svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ดีเอสไอ"สอบ เร่งออกโฉนดที่ดิน8ไร่ ป่าสงวนฯเขานาคเกิด ก่อนขายให้เอกชนา 250 ล้าน ภายในเวลา 3 วัน

28 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภูเก็ต-"ดีเอสไอ" ตรวจสอบการเร่งดำเนินการออกโฉนดที่ดิน 8 ไร่ ในป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต เผยทำกันเป็นกระบวนการ หลังออกโฉนดได้แค่ 3 วัน ขายให้เอกชนราคา 250 ล้านบาท

(28 ก.ย.2560) พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)พร้อมด้วย พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน ผู้อำนวยการกองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ นายไพศาล หนูพิชัย หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ภก.2 (ภูเก็ต) เจ้าหน้าที่สำนักงานปฎิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต (สปก.ภูเก็ต) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงตรวจสอบสภาพพื้นที่ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด ม.1 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต หลังจากได้รับการร้องเรียนว่า มีการบุกรุกยึดถือครอบครอง และออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื้อที่ 8 ไร่ และได้มีการนำไปจำหน่ายให้เอกสารรายหนึ่งในราคา 250 ล้านบาท โดยพบว่า ยังไม่มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ และมีต้นไม้นานาชนิดปกคลุมเต็มพื้นที่
พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงการลงตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวว่า เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่า มีผู้บุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานาคเกิด และออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โฉนดที่ดินเลขที่ 89530 หมู่ที่ 1 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549 ได้มีผู้มายื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต โดยใช้หลักฐาน ส.ค. 1 เลขที่ 131 หมู่ที่ 1 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต เนื้อที่ 8 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่มีผู้แจ้งการครอบครองไว้เมื่อปี พ.ศ. 2498 และมีการมาใช้เป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดแต่ผลจากการสำรวจรังวัดแล้ว ปรากฏว่าเนื้อที่ 37-0-58 ไร่ ซึ่งเกิดจาก ส.ค. 1 ถึง 29-0-58 ไร่ และพบว่าที่ดินที่มีการนำรังวัดขอออกโฉนดนั้นอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวร และเขต สปก. ประกอบกับคำให้การของผู้แจ้ง ส.ค.1 ที่เคยให้ไว้กับเจ้าพนักงานที่ดินว่า บริเวณที่ดินที่มีการยื่นขอรังวัดออกโฉนดนั้นไม่เคยแจ้ง ส.ค. ไว้แต่อย่างใด จึงเป็นเหตุให้สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตยกเลิกคำขอออกโฉนดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการนำเอกสาร ส.ค. 1 เลขที่ 131 ซึ่งเป็นหลักฐานสำหรับที่ดินแปลงอื่นมาใช้เป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดินในครั้งนี้ และได้แจ้งให้ทางผู้ขอออกโฉนดทราบ
"ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2551 ผู้ขอออกโฉนดรายเดิม ได้มีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตว่า ไม่ขออุทธรณ์คำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ผ่านมาแต่ขอใช้สิทธินำคำขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่ได้แจ้งการครอบครองที่อ้างว่า มีผู้ครอบครองที่ดินคนก่อนเคยยื่นคำขอไว้เมื่อปี พ. ศ. 2532 ก่อนออกกฎกระทรวงฉบับที่ 37 (พ.ศ.2537) แต่ได้ยกเลิกคำขอไปก่อนแล้ว โดยอ้างว่าได้ซื้อที่ดินต่อมาจากผู้ครอบครองคนก่อน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2539 และเข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ซึ่งสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตได้รับคำขอไว้ โดยอ้างว่ากรณีดังกล่าวทางกรมที่ดินเคยมีมติว่า ผู้ครอบครองต่อเนื่องสามารถนำคำร้องขอออกโฉนดที่ดินที่ผู้ครอบครองคนก่อนเคยยื่นขอออกโฉนดที่ดินและขอยกเลิกคําขอไปแล้วมาใช้ยื่นออกโฉนดที่ดินใหม่ได้ จนกระทั่งมีการดำเนินการออกโฉนดที่ดิน เลขที่ 89530 เนื้อที่ 8 ไร่ โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของสำนักงานที่ดินสรุปเรื่อง นำเสนอต่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (สมัยนั้น) ซึ่งปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้ลงนามอนุมัติการออกโฉนดที่ดินในวันที่ 7 สิงหาคม 2551 เช่นเดียวกัน และส่งให้เจ้าพนักงานที่ดินภูเก็ตรับทราบเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 กระทั้งต่อมาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมปีเดียวกัน ผู้เป็นเจ้าของโฉนด ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวให้กับบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ในราคา 250 ล้านบาท"
พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการร่วมมือกับ นายทุน ตัวแทนและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกโฉนดที่ดินในเรื่องนี้ซึ่งกระทำเป็นกระบวนการ และทำให้เชื่อว่าเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเบื้องต้น จากการดูระวางแผนที่บางส่วน พบว่าอยู่ในเขตป่าสงวนฯ และต้องดูพื้นที่ว่าเป็นภูเขาหรือไม่ โดยต้องให้กรมพัฒนาที่ดินมาตรวจสอบอีกครั้ง ถ้าเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตภูเขา ก็จะเป็นข้อห้ามบทที่สอง เป็นข้อห้ามในการออกเอกสารสิทธิ เพราะการออกเอกสารสิทธิในเขตภูเขา จะต้องใช้เอกสาร ส.ค.1เช่นเดียวกัน จะมาอ้างการเข้าทำประโยชน์ก่อนปี พ.ศ.2497ไม่ได้ โดยในส่วนของการออกสารสิทธิไม่ชอบ ได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไปดำเนินการแล้ว ในส่วนของการบุกรุก คือ บุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และที่ดินของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ที่ดิน



logoline