svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

PM 2.5 มลภาวะทางอากาศกับผลกระทบต่อดวงตา

22 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มากกว่าแค่ฝุ่นเข้าตา เมื่อ PM 2.5 กระทบสุขภาพดวงตาโดยตรง ทั้งแสบตา คันตา เคืองตา นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นตัวการก่อ 4 โรคตาที่พบบ่อยในปัจจุบัน

มลพิษในอากาศนั้นมีอยู่ทั่วไปและมีมานาน แต่ในหลายปีมานี้เราจะสังเกตได้ชัดว่าบรรยากาศในท้องฟ้าจะมีสภาพที่ขุ่นมัวบ่อยขึ้น ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ที่มีค่าสูงมากกว่าปกติ อันตรายของฝุ่นชนิดนี้นอกจากจะทำร้ายปอดของเราแล้ว ยังส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ และกับดวงตาของเราอีกด้วย

PM 2.5 มลภาวะทางอากาศกับผลกระทบต่อดวงตา

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร? มาจากไหน?

ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีความละเอียดมาก โดยมีขนาดเล็กกว่า 2.5 micrometers เมื่อมีการสูดเข้าไปสู่ปอดก็จะสามารถแทรกซึมเข้าไปในเส้นเลือดฝอยได้ง่าย และกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ได้ โดยฝุ่นชนิดนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • จากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยควันพิษหรือสารเคมี
  • จากการเผาวัสดุการเกษตร
  • จากมลพิษที่เกิดจากการใช้รถยนต์, มอเตอร์ไซด์, และระบบขนส่ง
  • จากการเผาไหม้ขยะ, ไฟป่า และการสูบบุหรี่
  • จากการผลิตไฟฟ้าที่ต้องใช้เชื้อเพลิง

PM 2.5 มลภาวะทางอากาศกับผลกระทบต่อดวงตา อันตรายจาก PM 2.5

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก หรือ WHO (The World Health organization) ได้จัดให้ PM 2.5 เปรียบเสมือนสารก่อเกิดมะเร็ง ( Carcinogen) อย่างหนึ่ง และหากเราหายใจในสภาพอากาศที่มีฝุ่นชนิดนี้อยู่มาก นานวันเข้าก็ทำให้เกิดอันตรายและเกิดโรคต่างๆ ได้อีกมาก เช่น

  • โรคเยื่อบุตาอักเสบ
  • ภูมิแพ้ที่ตาเรื้อรัง
  • โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
  • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
  • มีอันตรายต่อเด็กในครรภ์
  • โรคหลอดเลือดในสมอง
  • โรคหัวใจขาดเลือด
  • โรคผิวหนังอักเสบ
  • โรคภูมิแพ้
  • โรคสมาธิสั้นและสมองพัฒนาการช้าในเด็ก
  • หากสูดเข้าปอดเป็นเวลานานหลายปี ก็จะเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งปอด และมะเร็งอื่นๆ ได้

PM 2.5 มลภาวะทางอากาศกับผลกระทบต่อดวงตา

ฝุ่น PM 2.5  ก่อ 4 โรคเกี่ยวกับดวงตาที่พบบ่อย

1.ทำให้เกิดโรคเยี่อบุตาขาวอักเสบ หรือโรคตาแดงเรื้อรัง จนทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียแทรกซ้อนเพราะเยี่อบุตาขาวอ่อนแอ

2.ทำให้เกิดโรคกระจกตาอักเสบ และหากขยี้ตาจะส่งผลให้กระจกตาถลอกได้ง่าย เนื่องจากกระจกตาอ่อนแอ

3.ทำให้เกิดโรคเยื่อบุตาเป็นภูมิแพ้เรื้อรัง ในคนที่มีภูมิแพ้จมูกอยู่แล้วจะทำให้ภูมิแพ้ตากำเริบมากขึ้น จะมีอาการตาแดง เคืองตา คันตา เปลือกตาบวม มีขี้ตาเป็นเมือกสีขาว

4.ทำให้เกิดอาการตาแห้ง สัมพันธ์กับโรคต้อเนื้อ ต้อลม อาการจะเป็นมากขึ้น

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็นอันตรายเมื่อได้รับฝุ่น PM 2.5

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงและมักได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 มากกว่าคนทั่วไป คือ

  • กลุ่มเด็กเล็ก
  • กลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว และแน่นหน้าอก
  • กลุ่มหญิงตั้งครรภ์
  • กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ที่ตา โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้จมูก โรคภูมิแพ้ผิวหนัง และโรคของภูมิต้านทานบกพร่อง

การดูแลและการป้องกันอันตรายจาก PM 2.5

  1. ใส่แว่นตาป้องกันฝุ่นและลมทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร
  2. ใส่หน้ากากอนามัยปิดจมูกและปิดปากทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร หากใช้หน้ากาก N95 ก็จะป้องกันได้ดีกว่าหน้ากากธรรมดา
  3. ใช้สายตา 30 นาทีและพักสายตา และทุกๆ การจ้องมองจอโทรศัพท์มือถือนานติดต่อกันเกิน 10 นาที ควรพักสายตาเพื่อลดอาการตาแห้ง ปวดตา
  4. หยอดน้ำตาเทียมวันละ 4 ครั้ง ในกลุ่มที่มีอาการตาแห้งอาจหยอดทุก 2 ชั่วโมง
  5. ไม่ควรล้างตาบ่อยๆ เพราะจะทำให้ตาแห้งมากขึ้น หากต้องการล้างตาให้ใช้น้ำตาเทียมล้างแทน
  6. ดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดอาการตาแห้ง
  7. ทำความสะอาดบ้านให้ปลอดจากฝุ่น ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด
  8. ไม่ควรออกนอกบ้าน หรือทำกิจกรรมนอกบ้านในวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
  9. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานผักและผลไม้ที่ให้วิตามิน เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน หรือกินวิตามินเสริมอย่างวิตามิน C และ E
  10. หากพบว่าตาอักเสบไม่หาย หรือร่างกายมีความผิดปกติควรไปพบแพทย์ ไม่ควรรอให้มีอาการมาก เพราะจะทำให้การรักษายากขึ้น

 

logoline