svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ฎีกาชี้ชะตา "อภิสิทธิ์-สุเทพ" คดีสลายม็อบนปช. ปี 53

31 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ฎีกาชี้ชะตา "อภิสิทธิ์-สุเทพ" คดีอัยการ ฟ้องฆ่าผู้อื่น เหตุสั่งสลายม็อบ นปช.ปี 53 หลัง 3 ปีสู้อำนาจสอบสวน-เขตอำนาจศาล ต้องยื่นศาลฎีกานักการเมือง

31 ส.ค.60  เวลา 09.30 น. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำสั่งศาลฎีกาในการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย คดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อายุ 53 ปี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อายุ 67 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288ประกอบมาตรา 80, 83 ,84 สืบเนื่องจากการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่ม นปช. ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย.- 19 พ.ค.553 กระทั่งนายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี เสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ทลิงค์ สถานีราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค.53 และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ถูกกระสุนยิง มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์ในพื้นที่ ย่านราชปรารภ ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส

          

โดยในชั้นสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ได้ต่อสู้ประเด็นการสอบสวนและดำเนินคดีว่า ไม่ได้เป็นอำนาจของดีเอสไอ ที่จะรวบรวมหลักฐานสรุปสำนวนฟ้องให้อัยการ แต่การสอบสวนเป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) 

          

ซึ่งหลังจากอัยการยื่นฟ้องคดีและก่อนที่ศาลอาญา จะพิจารณาคดี ทั้งสองได้ยื่นคำร้องวันที่ 10 มิ.ย.57 ขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวด้วย แล้วศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อกฎหมายแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 ส.ค.57 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า แม้อัยการโจทก์ จะกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่ง ศอฉ.ให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนในการผลักดันผู้ชุมนุม หรือกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค.53 โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวนั้นก็เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วยซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่ง ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 66 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) และประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ที่ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ และให้ยกคำร้องที่นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่บาดเจ็บ กับนางหนูชิต คำกอง ภรรยาของนายพัน ที่เสียชีวิต ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย  ต่อมาอัยการโจทก์ และนายสมร กับนางหนู ผู้เสียหาย มอบอำนาจให้นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความยื่นอุทธรณ์

          

โดยเมื่อวันที่ 17 ก.พ.59 มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งเห็นว่าเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะส่วนตัวตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การสอบสวนเพื่อเอาโทษแก่จำเลยทั้งสองจึงเป็นอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19,66 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 มาตรา 250 (2) ประกอบมาตรา 275 การที่โจทก์และโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอาศัยสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอซึ่งไม่มีอำนาจในการสอบสวน การฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลอาญาจึงไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจรับคดีทั้งสองสำนวนไว้พิจารณา อุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ส่วนนายสมร และนางหนูชิต ที่ร้องขอเป็นโจทก์ร่วมนั้นศาลอุทธรณ์ ก็เห็นว่า เมื่อศาลอาญาไม่มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นก็ชอบแล้ว  กระทั่งฝ่ายโจทก์ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาที่ยกฟ้องเพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล

          

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุจากการคัดค้านอำนาจสอบสวนของดีเอสไอนี้ นายอภิสิทธิ์ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ อดีตรองนายกฯ ยังได้ฟ้องกลับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล พนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ต่อศาลอาญาในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,200 ด้วย ซึ่งศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.310/2556 

         

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ส.ค.60 ศาลอาญาก็ได้สอบคำให้การและนัดตรวจหลักฐานคดีไปแล้ว โดยนายธาริต และคณะพนักงานสอบสวนให้การปฏิเสธสู้คดี ซึ่งศาลอาญากำหนดนัดสืบพยานโจทก์ 8 ปาก และพยานจำเลย 15 ปากในเดือน มี.ค.-เม.ย.61

logoline