svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมชล ย้ำ เมืองเพชร รอดวิกฤตน้ำท่วมแล้ว

11 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมชล ย้ำ เมืองเพชร รอดวิกฤตน้ำท่วมแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน และ ระบายน้ำออกจากเขื่อนแก่งกระจานอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงระดับเกณฑ์การเก็บน้ำสูงสุด

.กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย ใช้ศักยภาพของเขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนเพชร จัดการน้ำเหนือ ช่วยชาวเมืองเพชรพ้นวิกฤตน้ำท่วมเมืองดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำเพชรบุรี มีอ่างเก็บน้ำที่สำคัญ 3 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ความจุ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ปัจจุบัน(11 ส.ค. 61) มีปริมาณน้ำ 730 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103 ของความจุอ่างฯ มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำ ห้วยผาก ความจุ 27.50 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 14.2 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ อีกแห่งคือ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ ความจุ 47.20 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 11.40 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ โดยในช่วงต้นฤดูฝนกรมชลประทาน ได้ติดตามสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับวางแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณณ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง


สถานการณ์น้ำก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ณ  วันที่ 1 พ.ค. 61 เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำอยู่เพียง 296 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ และวันที่ 18 ก.ค. 61 มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 422 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ ต่ำกว่าระดับควบคุม ในช่วงวันที่ 17 20 ก.ค. 61 ได้เกิดฝนตกหนักทางเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน ส่งผลให้มีน้ำไหลลงอ่างฯมากขึ้น โดยเฉพาะวันที่ 20 ก.ค. 61 วันเดียว มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนแก่งกระจานมากถึง 160 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเขื่อนแก่งกระจานได้ทำหน้าที่รองรับมวลน้ำปริมาณมหาศาลไม่ให้ไหลหลากลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีได้อย่างเต็มศักยภาพ .

กรมชลประทาน ได้ทะยอยระบายน้ำออกจากเขื่อน วันละ 8.6 ล้าน ลบ.ม. เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยไม่ให้น้ำที่ระบายลงไปส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน แต่ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ยังคงเพิ่มมากขึ้นวันละประมาณ 25-30 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนแก่งกระจานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเลยเกณฑ์ควบคุม(ร้อยละ 80) กรมชลประทานได้ติดตั้งกาลักน้ำ จำนวน 12 ชุด และเครื่องสูบน้ำ Hydro flow เริ่มระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 61 สามารถระบายน้ำจากอ่างฯเมื่อรวมกับการระบายผ่านช่องทางปกติ ได้วันละประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. และตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 11 ส.ค. 61 มีน้ำไหลเข้าเขื่อน รวมกันแล้วมากถึง 565 ล้าน ลบ.ม.  


ต่อมาในวันที่ 6 ส.ค. 61 เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำเต็มความจุที่ 710 ล้าน ลบ.ม. น้ำได้เริ่มล้นทางระบายน้ำล้น(Spillway)สูงประมาณ 1 เซนติเมตร ในเวลาประมาณ 10.00 น.วันเดียวกัน และล้นสูงสุดที่ 60 เซนติเมตร ในวันที่ 9 ส.ค. 61 เวลาประมาณ 05.00 น. และมีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนแก่งกระจานสูงสุด ในอัตรา 210 ลบ.ม./วินาที วันเดียวกัน ก่อนจะค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนแก่งกระจานลดลงเหลือ 180 ลบ.ม./วินาที มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำในเขตต.สองพี่น้อง ต.ห้วยแม่เพรียง และ ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน ,ต.กลัดหลวง และ ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

.ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนแก่งกระจาน จะไหลลงสู่เขื่อนเพชร ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำสร้างปิดกั้นแม่น้ำเพชรบุรี มีปริมาณน้ำสูงสุดไหลลงสู่บริเวณหน้าเขื่อนเพชร ในอัตรา 200 ลบ.ม/วินาที เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 61 เวลาประมาณ 07.00 น และมีการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเพชรสูงสุดในอัตรา 125 ลบ.ม /วินาที เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 เวลาประมาณ 10.00 น. กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยการผันน้ำเข้าระบบชลประทานและผันออกผ่านคลองระบายน้ำ D1 เป็นปริมาณรวม 70 ลบ.ม/วินาที


สถานการณ์น้ำเขื่อนเพชร ปัจจุบัน(11 ส.ค. 61) มีน้ำไหลผ่านเขื่อนลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีในอัตรา 90 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำโดยตัดยอดน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเพชรเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้าย ฝั่งขวาและ คลองระบายน้ำ D.9 รวมทั้งสิ้น 70 ลบ.ม./วินาที โดยก่อนหน้าได้มีการพร่องน้ำหน้าเขื่อนเพชร ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 61ในส่วนของสถานการณ์น้ำในพื้นที่อ.บ้านแหลม ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำและได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ 

.กรมชลประทาน ได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 38 เครื่อง ในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า และติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 31 เครื่อง ในจุดเสี่ยงที่น้ำอาจเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน โดยกองทัพเรือ และหน่วยทหารพัฒนา ได้ติดตั้งเรือผลักดันน้ำจำนวน 20 ลำ และ 6 ลำ ตามลำดับ บริเวณสะพานวัดคุ้งตำหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ พื้นที่ปลายน้ำในเขตต.บางครก อ.บ้านแหลม บางส่วนได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำและจากอิทธิพลน้ำทะเลหนุน ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง 20-30 เซนติเมตร ซึ่งทางจังหวัดเพชรบุรี ได้แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือไว้ก่อนหน้านี้แล้ว


สำหรับพื้นที่สุ่มเสี่ยงติดแม่น้ำเพชรบุรี โดยเฉพาะในเขต อ.เมืองเพชรบุรี จะไม่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน รวมถึงยังต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนแก่งกระจานอย่างต่อเนื่องจ นกว่าจะถึงระดับเกณฑ์การเก็บน้ำสูงสุด เพื่อที่จะมีช่องว่างสำหรับรองรับน้ำตลอดจนสิ้นฤดูฝนนี้


.ในส่วนของมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีระยะยาว นั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการขุดลอกและขยายคลอง เพื่อใช้ในการระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด โดยการปรับปรุงคลอง RMC3 เชื่อมคลองระบาย D.9 ความยาว 27 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง มีผลงานคืบหน้าร้อยละ 30 และอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบโครงการขุดลอกคลองอีก 2 เส้นทาง คือคลอง D.1 ความยาว 23 กิโลเมตร และ คลอง D.18 ความยาว 28 กิโลเมตร โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

logoline