svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

“ปากายัน มลายู” ร่วมโชว์แฟชั่นวีค ลอนดอน!

21 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เทศบาลนครยะลา พาแฟชั่นอัตลักษณ์ท้องถิ่นโกอินเตอร์ นำชุด “ปากายัน มลายู” เข้าร่วมแสดงในงาน London Fashion Week กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หวังดันเสื้อผ้าแฟชั่นมลายูชายแดนใต้สู่สากล

21 กุมภาพันธ์ 2566 นายพงษ์ศักดิ์  ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ได้รับเชิญจาก ดร.ธีรวัฒน์ วงศ์วรทัต และ สถาบัน House of iKons โดยคุณ Savita Kaye ให้นำชุด ปากายัน มลายู ของเทศบาลนครยะลา จำนวน 9 ชุด ไปร่วมแสดงในงาน London Fashion Week เมื่อวันที่ 18 ก.พ.66 ณ โรงแรม Leonardo กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  ซึ่งได้รับความสนใจและกระแสชื่นชมจากผู้ร่วมงานอย่างมาก นับเป็นการนำ “ปากายัน มลายู” สู่สากล
        
โครงการปากายันมลายู มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พื้นที่เขตเทศบาลนครยะลาเป็นศูนย์กลางออกแบบ จำหน่ายแฟชั่นเสื้อผ้ามลายูชายแดนใต้ โดยเทศบาลนครยะลาผนึกกำลังกับผู้ประกอบการจำหน่ายผ้า นักออกแบบผ้า ดีไชน์เนอร์ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผลักดันพื้นที่ย่านตลาดเก่า และย่านการค้าในเขตเทศบาลนครยะลา ให้เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นมลายู เน้นออกแบบให้เป็นอัตลักษณ์ ทำแบรนดิ้ง เพื่อส่งขายในโลกมลายู 

“ปากายัน มลายู” ร่วมโชว์แฟชั่นวีค ลอนดอน!

 

นายพงษ์ศักดิ์ หรือ “นายกอ๋า” กล่าวว่า เมื่อตอนลงหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ได้พบว่า คนจากจังหวัดอื่นนิยมเข้ามาซื้อสินค้าที่เป็นผ้าพื้นเมืองของยะลาจำนวนมาก พอเดินเข้ามาหลังร้านก็มีการไลฟ์สดขายผ้าพื้นเมืองด้วย และมีผู้ที่สนใจเป็นจำนวนมากเช่นกัน จึงทำให้ขณะนั้นเกิดเป็นแนวคิดที่จะสร้างยะลาให้เป็น “ศูนย์กลางของแฟชั่นเสื้อผ้ามลายู” เพื่อเป็นการส่งเสริมสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ก็ได้คิดกว้างๆ ไว้ ซึ่งได้มองผ้าออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. ผ้าร่วมสมัย คือ ผ้าที่เราใส่กันทั่วไป

2. ผ้าพื้นเมือง คือ ผ้าบาติก ผ้าปะลางิง

3. ผ้าพระราชทาน ซึ่งเป็นผ้าไหม หรือที่เป็นลายพระราชทาน ซึ่ง พระองค์เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ได้ออกแบบลวดลายด้วยพระองค์เอง แล้วพระราชทานให้นักออกแบบผ้าพื้นเมืองประยุกต์ใช้

“ปากายัน มลายู” ร่วมโชว์แฟชั่นวีค ลอนดอน!

ขณะเดียวกัน การแต่งกายก็แบ่งออกเป็น 3 ประเภท เช่นกัน คือ

1. การแต่งกายร่วมสมัย

2. การแต่งกายพื้นเมือง 

3. การนำผ้าลายพระราชทานมาออกแบบ ผสมกับผ้าร่วมสมัย หรือผสมผ้าพื้นเมือง ให้สอดคล้องกับการแต่งกายที่เป็นพื้นเมือง หรือการแต่งกายที่เป็นร่วมสมัย

“ปากายัน มลายู” ร่วมโชว์แฟชั่นวีค ลอนดอน!
           
ทำให้ทางเทศบาลนครยะลาได้ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่อินโดนีเซีย ประจำจังหวัดสงขลา สถานกงสุลใหญ่มาเลเซีย ประจำจังหวัดสงขลา จัดการแข่งขันออกแบบลายผ้ามลายู เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตผ้าเป็นแบรนด์ดังของยะลาที่สามารถขายไปทั่วโลกมาร่วมประกวดการออกแบบ ดีไซน์ และตัดเย็บ ซึ่งทางด้านนักออกแบบผ้าในยะลา ได้นำเสนอความเห็นที่หลากหลาย เพื่อช่วยกันผลักดันให้เสื้อผ้าที่ผลิตโดยคนยะลาเป็นศูนย์กลางการออกแบบ การจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นเครื่องแต่งกายมลายู โดยใช้ชื่อว่า “ปากายัน มลายู” ที่แปลว่า “เครื่องแต่งกายตามอัตลักษณ์มลายู” อันเป็นจุดเด่นของสินค้าบ้านเราที่จะส่งจำหน่ายได้กว้างขึ้นในอนาคต

นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา กล่าวอีกว่า สำหรับชุดที่นำไปแสดงที่ประเทศอังกฤษในครั้งนี้ ทั้ง 9 ชุด เทศบาลนครยะลาได้คัดเลือกชุดที่ผ่านการประกวดในกิจกรรม “ปากายัน มลายู 2022” ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา  

ส่วนในปีนี้ เทศบาลนครยะลากำหนดจัดงาน “ปากายันมลายู ครั้งที่ 2” ในวันที่ 19-21 พ.ค.66 ณ พิพิธภัณฑ์เมืองยะลา พื้นที่ 94 ไร่ ถนนกรุงแสง หลังธนาคารออมสินสาขายะลา โดยจะมีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม และมีประกวดแข่งขันแฟชั่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมลายู เพื่อเป็นต้นแบบแฟชั่นเทศกาลฮารีรายอฮัจยีของปีนี้ และเป็นการส่งเสริมการค้าเสื้อผ้าแฟชั่นมลายูทั้งในตลาดมลายู ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และตลาดสากลต่อไป

 

logoline