svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

BMI ไม่เกิน แต่รอบเอวไม่ผ่าน ด่านคัดกรองโรคอ้วนแบบใหม่

29 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"อ้วนซ่อนรูป" เมื่อค่าดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ขนาดรอบเอวเกินปกติ สองความต่างตัวกลางชี้วัด “โรคอ้วน” โรคที่นำมาซึ่งภัยเสี่ยงสุขภาพรอบด้าน

การคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคอ้วนใหม่  ไม่ใช้เฉพาะ “ดัชนีมวลกาย” เพียงอย่างเดียว

ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พบว่า สัดส่วนประชากรที่มีค่าดัชนีมวลกาย อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่มีรอบเอวเกิน เมื่อใช้เกณฑ์รอบเอวปกติน้อยกว่าส่วนสูงหารสอง เท่ากับ 4.9% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนที่มีดัชนีมวลกายปกติ ก็มีรอบเอวเกินได้

ดังนั้น การประเมินสุขภาพเบื้องต้นโดยใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกายเพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคอ้วนได้ทั้งหมด สาธารณสุขจึงได้กำหนดเกณฑ์การประเมิน และเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ เพื่อส่งเสริมให้คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ มีภาวะโภชนาการดี และสุขภาพดี พร้อมทั้งขับเคลื่อนการใช้เกณฑ์การประเมิน 2 เกณฑ์ คือ 1.ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และ 2.ค่ารอบเอวปกติไม่เกินส่วนสูงหารสอง จะสามารถบ่งชี้ภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจได้แม่นยำมากขึ้น

“ค่าดัชนีมวลกายสำหรับคนเอเชียที่อยู่ในวัยทำงาน และผู้สูงอายุยังคงใช้เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก คือค่าปกติอยู่ระหว่าง 18.5-22.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ส่วนเกณฑ์รอบเอวจะใช้รอบเอวปกติ ต้องไม่เกินส่วนสูงของตนเองหารด้วยสอง โดยใช้ร่วมกันทั้งคนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ”

BMI ไม่เกิน แต่รอบเอวไม่ผ่าน ด่านคัดกรองโรคอ้วนแบบใหม่

2 เกณฑ์วัดโรคอ้วน

การวัดรอบเอวระดับสะดือ 

  • ผู้ชาย ไม่เกิน 36 นิ้ว หรือ 90 เซนติเมตร 
  • ผู้หญิง ไม่เกิน 32 นิ้ว หรือ 80 เซนติเมตร 

BMI = (น้ำหนักตัว [กิโลกรัม] ÷ ส่วนสูง [เมตร] ยกกำลังสอง) 

  • <18.5 = น้ำหนักน้อย 
  • 18.5 – 22.9 = น้ำหนักปกติ 
  • 23.0 – 24.9 = น้ำหนักเกิน 
  • 25.0 - 29.9 = อ้วน 
  • >30 = อ้วนมาก 

การวัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI) โดยนำน้ำหนักตัวหารส่วนสูงยกกำลังสอง ค่าที่ออกมาบางกลุ่มไม่เกินเกณฑ์ที่บ่งชี้ว่า “อ้วน” แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ไขมันรอบเอวที่อยู่ในช่องท้อง ซึ่งเป็นปัญหาต่อสุขภาพ ทั้งภาวะอ้วน รวมถึงเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง บางคนอาจจะไม่รู้ตัว และส่งผลต่อความรุนแรงของโรคจนต้องนอนโรงพยาบาลหรืออาจถึงขั้นพิการ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลลุกลามจนต้องตัดอวัยวะ  ไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก เป็นต้น  การปรับเกณฑ์ด้วยการคิดค่าดัชนีมวลกายร่วมกับรอบเอวต้องไม่เกินส่วนสูงหารสอง ถือเป็นการป้องกันและตรวจจับความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดโรค

 

BMI ไม่เกิน แต่รอบเอวไม่ผ่าน ด่านคัดกรองโรคอ้วนแบบใหม่

ไทยป่วย “โรคอ้วน” อันดับ 2 ในอาเซียน

ภาวะน้ำหนักเกินหรือ “โรคอ้วน” ถือเป็นภัยเงียบในร่างกาย ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคอ้วนมากถึงประมาณ 9% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากมาเลเซีย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อนาคตในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ประชาชนจะเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิตสูง

"ผู้ที่มีตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ทุกๆ ค่าดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้นครั้งละหนึ่ง จะทําให้ผู้ป่วยมีอายุขัยเฉลี่ยลดลง 8-10 ปีเทียบกับคนน้ำหนักปกติ ซึ่งในทางการแพทย์จะแนะนำให้ลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย"

 

โรคอ้วน ส่งผลเสียอย่างไร

หลังจากที่เรามีน้ำหนักตัวมากขึ้น และต้องแบกน้ำหนักทำงานต่างๆ แน่นอนว่ากระดูก กล้ามเนื้อ ทำงานหนักมากขึ้น การใช้ชีวิตประจำวันยากลำบากมากขึ้น พออ้วนมากในระดับหนึ่ง ร่างกายจะมีภาวะดื้ออินซูลิน ไขมันทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินแย่ลง ผลที่ตามมา คือระดับน้ำตาลในเลือดมาก ส่งผลสู่ “โรคเบาหวาน” ทั้งยังเกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น ภาวะอ้วน โรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ น้ำหนักตัวมากทำให้เวลานอนไม่สามารถหายใจได้ตามปกติที่ควรจะเป็น เกิดภาวะหายใจน้อยหรือหยุดหายใจ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดการอักเสบในหลอดเลือด สู่ภาวะสูญเสียต่างๆ ที่ตามมา

ขณะเดียวกัน โรคความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดแข็ง ความดันโลหิตสูง เกิดโรคเบาหวาน และไขมันเกาะตับตามมาได้ ภาวะอ้วน จริงๆ ดูเหมือนทั้งเหตุและผลของโรคต่างๆ และโรคต่างๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะอ้วนตามมา และโรคอ้วนก็ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาเช่นกัน

ความอ้วน กับอาการปวดข้อ ปวดเข่า

ปัญหาของผู้ป่วยกลุ่มหนึ่ง คือผู้ป่วยที่มีภาวะเข่าเสื่อม ซึ่งจะเริ่มเสื่อมอายุ 55 ปี ในผู้ป่วยโรคอ้วนจะมีเข่าเสื่อม หากดัชนีมวลกายเกิน 30 ขึ้นไป จะมีความเสี่ยงในการเกิดเข่าเสื่อมมากกว่าคนปกติ 7 เท่า และทุกดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้น 5 จะมีความเสี่ยงเข่าเสื่อม 35% เมื่อเราอ้วน บริเวณเข่าจะรับภาระเยอะ ทำให้กระดูกข้อเข่าเสื่อม หากน้ำหนักเยอะก็จะเสื่อมเร็วกว่าคนทั่วไป

BMI ไม่เกิน แต่รอบเอวไม่ผ่าน ด่านคัดกรองโรคอ้วนแบบใหม่

ค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับเพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

หากคำนวณค่าใช้จ่ายในการรักษาแต่ละโรคที่อาจเกี่ยวโยงกับโรคอ้วน พบว่า

  • โรคมะเร็งลำไส้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาราว 250,000 - 450,000 บาท
  • โรคมะเร๋งเยื่อบุโพรงมดลูก ราว 100,000 - 300,000 บาท
  • โรคไขมันอุดตัน ราว 150,000 - 250,000 บาท
  • โรคหลอดเลือดในสมอง ราว 600,000 - 800,000 บาท

รักษาโรคอ้วนได้ เบาหวาน ความดัน จะดีขึ้น

โรคอ้วนกับเบาหวานความดันเป็นของคู่กัน คนเป็นโรคอ้วน 30% จะพบเบาหวานร่วมด้วย และ 50% มีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย เมื่อดูในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน มากกว่า 90% มีภาวะน้ำหนักเกิน เพราะฉะนั้น โรคอ้วนกับเบาหวานเป็นของคู่กัน

"เวลาเรามีภาวะโรคอ้วน ไขมันเยอะ ทำให้มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินทำงานไม่ดี น้ำตาลในเลือดสูง ยิ่งมีไขมันในเลือดเยอะ หลอดเลือดไม่ดี ทำให้ความดันโลหิตสูง ดังนั้น คนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วน ก็จะมีภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูงได้ง่าย เวลาเรารักษาโรคอ้วน อาการต่างๆ ที่เกิดจากเบาหวาน ความดันก็จะดีขึ้น"

 

ความอ้วนกับการมีลูกยาก

ความอ้วนที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตร พอเราน้ำหนักตัวเยอะมากขึ้น จะมีไขมันสะสมในร่างกาย เป็นสารตั้งต้นทำให้ลักษณะฮอร์โมนเพศชายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้หน้ามัน สิวขึ้น มีขนดกมากขึ้น หากเป็นหนักๆ ฮอร์โมนเพศชายมากขึ้นทำให้ไข่ไม่ตก ประจำเดือนไม่มา หรือมาบ้างไม่มาบ้าง ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ลดน้ำหนัก

"ขณะเดียวกัน สำหรับคนอ้วนก็สามารถท้องได้ แต่จะมีความเสี่ยงสูง ดังนั้น ควรต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม ให้ร่างกายดีในระดับหนึ่งเพื่อให้การตั้งครรภ์ปลอดภัยทั้งแม่และลูก"

ลดความอ้วนอย่างไร ไม่ให้เกิดอันตราย

ข้อมูลจากศูนย์สุขภาพแนวหน้ารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การลดน้ำหนัก ประกอบด้วยการคุมอาหารและออกกำลังกาย หรืออาจพิจารณาใช้ยาลดน้ำหนักร่วมด้วย สําหรับการผ่าตัดลดน้ำหนัก แพทย์จะใช้เฉพาะผู้มีดัชนีมวลกาย ≥ 40 กก./เมตรยกกำลัง 2 หรือ เกิน 35 กก./เมตรยกกำลัง 2  ที่มีภาวะโรคเรื้อรังจากความอ้วน ( obesity related comorbidities) ร่วมด้วย

“หากลดแคลอรี่จากอาหารที่รับประทานลงวันละประมาณ 500 กิโลแคลอรี่  จะสามารถลดน้ำหนักได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ ครึ่งกิโลกรัม หรือ 1-2  กิโลกรัมต่อเดือน"

สำหรับสูตรอาหารลดน้ำหนักมีหลายชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพลดน้ำหนักในระยะสั้นแตกต่างกัน แต่ในระยะยาว ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักคล้ายคลึงกัน หากสามารถปฏิบัติได้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ หากจะลดน้ำหนักโดยใช้สูตรลดแป้ง หรือโลว์คาร์บ (low carbohydrate) และสูตรอาหารคีโตเจนิค (ketogenic diet) เนื่องจากอาจมีความจําเป็นต้องปรับยาเบาหวาน เพื่อลดการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ และเฝ้าระวังการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (DKA) โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และให้สังเกตดู เมื่อลดน้ำหนักโดยควบคุมอาหารไปสักระยะหนึ่ง น้ำหนักจะลดช้าลง เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อลดลง  การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และไม่ให้น้ำหนักกลับเพิ่มขึ้นอีก หรือที่เรียกว่าภาวะ “โยโย่”   

ที่อยากแนะนำเพิ่มเติมคือ การออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ซึ่งทำได้ง่ายๆ โดยการเดินเพิ่มขึ้น อาจเดินพื้นราบ เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อน  ถีบจักรยานระยะทางสั้นๆ นอกจากออกกำลังกายแล้ว ยังลดมลภาวะจากน้ำมันรถได้อีกด้วย

 

logoline