svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

6 ประเภทโรคหัวใจเชื่อมโยงไลฟ์สไตล์คนปัจจุบัน

15 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้หรือไม่? ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่เร่งทำร้ายหัวใจมากขึ้น เปิด 6 ประเภทโรคหัวใจที่สำคัญ อาการ และปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วยตัวเรา

โรคหัวใจ (Heart Disease) เป็นกลุ่มอาการของโรคต่างๆ ที่เกิดกับหัวใจ ซึ่งส่งผลให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ โดยทั่วไปแล้วเมื่อเราพูดถึงโรคหัวใจ หลายคนก็มักคิดถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เป็นอันดับแรกๆ เพราะเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาโรคหัวใจ อีกทั้งในแต่ละปียังมีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจกว่า 40,000 คนเลยทีเดียว

6 ประเภทโรคหัวใจเชื่อมโยงไลฟ์สไตล์คนปัจจุบัน

6 ประเภทโรคหัวใจที่สำคัญและมีอาการแตกต่างกัน

1) ภาวะหัวใจล้มเหลว / หัวใจอ่อนกำลัง (Heart Failure)

ภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ได้หมายความว่า หัวใจจะหยุดทำงาน แต่เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ภาวะที่หัวใจอ่อนแอหรืออ่อนกำลังลง ทำให้การทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งปกติเป็นเรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น แต่ก็ยังมีวิธีต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยและแพทย์จะร่วมมือกันเพื่อช่วยให้หัวใจกลับมาทำงานได้ดีขึ้น

2) หลอดเลือดหัวใจตีบตัน

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยในผู้ใหญ่ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่จัด ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และการไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้มีการตีบตันในหลอดเลือด เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

อาการ เจ็บแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยง่าย จุกแน่น เสียดหรือแสบร้อนในบริเวณทรวงอก เหงื่อออก ใจสั่น เป็นลม อาจเป็นแบบฉับพลันและรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือที่เรียกว่า หัวใจพิบัติ (Heart Attack) ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม ถือเป็นภาวะวิกฤติที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน

 

3) ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หมายถึง ภาวะหัวใจเต้นเร็ว หรือช้ากว่าปกติ เนื่องจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ การนำไฟฟ้าหัวใจ หรือทั้ง 2 อย่างร่วมกัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจเกิดจากโรคหัวใจหลายชนิด เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การส่งกระแสลัดวงจร มีแผลเป็นหรือก้อนไขมัน ทำให้หัวใจมีจุดที่สร้างกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ

อาการ ใจสั่น หน้ามืด เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย หมดสติ หรือ หัวใจวาย ขึ้นกับอัตราเร็วของหัวใจเต้น ระยะเวลาที่เกิด รวมทั้งสาเหตุ อย่างไรก็ตามถ้าหัวใจบีบตัวได้ปกติ โอกาสเกิดหัวใจวายก็น้อย 

การรักษา ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทำได้โดยการรักษาด้วยยา เริ่มด้วยยาคลายเครียด ในกรณีที่จับความผิดปกติไม่ได้ แต่ถ้าพบความผิดปกติจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แพทย์อาจให้ยาต้านการเต้นผิดปกติกลุ่มต่าง ๆ หรือยาอื่น ๆ หรือใช้วิธีการจี้หัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าความถี่สูงเท่าคลื่นวิทยุและการฝัง เครื่องมือพิเศษ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด วิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหักโหม สูบบุหรี่ ดื่มน้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน แอลกอฮอล์ การรับประทานยาหรือฉีดยาที่กระตุ้นหัวใจ เป็นต้น

4) หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง

หลอดเลือดแดงใหญ่ในร่างกายมีหน้าที่นำเลือดแดงจากหัวใจส่งไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย  มีความยาวตั้งแต่ในช่องอกจากหัวใจไปจนถึงช่องท้อง ความผิดปกติที่ทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังหลอดเลือด ไม่ว่าจะเกิดจากความเสื่อมตามอายุหรือความผิดปกติอื่นใดก็จะมีผลทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นเกิดการโป่งพองและแตกออกได้  ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องและในช่องอก

5) หัวใจพิการแต่กำเนิด

เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดปกติของการเจริญเติบโตของหัวใจขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โรคหัวใจพิการที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการมีรูโหว่ที่ผนังกั้นภายในห้องหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบตันหรือรั่ว หลอดเลือดออกผิดจากตำแหน่งปกติ เป็นต้น สามารถวิเคราะห์ความผิดปกติได้ตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์มารดา โดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)

6) หัวใจรูห์มาติก

พบในเด็กอายุ 7-15 ปี สัมพันธ์กับการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเบตาฮีโมไลติก สเตร็ปโตคอคคัสที่ลำคอ ซึ่งทำให้คออักเสบ ไข้สูง ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคนี้ ถ้าได้รับเชื้อโรคนี้ซ้ำอีกจะเกิดอาการอักเสบที่หัวใจ โดยเฉพาะลิ้นหัวใจ ปวดบวมที่ข้อ และมีผื่นที่ลำตัว ในรายที่เป็นมากทำให้หัวใจวาย และเสียชีวิตได้ ถ้ามีอาการอักเสบซ้ำหลาย ๆ ครั้งจะเกิดพังผืดขึ้นที่ลิ้นหัวใจจนเปิดไม่เต็มที่หรือปิดไม่สนิท ทำให้ลิ้นหัวใจตีบแคบลงหรือรั่ว

6 ประเภทโรคหัวใจเชื่อมโยงไลฟ์สไตล์คนปัจจุบัน

อาการโรคหัวใจในเด็ก 
อาการที่พบบ่อยในเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจทั้งโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคหัวใจเด็กที่เกิดภายหลังคลอด ได้แก่
•  ดูดนมแล้วเหนื่อยง่าย
•  หายใจเร็วกว่าปกติ บางรายมีอาการคล้ายหอบหลังออกกำลังกาย
•  เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
•  น้ำหนักตัวไม่ค่อยเพิ่ม เลี้ยงไม่ค่อยโต หรือเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ
•  หัวใจเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ
•  เป็นหวัดบ่อยหรือปอดบวมบ่อยกว่าปกติ
•  ในบางรายมีตัวเขียวมาแต่กำเนิด หรือเขียวในช่วงหลัง
 

ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่โยงใย “สุขภาพหัวใจ” โดยตรง

ในอดีตโรคหลอดเลือดหัวใจ มักเกิดในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันเราพบว่าหนุ่มสาววัยทำงานนั้นมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น

  • การกินอาหารฟาสต์ฟู้ด หรืออาหารตามสั่งที่มักมีไขมันสูง
  • การทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และติดการใช้โทรศัพท์มือถือ
  • การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ขาดการออกกำลังกาย
  • เรื่องของความเครียด
  • การพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพ

ยิ่งหากใครที่สูบบุหรี่หรือชอบปาร์ตี้ดื่มเหล้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้นไปอีก

ส่วนปัจจัยที่นอกเหนือจากพฤติกรรมก็มีอยู่บ้าง เช่น เรื่องของโรคประจำตัวและพันธุกรรม ซึ่งหากใครมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือแม้แต่ตนเองเป็นโรคเบาหวาน หรือมีภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่นกัน

สัญญาณเตือน “โรคหัวใจ” หรือ “หลอดเลือดหัวใจตีบ” ที่ต้องสังเกต

  • เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง เดินเร็วๆ หรือออกกําลังกาย
  • หายใจเข้าลำบาก อาจจะเป็นตลอดเวลา เป็นขณะออกกำลังกาย ตอนใช้แรงมากๆ หรือเป็นเฉพาะในเวลากลางคืนขณะพักผ่อน
  • เจ็บหน้าอกหรือแน่นบริเวณกลางอก เจ็บหน้าอกด้านซ้ายบริเวณหัวใจหรือทั้ง 2 ข้างจนไม่สามารถนอนราบได้ตามปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจและอึดอัดตรงหน้าอก
  • หายใจหอบ จนบางครั้งต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึก
  • เป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ขาหรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำ

6 ประเภทโรคหัวใจเชื่อมโยงไลฟ์สไตล์คนปัจจุบัน

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น “โรคหัวใจ” แล้วหรือยัง?

การจะรู้ว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่านั้น จะต้องเข้ารับการตรวจด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้ประกอบกันตามความจำเป็น เช่น

  1. ซักประวัติ สอบถามอาการและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่น่าสงสัย
  2. ตรวจร่างกายในทุกระบบที่เกี่ยวข้อง ฟังการเต้นของหัวใจ ตรวจระดับไขมันและหินปูนในหลอดเลือด
  3. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) โดยใช้สื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กมาติดตามที่หน้าอก แขนและขา โดยคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะแสดงออกมาเป็นกราฟ ซึ่งแพทย์จะอ่านผลและวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้
  4. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) คือการให้ผู้เข้ารับการตรวจเดินหรือวิ่งบนสายพานเพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นแรงขึ้น ผลจะแสดงออกมาเป็นกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  5. ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมทดสอบด้วยการวิ่งบนสายพาน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีปัญหาด้านการเดิน เป็นการตรวจเพื่อดูกายวิภาคของหัวใจ ความหนาของผนังหัวใจ การเคลื่อนที่และการบีบตัว ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจได้เกือบทุกประเภท
  6. ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Coronary Artery) เพื่อวิเคราะห์หาเส้นเลือดที่ตีบ-ตัน หรือความผิดปกติอื่นๆ ของหลอดเลือดหัวใจ เพราะการมีไขมันไปเกาะหลอดเลือดแดงนับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจวายเฉียบพลันจากการมีเส้นเลือดอุดตันได้ นอกจากนี้ยังทำให้เห็นการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ด้วย

หากตรวจแล้วพบข้อสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ การตรวจที่จะบอกได้แน่ชัดที่สุดว่ามีการตีบหรือใกล้ตันในจุดใด คือ การฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ ที่เรียกว่าการสวนหลอดเลือดหัวใจ นั่นเอง

ไม่อยากเป็น "โรคหัวใจ" ต้องเริ่มหันมาใส่ใจดูแลตัวเองอย่างจริงจัง

เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตส่งผลต่อสุขภาพหัวใจโดยตรง ดังนั้นเราควรปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

  1. เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็มจนเกินไป กินผัก ผลไม้ที่มีกากใยให้มากขึ้น โดยเลือกชนิดที่น้ำตาลไม่สูง
  2. ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโออย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ ช่วยลดไขมันเลว (LDL) และเพิ่มไขมันดี (HDL) ในหลอดเลือด
  3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะการมีน้ำหนักตัวมากเกินไปเป็นปัจจัยสำคัญในเกิดโรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
  4. งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความเสี่ยง
  5. ทำจิตใจให้แจ่มใส หากรู้ตัวว่ามีความเครียดควรรีบหาวิธีกำจัดอย่างเหมาะสม
  6. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
  7. เลือกตรวจสุขภาพประจำปีให้เหมาะสมตามช่วงวัยและความเสี่ยง

 

logoline