svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รัฐ – เอกชน เร่งสร้าง "ชุมชนแห่งการเรียนรู้" ลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำครูไทย

24 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัจจุบัน แนวคิดการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community) หรือ PLC ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยที่กำลังถูกจับตามองจากนักวิชาการด้านการศึกษา ว่ากำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาครูไทยในอนาคต ซึ่งปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการ โดยสถาบันคุรุพัฒนา ได้ส่งเสริมแนวคิดดังกล่าว เพื่อให้ครูไทยนำไปปฏิบัติใช้ ด้วยวิธีการสร้างแรงจูงใจให้ครูที่เข้าร่วมประชุมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ PLC จำนวน 50 ชั่วโมง หรือ มากกว่า 5 ปี ติดต่อกัน สามารถนำส่งเป็นผลงานไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอปรับเลื่อนวิทยฐานะได้...






ที่มาแนวคิดการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เกิดขึ้นครั้งแรก ช่วงปลาย พ.ศ.2533 โดยหน่วยงานภาคเอกชนด้านการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ด้วยความเชื่อว่าการทำงานร่วมกัน จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต โดยนักการศึกษาได้นำแนวคิดดังกล่าวมาผนวกใช้กับวัฒนธรรมการเรียนรู้ในโรงเรียน เพราะเชื่อว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดความสำเร็จของครูและสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นแก่นักเรียน ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมแพร่หลายถูกนำไปปรับใช้ทั่วโลก เช่นเดียวกับองค์กรด้านวิชาการอย่าง สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ที่ดำเนินงานพัฒนาการศึกษาในไทยมากว่า 20 ปี ก็เล็งเห็นว่า PLC สำคัญต่อการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ จึงนำไปผลักดันเพื่อสร้างให้ "ชุมชนแห่งการเรียนรู้" สามารถเกิดขึ้นได้จริงเช่นกัน


สถาบันคีนันฯ ได้นำแนวทางส่งเสริมการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของสถาบันคุรุพัฒนา มาปรับใช้กับโครงการ Chevron Enjoy science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เพราะคีนันและเชฟรอนในฐานะเจ้าของโครงการฯ เล็งเห็นร่วมกันว่า ถ้าสามารถสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้จริง จะช่วยให้เกิดการติดตาม ประเมินผลและแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างครูด้วยกันอย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลสัมฤทธิ์ต่อการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา หนึ่งในภารกิจหลักเพื่อร่วมยกระดับและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโครงการฯ


กระบวนการสำคัญที่นำมาใช้โครงการ Chevron Enjoy science คือ การเปิดชั้นเรียน หรือ Open Classroom approach เพื่อให้ครูสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และหารือวิธีสร้างการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงวางแผนบทเรียน เยี่ยมชมห้องเรียนระหว่างกัน เพื่อนำไปปรับปรุงการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง 


ปัจจุบันหลังดำเนินงานไปแล้วกว่า 3 ปี โครงการฯ สามารถสร้างเครือข่ายชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพไปแล้วมากกว่า 60 เครือข่าย จากโรงเรียนเข้าร่วมประมาณ 240 300 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ที่เริ่มเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ ครูเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ว่าเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มต่อยอด อุดช่องว่าง และแก้ปัญหาที่ครูบางท่านอาจพบบ่อย แต่ยังหาทางออกไม่ได้ 

"การที่ครูนำกระบวนการของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC ไปปรับใช้นั้น ไม่เพียงช่วยให้ครูแก้ปัญหาของตนเองได้เท่านั้น แต่ยังสามารถแก้ปัญหาทางโครงสร้างการศึกษาไทยได้หลายประการ" 


ประการแรก PLC จะเปลี่ยนศูนย์กลางการทำงานของครู จากการทำงานคนเดียว เป็นการสร้างสังคมการทำงานแบบร่วมคิดร่วมแก้ไขเป็นหมู่คณะ โดยมีเป้าหมายในการสร้างองค์ความรู้แก่เด็กในชั้นเรียนเป็นสำคัญ ประการที่สอง ช่วยเสริมสร้างแนวคิดการทำงานเป็นทีม และสร้างความรับผิดชอบร่วมกัน ทำให้ครูเกิดการแลกเปลี่ยนปัญหาที่พบบ่อยในโรงเรียน และหาทางแก้ไขร่วมกัน ประการที่สาม ช่วยแก้ไขปัญหาของครูในโรงเรียนขนาดเล็กของไทย กว่า 15,000 แห่ง ให้ได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนองค์ความรู้และเทคนิคการสอน โดยครูจากโรงเรียนอื่นในพื้นที่เดียวกัน  


อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของการสร้าง PLC ท้ายสุดนั้นจะไม่ได้เกิดขึ้นกับครูเพียงฝ่ายเดียว เพราะทุกกระบวนการมีส่วนร่วมของครู จะต้องเน้นผลลัพธ์ในสิ่งที่นักเรียนจะได้รับจากการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนในห้องเรียนของครูเป็นสำคัญด้วย เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมต่อ PLC ถูกบรรจุเป็นปัจจัยสำคัญต่อการประเมินเลื่อนวิทยฐานะของครูไทยในปัจจุบันด้วย ทำให้ครูต้องมีการบันทึกผลลัพธ์และความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปอ้างอิงต่อการประเมินผลความก้าวหน้าทางวิชาชีพของพวกเขาผ่านการเปลี่ยนแปลงผลการเรียนของนักเรียนต่อไป 


ดร.เกศรา อมรวุฒิวร ผู้จัดการอาวุโส สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

หนึ่งในคณะกรรมการกำกับและดูแลสะเต็มศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ 


///////////////////////////////////////////////////////////////////////////


รัฐ – เอกชน เร่งสร้าง "ชุมชนแห่งการเรียนรู้" ลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำครูไทย





ข้อมูลภาคผนวก


เสียงตอบรับจากคุณครูผู้ผ่านการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ


ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต

คุณครูกานต์พิชชา จูชาวนา หัวหน้ากลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ โรงเรียนบางกระทุ่มพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า  "ก่อนหน้านี้ มักคิดกิจกรรมใหม่ๆ ที่จะนำมาสอนเด็กไม่ค่อยได้มากนัก แต่หลังจากได้ร่วมกิจกรรม PLC แล้ว การแลกเปลี่ยนวิธีการสอน และถกถึงปัญหาที่มักพบบ่อยในชั้นเรียนของตนกับครูท่านอื่นๆ จากโรงเรียนอื่น ทำให้ได้แนวคิดและรูปแบบใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์กิจกรรมให้แก่เด็กในห้องเรียนมากขึ้น พร้อมได้รับคำตอบและคำแนะนำมากมายต่อปัญหาในการสอนอื่นที่พบ นอกจากนี้ การวางแผนการสอนร่วมกัน ก็ได้ปรับเปลี่ยนกลวิธีการสอนในห้องเรียนของตนจนทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย"


สาธิต วรรณพบ ครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนตะกั่วป่า เสนานุกูล จ.พังงา กล่าวว่า "แม้จะเข้าร่วมและเป็นครูพี่เลี้ยงของโครงการฯ มาโดยตลอด แต่การสอนในห้องเรียนก็ยังเกิดปัญหาที่ก็ยังแก้ไม่ได้อยู่หลายต่อหลายครั้ง จึงได้ใช้โอกาสเปิดห้องเรียนและเชิญครูพี่เลี้ยง และผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นจากโครงการฯ ให้เข้ามาร่วมสังเกตชั้นเรียนและวิธีการสอน เพื่อขอคำแนะนำว่าการสอนจะต้องมีการปรับปรุงประการใดที่จะทำให้เด็กเข้าใจ และสามารถเขียนสรุปสิ่งที่เรียนมาได้ ซึ่งกระบวนการ PLC ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี และช่วยตอบคำถามที่คาใจและนำไปปรับใช้ได้เป็นอย่างดี" 


รัฐ – เอกชน เร่งสร้าง "ชุมชนแห่งการเรียนรู้" ลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำครูไทย

logoline