svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"อัยการ" แจงขั้นตอนดำเนินคดี "เณรคำ"

19 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

4 ทุ่มวันนี้ อัยการ และ ดีเอสไอ นำตัว "เณรคำ" เดินทางกลับมาถึงประเทศไทย หลังจากสหรัฐส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน โดยสำนักงานอัยการ ออกมาชี้แจงขั้นตอนการดำเนินคดีกับ "เณรคำ" ติดตามรายละเอียดกับคุณ สรารัตน์ รัตนสุวรรณ

อัยการแจงการขอตัว"เณรคำ"เป็นผู้ร้ายข้ามแดนใช้เวลานาน แต่ไม่ล่าช้า ทุกขั้นตอนละเอียดอ่อน. แฉเล่ห์จ้างผู้เสียหายฟ้องคดี-ถอนฟ้องในศาลต่างจังหวัด แถมอ้างสิทธิเสรีภาพในการพูดให้คนบริาคเงิน แต่อัยการ-ดีเอสไอมีหลักฐานมัดแน่น ตีตกทุกข้อแก้ต่างของทนายจำเลย ยันให้สิทธิตามกฎหมายเต็มขั้น แสดงให้สหรัฐเห็นกม.ไทยให้ความเป็นธรรมเท่าเทียม วอนสื่อระวังการเสนอข่าว-ภาพ กระทบสิทธิมนุษยชน

สำนักงานอัยการสูงสุด - 19 ก.ค. 60. นายอำนาจ โชติชัย อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ พร้อมด้วย ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงข่าวกรณีที่อัยการสูงสุด ในฐานะผู้ประสานงานกลางของประเทศไทย ได้มีคำร้องขอตัว พระวิรพล ฉัตติโก หรือนายวิรพล สุขผล หรือหลวงปู่เณรคำ มาดำเนินคดีในความผิด ตามหมายจับศาลอาญาในข้อชำเราหญิงอายุไม่ถึง 15 ปี พรากผู้เยาว์ ฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 และสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา

นายอำนาจ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานอัยการสูงสุดมีความกังวลใจเกี่ยวกับการเปิดเผยความคืบหน้าในการรับตัวนายวิรพล หรือเณรคำ เนื่องจากเป็ฯเรื่องระเอียดอ่อนของ 2 ประเทศ แม้ว่าศาลจะอนุญาตให้ส่งตัวกลับมาดำเนินคดีแล้วแต่ยังต้องระวังไม่ให้เกิดอุปสรรคหรือปัญหาในขั้นตอนที่ตำรวจศาลสหรัฐอเมริกานำตัวมาผ่านขั้นตอนของตม. เพราะกังวลเหตุความวุ่นวายของกลุ่มลูกศิษย์ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาจนไม่สามารถนำตัวกลับมาได้ ในระหว่างการแถลงข่าวครั้งนี้เครื่องบินส่งตัวนายวิรพลได้ออกจากลอสแองเจลิสมาสู่สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่นแล้ว โดยจะถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ประมาณ 22.00 น.

ร.ท.สมนึก กล่าวว่า ด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผ่านพิธีการทูตผ่านกระทรวงการต่างประเทศว่า หลังจากที่อัยการสูงสุดได้ขอส่งตัวนายวิรพลเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 59 เจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกาได้จับกุมนายวิรพล และได้ดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ศาลชั้นต้นรัฐบาลกลางแห่งแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีคำสั่งให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน นายวิรพล กลับมายังประเทศไทย โดยนายวิรพลไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งศาล ซึ่งระยะเวลาอุทธรณ์สิ้นสุดแล้ว และถูกส่งตัวจากสหรัฐอเมริกากลับประเทศไทยในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 สำนักงานอัยการสูงสุดได้มอบหมาย นางอินทรานี สุมาวงศ์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ นายวีรเดชน์ ไตรทศาวิทย์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานต่างประเทศ และนายรองรัฐ พุ่มคชา อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานต่างประเทศ เดินทางไปรับตัวนายวิรพล ที่สหรัฐอเมริกา โดยการไปรับตัวครั้งนี้ มี พ.ต.ท. ถิรพล พิณเมืองงาม ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง พ.ต.ท. ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ผู้บัญชาการ สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษอีก 6 คน ร่วมเป็นคณะไปดำเนินการด้วย

ร.ท.สมนึก กล่าวอีกว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดีกับนายวิรพล 2 คดี คือ 1. ตามคดีพิเศษที่ 186/2556 ความผิดฐานปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็ก อายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภรรยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม กระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารแม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม และ 2. คดีพิเศษที่ 151/2556 ความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ต่อความมั่นคงของประเทศ และเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดฐานโอนหรือ รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับฉ้อโกงประชาชน เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่ายการโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ส่งสำนวนคดีทั้ง 2 คดี มาให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ พิจารณาดำเนินการ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายวิรพล ทั้งสองคดีตามฐานความผิดที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องมา โดยให้นำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี

ร.ท.สมนึก กล่าวด้วยว่า ต่อมาพนักงานสอบสวนดีเอสไอด้ขอศาลอาญาออกหมายจับนายวิรพล ปรากฏว่านายวิรพลได้หลบหนีไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา พนักงานสอบสวนดีเอสไอจึงได้ส่งเรื่องมายังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการขอส่งตัวนายวิรพล มาดำเนินคดีที่ประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฯ การดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนครั้งนี้ สำเร็จได้ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของดีเอสไอ และความตั้งใจ การทุ่มเทในการทำงาน และการติดตามคดีของพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ และคณะพนักงานอัยการที่ไปดำเนินการขอรับตัว ทั้งนี้ เมื่อค่ำวานนี้ (18 ก.ค.) ตนได้สอบถามพนักงานอัยการที่รับตัวนายวิรพลทราบว่าขึ้นเครื่องบินเมื่อเวลา 03.00 น. วันที่ 19 ก.ค. และจะเดินทางถึงสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อต่อเครื่องเวลา 14.00 น. วันนี้ ซึ่งการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนเรื่องอาการป่วยยังไม่มีข้อมูล แต่ผู้ต้องหามีสิทธิ์ตามป.วิอาญา ที่ให้สิทธิ์พบทนาย ญาติและได้รับรักษาครบถ้วนทุกอย่าง ทั้งนี้ ไม่ได้สอบถามว่านายวิรพลอยู่ในสถานะสงฆ์หรือฆารวาส อย่างไรก็ตาม ทางการสหรัฐกำชับให้ไทยปฏิบัติต่อนายวิรพลตามหลักศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด เมื่อนายวิรพลกลับมาแล้วขอความร่วมมือสื่อในการนำเสนอข่าวและภาพด้วย

นายอำนาจ กล่าวว่า ดีเอสไอได้ส่งคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนหนาประมาณ 1 ศอก พร้อมหมายจับนายวิรพล 2 คดี และสถานที่พำนักของผู้ต้องหาในสหรัฐอเมริกาให้อัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.56 แยกเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงิน ซึ่งทั้ง 2 คดีมีอัตราโทษและอายุความต่างกัน เมื่ออัยการสูงสุด โดยสำนักงานต่างประเทศรับคำขอดังกล่าวแล้วได้ตรวจข้อเท็จจริงว่าเข้าเงื่อนไขตามพ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ และสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ เช่น ในคำขอมีข้อเท็จจริงและการกระทำความผิดฐานใดบ้าง ความผิดดังกล่าวอัยการสั่งฟ้องและมีหมายจับแล้วหรือไม่ ซึ่งในทางคดีอัยการได้สั่งฟ้องและมีหมายจับแล้วทั้ง 2 สำนวน โดยความผิดทางเพศมีอายุความ 15 ปี จะครบอายุความในปี 2569 ส่วนความผิดฐานฟอกเงินมีอายุความ 10 ปี ดังนั้น ความผิดทั้ง 2 คดียังไม่หมดอายุความ และความผิดดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือการทหาร มีอัตราโทษจำคุกมากกว่า 1 ปี อีกทั้งมีการแสดงหลักฐานชัดเจนว่าพำนักอยู่ในประเทศใด

นายอำนาจ กล่าวอีกว่า จากการพิจารณาคำขออัยการเห็นว่ายังมีข้อเท็จจริงบ้างอย่างไม่สมบูรณ์ ซึ่งในความผิดทางเพศแม้มีข้อเท็จจริงครบถ้วน แต่ในความผิดตามพ.ร.บ.คอมฯ ไม่มีข้อเท็จจริงเลย ซึ่งดีเอสไอชี้แจงว่าให้อัยการขอตัวนายวิรพลกลับมาดำเนินคดีความผิดทางเพศก่อนดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นๆ แต่อัยการชี้แจงกลับไปว่าตามเงื่อนไขการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หากขอตัวมาดำเนินความผิดเพศ จะฟ้องในข้อหาอื่นๆ ไม่ได้ หรือขอตัวมาดำเนินคดีในข้อหาใดก็ต้องฟ้องในข้อหานั้นจะมาฟ้องในข้อหาอื่นที่ไม่มีในคำขอไม่ได้ จึงให้ดีเอสไอส่งสำนวนในความผิดฐานอื่นมาด้วย เมื่อได้รับสำนวนต้องส่งให้กระทรวงต่างประเทศแปลเอกสารทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษทั้งสำนวน หมายจับ ผลตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ซึ่งได้หลักฐานครบถ้วนเมื่อวันที่ 3 เม.ย.58 และเห็นว่าเข้าเงื่อนไขการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน จึงประสานทางการสหรัฐฯ วันที่ 22 พ.ค. 58 ขอให้มีการจับกุมนายวิรพล แต่ได้รับการประสานกลับมาว่าไม่มีเหตุให้จับกุมตัว เนื่องจากนายวิรพลมีสำนักสงฆ์อยู่และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี เมื่อไม่มีเหตุให้จับกุมอัยการสูงสุดจึงทำหนังสือขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนเต็มรูปแบบวันที่ 30 พ.ย.58 ระหว่างนั้นมีการพิจารณาจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐว่าคำขอมีมูล ผู้ประสานงานกลางของไทยจึงขอให้จับกุมตัวและสามารถจับนายวิรพลได้ 22 ก.ค.59 โดยนายวิรพลได้ต่อสู้ไม่ให้ศาลแคลิฟอร์เนียส่งตัวกลับมาดำเนินคดีที่ไทย

นายอำนาจ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อต่อสู้ในชั้นศาลของนายวิรพลมีหลักๆ 2 ข้อ คือ ผู้ต้องหาอ้างว่าความผิดเกี่ยวกับเพศ ผู้เสียหายได้ถอนแจ้งความไปแล้วอัยการไม่สามารถฟ้องซ้ำได้ โดยทนายของนายวิรพลได้ประสานผู้เสียหายให้ยื่นฟ้องคดีที่ศาลต่างจังหวัด และให้ถอนฟ้องเพื่อนำคำถอนฟ้องไปใช้ต่อสู้คดีในสหรัฐอเมริกา แต่อัยการและดีเอสได้สอบปากคำผู้เสียหาย หรือโจทก์ในคดี ได้รับสารภาพว่าได้รับจ้างจากฝ่ายนายวิรพลให้ยื่นฟ้องและไปถอนฟ้อง โดยไม่ทราบว่าการกระทำดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อกฎหมายใดๆ ซึ่งหลักฐานดังกล่าวอัยการได้นำไปเป็นข้อแก้ต่างในศาลสหรัฐ จนศาลไม่รับข้อต่อสู้ของฝ่ายเณรคำ ส่วนคดีฟอกเงินและฉ้อโกงประชาชน เณรคำอ้างว่าไม่ใช่ความผิดของ 2 รัฐ และโต้แย้งว่าเงินที่ได้มาเป็นการบริจาคที่รับมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่เงินจากยาเสพติดและการพูดโน้มน้าวให้บริจาคก็เป็นสิทธิ์เสรีภาพที่จะพูดอะไรก็ได้ แต่ฝ่ายอัยการต่อสู้ว่าเงินที่ประชาชนบริจาคเพื่อสร้างศาสนสถาน แต่นายวิรพลกลับนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จึงเป็นความผิดฉ้อโกง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของไทยนับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อว่าการบริจาคจะได้บุญ ซึ่งเป็นตามกฎหมายไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งศาลแคลิฟอร์เนียเห็นว่ากระทำผิดจริง จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 พ.ค.60 ให้ส่งตัวนายวิรพลเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

"คดีความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนด้วยการหลอกลวงให้หลงเชื่อและเลื่อมใสศรัทธาในุทธศาสนาเป็นคดีที่อัยการให้ความสำคัญ ต้องนำตัวกลับมาดำเนินคดีให้ได้ เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างของการฉ้อโกงแล้วหอบเงินหลบหนีไปต่างประเทศ โดยที่ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้"นายอำนาจกล่าว

นายอำนาจ กล่าวอีกว่า หลังจากศาลสหรัฐพิพากษาให้ส่งตัว แต่นายวิรพลมีสิทธิ์อุทธรณ์ภายใน 2 เดือน ซึ่งจะครบกำหนด 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนครบกำหนด 1 สัปดาห์รับได้ส่งหนังสือถืออัยการให้ทางการไทยเตรียมเจ้าหน้าที่ไปรับตัวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะหากไม่มีใครไปรับตัว นายวิรพลจะถูกปล่อยตัว ทางการไทยจะไม่สามารถดำเนินการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนอีกได้ ทางอัยการและดีเอสไอก็ไปดำเนินการรับตัว ส่วนเหตุที่ไม่อุทธรณ์นั้นเป็นเรื่องส่วนตัว อัยการก็ไม่ทราบจริงๆ แต่เห็นว่าค่าใช้ในการดำเนินคดีและค่าใช้จ่ายทนายที่สหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนเงินสูงกว่าไทยมาก ส่วนที่ประชาชนมองว่า กระบวนการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมีความล่าช้านั้น ขอชี้แจงว่าขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้เวลา โดยสหรัฐกำหนดเงื่อนไขการส่งผู้ร้ายข้ามแดนค่อนข้างมาก ดังนั้น ความล่าช้าขึ้นอยู่กับขั้นตอนและเนื้อหาของประเทศที่รับคำข้อ ประเด็นความล่าช้าเป็นเพียงความรู้สึก เราจะทำข้ามขั้นตอนและไปบอกว่ากำลังทำอะไรอยู่ไม่ได้ เพราะการขอส่งตัวผู้ร้ายอาจกระทบกับความสัมพันธ์ได้ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณกระทรวงต่างประเทศที่ได้ดำเนินการถอนพาสปอร์ตและแปลเอกสาร

"การรับตัวจะมีพนักงานอัยการ 3 คนร่วมกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอรับตัวกลับมา ซึ่งวิธีการปฏิบัติก็เหมือนคดีทั่วไป ผู้ต้องหาต้องขึ้นเครื่องเป็นคนแรกและลงเครื่องเป็นคนสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเครื่องที่สนามบินแคลิฟอร์เนียไปลอสแอนเจลิส ไปต่อเครื่องที่สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น และเดินทางต่อมายังสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งผู้ต้องหาไม่มีอิทธิพลทางการเมืองก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เมื่อนายวิรพลมาถึงตม.ไทยจะถือว่าอัยการสำนักงานต่างประเทศหมดหน้าที่ ซึ่งดีเอสไอจะเข้าไปจับกุมนำตัวไปสอบสวน และตรวจสอบทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อขอให้ศาลเพิ่มโทษหรือรับโทษต่อจากคดีก่อน จากนั้นจะส่งสำนวนมาให้อัยการสำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งร่างคำฟ้องไว้หมดแล้ว ทั้งนี้ อัยการสูงสุดห่วงใยเรื่องดังกล่าวได้โทรศัพท์มากำชับให้ทางการไทยปฏิบัติให้สหรัฐฯ เห็นว่ากฎหมายไทยให้สิทธิ์หน้าที่และความเป็นธรรมเท่ากับกฎหมายของสหรัฐอเมริกา" อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าว

logoline