svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

เสี่ยงทุกวัย 'โรคหัวใจ' ไม่ใช่โรคของผู้สูงอายุ

16 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“โรคหัวใจ” ไม่เลือกวัย เช็กปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจในแต่ละช่วงวัย สังเกตสัญญาณอาการของโรค พร้อมคำแนะนำในการดูแลตัวเองและคนที่เรารัก

"โรคหัวใจ" คือโรคยอดฮิตอันดับต้น ๆ ที่คร่าชีวิตของคนทั่วโลกด้วยอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโรคหัวใจที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเยอะที่สุดทั่วโลกคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุ ตามมาด้วยโรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคกล้ามเนื้อหัวใจ แม้ในอดีตโรคหัวใจจะเป็นโรคที่พบเจอได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าคนที่อายุยังน้อยหรือวัยรุ่นก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้มากเช่นกัน

เสี่ยงทุกวัย \'โรคหัวใจ\' ไม่ใช่โรคของผู้สูงอายุ

สาเหตุของโรคหัวใจในคนอายุน้อย

รศ. นพ.ทศพล ลิ้มพิจารณ์กิจ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า โรคหัวใจนั้นมีปัจจัยเลี่ยงหลายอย่าง แต่คนอายุน้อยมักจะเป็นโรคหัวใจที่เกิดจากความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่พบมากที่สุดก็คือ การสูบบุหรี่ บางคนอายุแค่ 30 – 35 ปี ก็เป็นโรคหัวใจแล้ว หรือแม้แต่คนที่ร่างกายแข็งแรง เป็นนักกีฬาก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติได้ โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพหรือผู้ที่ใช้ร่างกายหนัก ๆ ควรจะต้องตรวจเช็กสุขภาพหัวใจก่อนทุกครั้งเพื่อดูว่าสามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่หักโหมได้หรือไม่

อาการของโรคหัวใจ

อาการเหนื่อยง่าย เบื้องต้นสามารถสังเกตอาการตัวเองได้จากพฤติกรรมเดิม ๆ ที่เคยทำได้ เช่น จากที่เคยขึ้นบันไดได้สองสามชั้นแบบสบาย ๆ ตอนนี้ขึ้นแค่ชั้นเดียวก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว แสดงว่าร่างกายของคุณเริ่มผิดปกติแนะนำให้รีบไปเช็กด่วน เพราะนอกจากโรคหัวใจแล้วยังมีโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกันอีกด้วย

อาการเจ็บแน่นหน้าอก โดยเฉพาะเวลาที่ออกแรงมักจะเจ็บบริเวณหน้าอกด้านซ้าย หายใจไม่ออก อึดอัดเหมือนมีของหนักมาทับที่หน้าอก บ่งบอกว่าอาจจะเป็นสัญญาณของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

อาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ เนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจะวินิจฉัยได้ถูกต้องก็ต่อเมื่อได้รับการตรวจที่โรงพยาบาลเท่านั้น

คำถามที่พบบ่อย "เป็นโรคหัวใจออกกำลังกายได้หรือไม่?"

สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถออกกำลังกายได้ และควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 – 4 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 – 45 นาที สามารถออกกำลังกายหรือกิจกรรมแบบใดก็ได้แล้วแต่สภาพร่างกาย เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ แบดมินตัน ฯลฯ แต่ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป ส่วนผู้ที่ยกเว้นการออกกำลังกายเลยคือผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจระยะสุดท้าย เช่น โรคหัวใจล้มเหลว

เด็กเล็กกับโรคหัวใจ

เสี่ยงทุกวัย \'โรคหัวใจ\' ไม่ใช่โรคของผู้สูงอายุ

โรคหัวใจในเด็ก เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากพอ ๆ กับโรคหัวใจในผู้ใหญ่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจในเด็ก และหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคหัวใจในเด็ก หายได้ หากรักษาอย่างทันท่วงที

โรคหัวใจในเด็กแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

ตามสถิติแล้ว ทารกแรกเกิดเฉลี่ย 8 ใน 1,000 คน จะพบว่ามีอาการโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ในครรภ์ โรคที่พบเจอบ่อย เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว ลิ้นหัวใจรั่ว เส้นเลือดเกิน หรือเป็นโรคหัวใจชนิดซับซ้อน เป็นต้น ซึ่งหากตรวจพบเมื่อเด็กโตแล้ว อาจทำการรักษาได้ยาก อย่างไรก็ตาม เด็กที่ป่วยด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิด สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ แต่อาจต้องระมัดระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น ลิ้นหัวใจตีบเล็กน้อย รูในผนังหัวใจขนาดเล็ก เป็นต้น

สาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีดังนี้

  • ไม่สามารถระบุสาเหตุนี้ชัดเจน พบได้ถึงร้อยละ 80-85
  • โรคทางพันธุกรรม พบเป็นสาเหตุได้ประมาณ ร้อยละ 5-10 เช่น เด็กที่เป็นโรคกลุ่มอาการดาว์นอาจพบเป็นโรคหัวใจพิการได้ถึงร้อยละ 40
  • มารดาได้รับผลกระทบระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การที่มารดาได้รับยาบางชนิด หรือมีการติดเชื้อหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรก

2 โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักเกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในรายที่อาการรุนแรง อาจเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้
  • โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ มักพบในเด็กที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อัตราการเต้นช้าหรือเร็วเกินไป ส่วนใหญ่ในเด็กมักพบเป็นชนิดเต้นเร็วผิดปกติ มีอาการเป็นๆ หายๆ และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายและเสียชิวิตได้
  • โรคไข้คาวาซากิ มักเกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ทำให้เส้นเลือดหัวใจโป่งพอง และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงในระยะยาว
  • โรคหัวใจรูห์มาติก เกิดจากไข้รูห์มาติก ทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว และ/หรือตีบ เกิดจากการรักษาโรคคออักเสบ

สัญญาณเตือน ลูกน้อยหัวใจผิดปกติ
โรคหัวใจในเด็กบางชนิดนั้นรุนนแรงจนอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิต หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตลูกน้อย หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันที
1. เหนื่อยง่าย หายใจหอบ
2. เล็บและริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีเขียวขณะดูดนม
3. น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ เจริญเติบโตช้า หรือพัฒนาการทางกล้ามเนื้อช้า
4. หน้ามืด เป็นลม
5. เสียงหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจโดยแพทย์เฉพาะทาง

ส่วนวิธีการรักษาโรคหัวใจในเด็กนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรค และความรุนแรงของโรค ซึ่งการรักษาจะมีตั้งแต่การรักษาด้วยยา , รักษาโดยการผ่าตัด , รักษาด้วยการสวนหัวใจ , รักษาด้วยการจี้ทางเดินประจุไฟฟ้าที่ผิดปกติ (ในรายที่หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ) , การใส่กล่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ (ในกรณีหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ) , การใส่กล่องช็อกไฟฟ้าอัตโนมัติ (ในรายที่หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะชนิดรุนแรงถึงชีวิต) ส่วนในบางรายที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาใด ๆ เพียงแต่ควรระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อนและควรติดตามการดูแลเป็นระยะห่าง ๆ โดยกุมารแพทย์โรคหัวใจ

 

โรคหัวใจ ภัยเงียบวัยทำงาน

เสี่ยงทุกวัย \'โรคหัวใจ\' ไม่ใช่โรคของผู้สูงอายุ ข้อมูลที่น่าตกใจจากกรมควบคุมโรค สะท้อนให้เห็นว่าในปัจจุบัน “วัยทำงาน” ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 38.31 ล้านคน ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดจำนวนมาก โดยวัยทำงานเพศหญิงป่วยสูงเป็นอันดับสอง รองจากโรคมะเร็ง และวัยทำงานเพศชาย ป่วยสูงเป็นอันดับสาม รองจากอุบัติเหตุและโรคมะเร็ง

สาเหตุที่โรคหัวใจเกิดขึ้นกับคนวัยทำงาน เพราะคนวัยทำงานมีการดำเนินชีวิตที่ต้องทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ประกอบกับการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและรสชาติจัด อีกทั้งไม่มีเวลาออกกำลังกาย ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจได้อย่างง่ายดาย จากสถิติ พบว่า ผู้ป่วยวัยทำงานจำนวนมากที่มีประวัติการบริโภคโซเดียมหรืออาหารที่เค็มสูง เช่น ซีอิ๊ว น้ำปลา เต้าเจี้ยว กะปิ ปลาร้า น้ำผลไม้กระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมที่มีการเติมผงฟูมีโซเดียม รวมไปถึงชีส เนื้อสัตว์แปรรูปต่างๆ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงมากยิ่งขึ้นจนส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว

ผลกระทบสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1.หัวใจห้องขวาล้มเหลว หัวใจห้องขวาจะรับเลือดจากร่างกายแล้วสูบฉีดไปยังปอดเพื่อฟอกเลือด หากหัวใจห้องขวาล้มเหลวจะทำให้เกิดอาการบวมของเท้า

2.หัวใจห้องซ้ายล้มเหลว หัวใจห้องซ้ายจะรับเลือดที่ฟอกแล้วจากปอดและจะสูบฉีดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย เมื่อหัวใจห้องนี้ล้มเหลวจึงทำให้ร่างกายไม่สามารถสูบฉีดเลือด จนเนื้อเยื่อต่างๆ ขาดออกซิเจนเกิดการคั่งของน้ำและเกลือในปอด จนส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้

 

โรคหัวใจในผู้สูงวัย

เสี่ยงทุกวัย \'โรคหัวใจ\' ไม่ใช่โรคของผู้สูงอายุ

โรคหัวใจที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่

1.โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากไขมันและเนื้อเยื่อสะสมในผนังของหลอดเลือด ทำให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในตำแหน่งนั้นหนาตัวขึ้น ทำให้หลอดเลือดมีการตีบแคบลง ทำให้เลือดซึ่งนำออกซิเจนไหลผ่านได้น้อยลง ส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

2.โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ มักเกิดจากความเสื่อมตามธรรมชาติของร่างกาย ทำให้มีหินปูนจับที่ลิ้นหัวใจจนลิ้นหัวใจหนาขึ้นและเปิดได้น้อยลง โรคนี้จึงพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

3.โรคหัวใจสั่นพริ้ว เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหนึ่ง คือหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มีทั้งเต้นช้า เต้นเร็ว และเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายลดลง Atrial Fibrillation (AF) เป็นอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อยที่สุด ถึงแม้ไม่ทำให้เสียชีวิตแต่อาจนำมาซึ่งภาวะรุนแรงมากขึ้น เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดอื่น ทำให้อ่อนเพลียเรื้อรัง อัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจล้มเหลว

4.ภาวะใจเต้นช้า จากตัวกำหนดการเต้นของหัวใจเสื่อม เกิดจากความเสื่อมของหัวใจ ของผู้สูงอายุอาจมีอาการวูบ หวิว บางรายอาจเป็นลมหมดสติ

5.หัวใจล้มเหลว ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือรับเลือดกลับสู่หัวใจได้ตามปกติ ภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่พบมากคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นสาเหตุใหญ่ที่พบบ่อยที่สุด นอกจากนี้ โรคความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้เช่นกัน

เทคนิค 3 อ. - 3 ย. เพื่อผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง

3 อ.

อ.อาหาร อาหารดีสุขภาพดี เน้นทานปลา เนื้อไก่ ถั่ว เต้าหู้ จำกัดการทานเนื้อแดง ชีส หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม เบค่อน ไส้กรอก เป็นต้น ทานข้าวกล้อง ข้าวซ้อม มือข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขนมปังโฮวีท จำกัดการทานข้าวขาวและขนมปังขาว ทานผักให้หลากหลายสีหลากหลายชนิด ทานผลไม้เป็นประจำจำกัดผลไม้ที่หวานจัด ใช้น้ำมันที่ดีปริมาณไม่มาก เช่น น้ำมันมะกอก คาโนล่า จำกัดการบริโภคเนย หลีกเลี่ยงเนยเทียมและน้ำมันทอดซ้ำ ดื่มน้ำเปล่า ชา หรือกาแฟ (หวานน้อยหรือไม่หวานเลย) ดื่มนมไม่เกิน 1-2 แก้วต่อวัน,ดื่มน้ำผลไม้ไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน หลีกเลี่ยงน้ำหวาน ครีมเทียม และเครื่องดื่ม 3-in -1

อ.ออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน กายบริหาร ประมาน 150 นาทีต่อสัปดาห์

อ.อารมณ์และการพักผ่อน พบว่ามีผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวมีภาวะโรคซึมเศร้าซ่อนอยู่1 ใน 3 และ1 ใน 5 เป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง ดังนั้นกายและใจต้องได้รับการรักษาไปพร้อมๆกัน และนอนหลับให้เพียงพอ

3 ย. 

ย.อย่าสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้อายุสั้นลง 10 ปี หากสูบอยู่ต้องหยุดทันที โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ หากไม่หยุดสูบบุหรี่จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตอย่างชัดเจน ทั้งนี้ พบว่าหากสูบบุหรี่ในวัยหนุ่มสาวแล้วหยุดได้ 10-15ปี ร่างกายจะสามารถฟื้นฟูตัวเองใกล้เคียงกับคนที่ไม่เคยสูบมาก่อน

ย.อย่าปล่อยให้อ้วน คนไทย 1 ใน 3 เป็นโรคอ้วน โรคอ้วนเป็นต้นเหตุของโรคต่างๆมากมาย เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน หัวใจ ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ย.อย่าขาดยารักษาโรค หากมีโรคประจำตัวควรทานยาอย่างต่อเนื่อง ในผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรขาดยาโดยเด็ดขาด

 

 

 

ที่มา ; สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ / คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

มหาวิทยาลัยมหิดล / ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ(GMC) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

logoline