svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

‘กินอาหารเป็นยา’ ภูมิปัญญาที่ไม่มีวันเอาท์

03 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โชคดีของคนไทย เมื่อบรรพบุรุษใช้ประโยชน์จากพืชผักและสมุนไพรท้องถิ่นในการทำอาหารและยา ต่อยอดเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจวบจนปัจจุบัน

 

“กินข้าวเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินปลาเป็นอาหาร”

คำสอนของคนในอดีตที่บอกต่อกันมา แม้จะหาจุดเริ่มต้นไม่ได้ แต่คำกล่าวนี้ยังคงใช้ได้เรื่อยมา และยิ่งต้องสร้างความตระหนักรู้มากขึ้นในยุคที่อาหารมีให้เลือกมากมาย แถมยังสั่งเหมือนเสกได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

พฤติกรรมข้างต้นนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพ โรคยอดฮิตของคนไทยจึงหนีไม่พ้น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคไขมันในเลือด ที่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร

แต่นับว่าโชคดีที่ประเทศไทยอุดมด้วยพืชพันธุ์หลากหลาย มีความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร ซึ่งบรรพบุรุษใช้ประโยชน์จากพืชผักและสมุนไพรท้องถิ่นในการทำอาหารและยา กลายเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่สืบทอดกันเรื่อยมา

สังเกตอย่างไรว่ารสชาติไหนเป็นยา

พืชผักชนิดไหนเป็นยาให้ดูที่ “รสผัก” เริ่มจากผักที่มี “รสฝาด” อย่างกล้วยดิบ ยอดเม็ก มะเดื่อ ช่วยรักษาแผล แก้ท้องเสีย ท้องอืด

“ผักรสเปรี้ยว” อย่างหมากแปม ผักติ้ว มะดัน ช่วยขับเสมหะ บำรุงปอด กระตุ้นต่อมน้ำลายช่วยให้เจริญอาหาร

“ผักรสหวานอ่อน” อย่างดอกขจร ดอกข้าวสาร ผักหวานบ้าน ผักหวานป่า ช่วยบำรุงกำลัง

‘กินอาหารเป็นยา’ ภูมิปัญญาที่ไม่มีวันเอาท์

“ผักรสขม” อย่างลูกยอดิบ บอระเพ็ด มะระ ผักขี้ขวง ช่วยบำรุงตับ แก้เลือดเป็นพิษ ถอนพิษเบื่อเมา

“ผักกลิ่นหอมเย็น” อย่างเตย ผักบุ้งไทย ช่วยให้สดชื่น แก้หน้ามืดตาลาย

“ผักรสมัน” อย่างสะตอ ลูกเหรียง พาโหม ขนุนอ่อน ถั่วพู ฟักทอง ช่วยบำรุงกระดูก แก้เส้นเอ็นเคล็ดขัดยอก

“รสเผ็ดร้อน” อย่างขิง ข่า กระชาย ช่วยขับพิษ บำรุงปอด

กินให้สมดุล อาหารก็เป็นยาได้

แม้ว่าทุกมื้ออาหารเราจะไม่ได้เลือกทานพืชผักและสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางยาโดยตรง แต่ก็ยังสามารถบริโภคอาหารให้เป็นยาได้ง่ายๆ เพียงทานให้สมดุล เช่น “ข้าวผัดกระเพรา” ให้เลือกใส่น้ำมันน้อยๆ เน้นเนื้อสัตว์ที่เป็นโปรตีน อย่างไก่ หมู เนื้อแดง ปลา เติมผักอย่างหอมใหญ่ ถั่วฝักยาว กินคู่กับข้าวกล้อง หรือข้าวก่ำ เมนูน้ำพริกกะปิ ที่ได้โปรตีนจากกะปิ เสริมคุณประโยชน์ด้วยพริก กระเทียม มะนาว กินกับผักสด ผักลวก แบบนี้เรียกว่ากินแบบสมดุล กินยังไงก็สุขภาพดี

 

กินอาหารเข้าคู่ ช่วยชูรสชาติ

ในตำราหมอยาไทย แนะนำหากกินแกงเลียงที่มีฤทธิ์ร้อน ให้ใส่ผักฤทธิ์เย็น อาทิ บวบ ฟักทอง แกงกะทิให้เติมมีมะเขือพวง เพราะกะทิมีคอเรสเตอรอล ส่วนมะเขือพวงช่วยลดคอเรสเตอรอล

‘กินอาหารเป็นยา’ ภูมิปัญญาที่ไม่มีวันเอาท์

3  กลุ่ม ผัก ผลไม้ สมุนไพร กินเสริมภูมิต้านทาน

  • กลุ่มที่ 1 มีสารสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ กะเพรา, หอมแดง, หอมหัวใหญ่, มะรุม, พลูคาว, ใบหม่อน, แอปเปิล, เปลือกของพืชตระกูลส้ม (ส้ม, มะนาว มะกรูด, ส้มซ่า)

 

  • กลุ่มที่ 2 เสริมภูมิคุ้มกัน ได้แก่ คะน้า, ใบเหลียง, ยอดสะเดา, มะระขี้นก, ดอกขี้เหล็ก, มะรุม, ฟักข้าว, ผักเชียงดา, ,ผักแพว, มะขามป้อม, ลูกหม่อน และผักผลไม้หลากสี

 

  • กลุ่มที่ 3 มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ เห็ด, พลูคาว ,ตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม)

 

แนะนำเมนูอาหารเป็นยา

ต้มยำเห็ด หอมแดงมีสารเคอร์ซีติน (quercetin) ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกาย เห็ด มีสารเบต้ากลูแคน ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ไม่ป่วยง่าย  น้ำมะนาว มีวิตามินซีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

 

แกงส้มมะรุม ช่วยลดคอเลสเตอรอล  รักษาโรคโลหิตจาง  บำรุงหัวใจ  ลดน้ำตาล  ลดไข้  แก้หวัด  บรรเทาอาการไอ  และมีสารเคอร์ซีติน ที่มีศักยภาพในการป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกาย  ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ  และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย 

 

เมี่ยงคำ อาหารว่างโบราณที่ใน  "กาพย์เห่ชมเครื่องว่าง"  ประกอบด้วยสมุนไพรทั้งใบชะพลู  ขิง   พริก   มะพร้าว  ถั่วลิสง  กุ้งแห้ง  และยังมีสมุนไพรต้านไวรัสอย่างหอมแดง และมะนาวหั่นทั้งเปลือก  ทั้งสองอย่างนี้มีสารเฮสเพอริดิน  สารรูติน และวิตามินซี  ช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย  ลดโอกาสการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ ได้ 

 

ต้มโคล้งปลากรอบ  ปลาช่อนแห้งอุดมด้วยแคลเซียม สมุนไพร ข่า, ตะไคร้, ใบมะกรูด , ต้นหอม , ผักชี , ผักชีฝรั่ง ,พริกขี้หนู, พริกขี้หนูแห้ง  หอมแดง มีสารสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส  เห็ดชนิดต่างๆ และมะนาว ซึ่งมีสารสำคัญ เช่น สารเคอร์ซีทิน เบต้ากลูแคน และวิตามินซี  ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ไม่ป่วยง่าย  มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพ

 

สะเดาน้ำปลาหวาน ปลาดุกย่าง ยอดสะเดาอุดมไปด้วยสารกลุ่มแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารกลุ่มเฟลโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง และมีวิตามินซีสูงด้วย  ทำให้ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย  แก้ไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล นับเป็นเมนูอาหารไทยที่อร่อยแถมยังดีต่อสุขภาพ

 

 

 

logoline