svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ชงเลื่อนนำเข้าแอลเอ็นจี กฟผ.หวั่นแบกรับต้นทุนเพิ่ม

29 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กฟผ." เล็งเสนอรัฐเลื่อนประเดิมนำเข้าแอลเอ็นจี โควตา 1.5 ล้านตันต่อปี ออกไปจากเดิมกำหนดปลายปีนี้ หวั่นก๊าซเหลือใช้กระทบค่าไฟประชาชน ด้าน กกพ.ชี้ยังไร้ข้อสรุปใครเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุน

นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมหารือร่วมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เพื่อขอยืนยันแนวทางปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2560 ที่มอบหมายให้กฟผ.เป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อนำร่องการเปิดเสรีก๊าซ ตามข้อกำหนดของรัฐบาลที่เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซของ ปตท.(Third Party Access)

โดยกฟผ. ต้องการความชัดเจนว่า หากนำเข้าแอลเอ็นจีมาแล้วเกิดปัญหาทั้งด้านปริมาณก๊าซที่ใช้ไม่หมด และมีผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งในส่วนนี้หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะหากจะให้ กฟผ.เป็นผู้แบกรับต้นทุนทั้งหมดก็คงไม่เป็นธรรม เนื่องจากกฟผ.เป็นหน่วยปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐ ซึ่ง มติ กพช. ให้ทุกหน่วยงานมาหารือในรายละเอียดแนวทางปฏิบัติร่วมกัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ประกอบกับสำรองไฟฟ้าในปัจจุบันอยู่ในระดับสูง ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติปัจจุบันเป็นระบบราคาก๊าซทั้งหมด หรือ ราคาพูล(Pool) ที่เฉลี่ยรวมจากก๊าซอ่าวไทย เมียนมา และแอลเอ็นจีที่ ปตท.นำเข้า มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการใช้

จึงอาจเกิดปัญหาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หรือ Take-or-Pay (ค่าตกลงจะซื้อจะซื้อขาย) ดังนั้น หากเป็นไปได้ก็น่าจะเลื่อนระยะเวลาการนำเข้าจากปลายปีนี้ออกไปก่อน จนกว่าจะหาข้อยุติได้ในทุกประเด็น

"กฟผ.มีหน้าที่ซื้อก๊าซตามนโยบาย และกกพ.มีหน้าที่กำหนดค่าไฟ ซึ่งก่อนที่เราจะซื้อเราก็ต้องแน่ใจก่อนว่า ราคาค่าไฟ ราคาก๊าซ เป็นอย่างไร ไม่ใช่เมื่อซื้อมาแล้วต้นทุนแพง กฟผ.รับภาระทั้งหมดอันนี้ไม่แฟร์ เพราะทดลองนำเข้าตามนโยบายแล้ว ยังจะให้รับภาระอีกหรือ" นายถาวรกล่าว

อย่างไรก็ตาม กฟผ.ได้เร่งดำเนินการทุกอย่างตามมติกพช. ที่กำหนดให้เริ่มนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตแรกในเดือน ธ.ค.ปีนี้ ซึ่งกฟผ.เห็นว่า ช่วงปลายปีนี้จะเข้าสู่ฤดูหนาวราคาก๊าซจะสูงขึ้น จึงเร่งออกระเบียบรับซื้อต่างๆ เตรียมพร้อมรับซื้อก๊าซให้ทันในเดืนก.ย.นี้ เพื่อให้ต้นทุนต่ำที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยไม่ให้ประชาชนต้องแบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้า 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ กฟผ. ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูลนำเข้าแอลเอ็นจี ปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี ขณะนี้มีผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อเข้าแข่งขันราคาแล้ว จำนวน 8 ราย จากผู้ที่สนใจทั้งหมดประมาณ 10 ราย โดยบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น และหลังจากนี้ จะเข้าสู่กระบวนการแข่งขันเสนอราคา ซึ่ง กฟผ.จะคัดเลือกผู้ชนะเพียงรายเดียว เพื่อทำสัญญาให้เป็นผู้นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ให้ กฟผ. และให้เริ่มจัดส่งก๊าซฯ ล็อตแรกจำนวน 70,000 ตัน ให้ กฟผ. ในราวเดือน ก.ย. 2561 นี้

ด้านนางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า การหารือระหว่าง กฟผ., กกพ., สนพ.และปตท. ยังมีประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ คือภาระต้นทุนและการสั่งการเรื่องการแข่งขันเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพราะตามมติกพช. กำหนดว่า ราคานำเข้าแอลเอ็นจีในส่วนนี้ จะไม่อยู่ในส่วนของราคาพูล และนำเข้ามาเพื่อเฉพาะเจาะจงที่จะใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ก็จะต้องออกข้อกำหนดในการคำนวนราคาต้นทุนเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป

ดังนั้น กฟผ.ในฐานะที่ต้องปฏิบัติตามมติกพช. หากเห็นว่า ควรจะเลื่อนโครงการออกไปก่อน ก็ต้องเป็นผู้เสนอเหตุผลที่ชัดเจนให้กระทรวงพลังงานพิจารณาต่อไป

logoline