าโง่ทางด่วน เหตุมติคณะรัฐมนตรีให้อำนาจ กทพ.ดำเนินการ เตรียมเสนอปลดล็อคมติคณะรัฐมนตรีเดิม ด้านสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์-สหภาพฯ กทพ. และ รฟท. นัดยื่นหนังสือ รมว.คมนาคม 12 ก.ย.นี้ ค้านขยายสัมปทาน BEM พร้อมหาช่องสู้คดีโฮปเวลล์

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุ แนวทางหรือข้อสรุปการขยายสัมปทานทางด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศาแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะต้องรอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้อำนาจกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหา
โดยในสัปดาห์นี้จะสอบถามไปยัง กทพ. ถึงมติคณะรัฐมนตรีที่ให้กทพ.แก้ไขปัญหาเรื่องการจ่ายค่าชดเชยให้ BEM ตามคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด เพราะมติคณะรัฐมนตรีไม่ได้มอบอำนาจให้กระทรวงคมนาคมแก้ไขปัญหา แต่เมื่อเรื่องดังกล่าวยืดเยื้อมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน กระทรวงฯจึงไม่มีอำนาจตัดสินใจ เพราะต้องรอให้กทพ.เสนอเรื่องมา เพื่อขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเดิมก่อนด้านสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. ระบุ ในวันที่ 12 กันยายนนี้ ผู้แทน สรส. และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ. รวมทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. จะยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้พิจารณากรณีที่ กทพ. จะขยายสัมปทานทางด่วน 3 โครงการ โครงการละ 30 ปี ให้ BEM เพื่อแลกกับการจ่ายค่าโง่ 4,300 ล้านบาท และยุติ 17 คดีข้อพิพาท ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วเพียงคดีเดียวเท่านั้น
สรส. เห็นว่าการขยายสัมปทานทางด่วนเพื่อแลกกับข้อยุติดังกล่าว ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ถึงที่สุดก่อน ไม่ควรตัดสินว่ากทพ.จะแพ้ทั้ง 17 คดี และไม่ควรนำผลประโยชน์ของชาติไปแลกข้อยุติกับภาคเอกชน เพราะสัมปทานทางด่วนจะทยอยหมดสัญญาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จึงควรรอให้หมดสัญญาแล้วค่อยพิจารณาว่าจะต่อสัมปทานหรือไม่ หากต่อสัมปทานทันที เท่ากับไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม
นอกจากนี้ กทพ.ควรหาผู้รับผิดชอบกรณีที่แพ้คดีและต้องจ่ายชดเชยให้เอกชน กรณีข้อพิพาทที่ไม่ให้เอกชนปรับขึ้นค่าผ่านทาง ต้องพิจารณาว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลหรือนักการเมืองคนใดที่ไม่อนุมัติให้เอกชนขึ้นค่าผ่านทาง ซึ่งรัฐบาลอาจเกรงว่าจะกระทบคะแนนเสียงจากประชาชนหากปรับขึ้นค่าผ่านทาง จนเป็นเหตุให้กทพ.ต้องแพ้คดีในที่สุด รัฐบาลหรือนักการเมืองจึงต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
ส่วนคดีโฮปเวลล์จะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเช่นกัน โดยเสนอให้สู้ถึงที่สุด ซึ่งมองว่าในระยะเวลา 160 วันที่เหลืออยู่ก่อนรฟท.ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดนั้น จะต้องหารายบะเอียดในการต่อสู้คดีเพิ่มเติม เช่น ความเสียหายของรฟท.กรณีที่ไม่สามารถพัฒนาที่ดิน 600 ไร่ จากที่การก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ไม่เป็นไปตามแผน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ประธานกรรมการ และรักษาการผู้ว่าการ กทพ. ได้หารือกับสภาวิชาชีพบัญชี ถึงวิธีการลงบัญชีกรณีกทพ.ขยายสัมปทานทางด่วนให้ BEM โดยสภาวิชาชีพบัญชีให้ความเห็นว่า หากต่อสัมปทานเพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทั้งหมด กทพ.จะต้องลงบัญชีเป็นหนี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินสะสมทั้ง 47 ปีของกทพ.ที่มีอยู่กว่า 4.5 หมื่นล้านบาทหมดไปทันที และจะเป็นหนี้สะสมภายใน 2 ปีข้างหน้า ทำให้กทพ.จากที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดีเยี่ยม กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนเช่นเดียวกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.

logoline