svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

ผลวิจัยพบ ’ติดโควิดซ้ำ’ เสี่ยงตายเพิ่ม 2 เท่า เป็นโรคหัวใจ 3 เท่า

14 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เป็นแล้วเป็นอีก!! งานวิจัยระบุ "ติดโควิดซ้ำ" เสี่ยงตายเพิ่ม 2 เท่า มีแนวโน้มเป็น ‘โรคหัวใจ’ ถึง 3 เท่า ปัญหาเกี่ยวกับปอด 3 เท่า และมีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติทางระบบประสาทมากกว่าผู้ที่ติดเชื้อเพียงครั้งเดียวถึง 60%

 

 

โควิด-19 เป็นแล้วเป็นอีก...เรื่องปกติใช่หรือไม่?

โดยปกติแล้ว ข้อมูลการติดเชื้อโควิดซ้ำๆ ก่อนหน้าที่จะมีโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเกิดขึ้นมา พบว่า ภายในระยะเวลา 1 เดือน หลังจากที่ได้รับเชื้อมาแล้วผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อมาจะยังไม่มีการติดเชื้อซ้ำ ภายใน 1 เดือน หรือ 4 สัปดาห์ แต่หากเลยระยะเวลาดังกล่าวแล้ว สามารถมีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำได้ โดยความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำจะมีเทียบเท่ากันกับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ประกอบกับการได้รับวัคซีน จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยพบว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับเข็มที่ 3 หรือ เข็มที่ 4 จะสามารถช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากโควิด-19 ได้ 2-3 เท่า (อ้างอิงข้อมูลจาก: วารสารทางการแพทย์นิว อิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซิน, ประเทศอิสราเอล)

ผลวิจัยพบ ’ติดโควิดซ้ำ’ เสี่ยงตายเพิ่ม 2 เท่า เป็นโรคหัวใจ 3 เท่า

แต่สำหรับโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ได้มีการพบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการติดเชื้อซ้ำ โดยพบผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อซ้ำภายใน 1-2 เดือนแรกหลังจากที่ได้รับเชื้อมา โดยวิธีในการพิสูจน์การติดเชื้อซ้ำ ดูได้จากค่า CT (Cycle threshold) หรือค่าการเพิ่มของสารพันธุกรรมไวรัสโควิด จากการตรวจ RT-PCR พบว่า มีค่าลดลงและมีอาการขึ้นมาใหม่ จากเดิมที่ผู้ป่วยไม่มีไข้ กลับมามีไข้สูงอีกครั้ง โดยจากการศึกษาข้อมูลทั่วโลกพบว่า มรการติดเชื้อซ้ำได้ภายใน 1-2 เดือนแรก มากถึง 10-20 เปอร์เซ็นต์

 

วิเคราะห์สาเหตุ ติดโควิด-19 เป็นแล้วเป็นอีกเพราะเหตุใด?

 

ผลวิจัยพบ ’ติดโควิดซ้ำ’ เสี่ยงตายเพิ่ม 2 เท่า เป็นโรคหัวใจ 3 เท่า

ติดโควิดครั้งแรก เชื้อน้อย อาการไม่รุนแรง

หากการติดเชื้อครั้งที่ 1 มีปริมาณเชื้อไวรัสน้อยและมีอาการของโรคไม่รุนแรง อาจจะมีระดับภูมิคุ้มกันที่ไม่สูงพอที่จะต้านเชื้อไวรัส เมื่อไปสัมผัสเสี่ยงกับผู้ที่มีปริมาณเชื้อไวรัสมาก จึงอาจติดโควิดรอบสองได้
 

หลังติดโควิดแล้วภูมิคุ้มกันลดลง

ผู้ที่หายดีจากการติดเชื้อโควิดรอบแรก หากระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันไม่ได้ดีนัก ภูมิขึ้นไม่เยอะ หรือภูมิลดอย่างรวดเร็วอาจ ก็สามารถติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ได้ ส่วนคำถามที่ว่าติดโควิดแล้วมีภูมิกี่เดือน โดยปกติแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันควรจะสามารถป้องกันได้อย่างน้อย 3-6 เดือน
 

เกิดจากการติดโควิดคนละสายพันธ์ุ

เชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กัน อาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันป้องกันได้ไม่ดีนัก เช่น ในการติดเชื้อครั้งที่ 1 เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1 ของ Omicron (โอมิครอน) ต่อมาติดสายพันธุ์ย่อยที่สอง คือ BA.2 ภูมิคุ้มกันในการต้าน Omicron อาจต้านสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้ไม่ดีนัก จึงมีโอกาสติดเชื้อครั้งที่ 2 ได้

ผลวิจัยพบ ’ติดโควิดซ้ำ’ เสี่ยงตายเพิ่ม 2 เท่า เป็นโรคหัวใจ 3 เท่า

กลุ่มเสี่ยงติดโควิดซ้ำ

  1. ผู้ที่ผ่านการติดเชื้อรอบแรกมาแล้ว 3-6 เดือน ภูมิต้านทานลดลงเท่าผู้ที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน
  2. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  3. ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ
  4. ผู้ที่ลดมาตรการการป้องกันตัวเอง
  5. ผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19
  6. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยที่ต้องล้างไต
  • ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก
  • ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยากดภูมิ
  • ผู้ป่วย HIV (ที่มี CD4 ต่ำกว่า 200 / ผู้ป่วยขาดยา)

 

 

การติดโควิดซ้ำกับงานวิจัยล่าสุด

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อ รวมทั้งผู้เสียชีวิตลดลง แต่ด้วยนโยบายด้านการป้องกันโควิดที่ผ่อนคลาย ก็ทำให้คนที่เคยติดเชื้อโควิด มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ซึ่งพบแล้วหลายตัวอย่าง แม้อาการจะไม่รุนแรง แต่ผลวิจัยล่าสุด กลับพบว่า ผู้ที่ "ติดโควิดซ้ำ" เสี่ยงตายสูงกว่า คนที่เคยติดโควิดครั้งแรกถึง 2 เท่า

ผลวิจัยพบ ’ติดโควิดซ้ำ’ เสี่ยงตายเพิ่ม 2 เท่า เป็นโรคหัวใจ 3 เท่า

โดยวารสาร Nature Medicine ตีพิมพ์ผลการศึกษาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลของกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ ที่รวบรวมตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม - 6 เมษายน 2565 มีกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด 1 ครั้ง จำนวน 443,588 คน และติดเชื้อตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป จำนวน 40,947 คน และมีประมาณ 5,300,000 คน ที่ยังไม่ติดเชื้อโควิด-19

ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ติดโควิดซ้ำมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนติดโควิดครั้งแรกถึง 2 เท่า และยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล มากกว่าคนที่ติดเชื้อโควิดเพียงครั้งเดียวถึง 3 เท่า

 

ดร.ซิยาด อัล-อะลี จาก Washington University School of Medicine ในเซนต์หลุยส์ ระบุว่า การติดโควิดซ้ำ เพิ่มความเสี่ยงทั้งแบบเฉียบพลันและลองโควิด นอกจากนี้ ผลการศึกษายังระบุว่า ผู้ติดเชื้อโควิดซ้ำ ยังมีความเสี่ยงสูงที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอด หัวใจ เลือด ไต เบาหวาน สุขภาพจิต กระดูก และกล้ามเนื้อ และความผิดปกติของระบบประสาท

ทั้งนี้ ผลการวิจัย ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิดซ้ำมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับปอดมากกว่าคนติดโควิดครั้งเดียวถึง 3 เท่า มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติทางระบบประสาท มากกว่าผู้ที่ติดเชื้อเพียงครั้งเดียวถึง 60% และผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่สูงในช่วงเดือนแรกหลังการติดเชื้อซ้ำ และยังมีอาการปรากฏเด่นชัดในอีก 6 เดือนข้างหน้าด้วย

จึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่าการติดโควิดซ้ำ ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะจะส่งผลเสียต่ออวัยวะในร่างกาย เช่น ไวรัสจะไปทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายอักเสบ เสี่ยงทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์สมอง เซลล์ประสาท ถุงลมปอด หรืออวัยวะอื่น ๆ จึงควรระมัดระวังตัวไม่ให้ติดโควิด-19 จะส่งผลดีต่อร่างกายของเราที่สุด

 

 

logoline