svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

"สะตอ" เม็ดมัน กลิ่นฉุน คุณประโยชน์เพียบ

11 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สะตอข้าว-สะตอดาน-สะตอป่า ความเหมือนที่แตกต่างของผักพื้นบ้านภาคใต้ วัตถุดิบขายดีที่ถูกรังสรรค์เป็นเมนูจานอร่อย มาพร้อมกับคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมายกว่าที่คิด

ก่อนหน้านี้เราคงได้ยินข่าว นักท่องเที่ยวมาเลย์-สิงคโปร์ แห่ซื้อ 'สะตอ' กลับบ้าน กลายเป็นเรื่องที่นิยมกันในหมู่นักท่องเที่ยวช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ขากลับจะซื้อสะตอติดมือกลับบ้าน หลังเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาด ทำให้บรรดาเกษตรกรผู้ปลูกผู้ขายคึกคัก

"สะตอ" เม็ดมัน กลิ่นฉุน คุณประโยชน์เพียบ

รู้จักสะตอให้มากขึ้น

สะตอ หรือ Stink bean มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Parkia speciosa Hassk เป็นไม้ยืนต้นที่มีฝักแบนยาว มีกลิ่นฉุน โดยสะตอเป็นพืชท้องถิ่นและพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ มีถิ่นกำเนิดในประเทศเขตร้อน พบมากที่ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นพืชยืนต้นที่ลำต้นสูงได้มากถึง 30 เมตร ก่อนจะออกฝักสะตอจะมีตัวดอกออกมาก่อน เรียกว่า “สะตอหย่อนโหม่ง”  ซึ่งตัวดอกจะเป็นหัวกลมๆ สีเหลืองๆ พอตัวเกสรร่วงจนหมดดี สักพักตัวฝักก็จะออกตามมา ต้นสะตอจะเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป และจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ใช้ระยะเวลา 68-70 วัน เริ่มให้ผลผลิตครั้งแรกอายุ 4-7 ปี โดยในต้นหนึ่งๆ จะให้ผลผลิตได้ประมาณ 200-300 ฝัก และจะให้ฝักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีตามอายุ

ลักษณะของฝักสะตอจะมีสีเขียวแวววาว เมล็ดเรียงกันสวยงาม สะตอสามารถรับประทานได้ทั้งสุกและดิบ มีรสชาติดีและคุณค่าทางอาหารสูง จะออกฝักได้ดีในช่วงฤดูฝน

"สะตอ" เม็ดมัน กลิ่นฉุน คุณประโยชน์เพียบ

สะตอมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่

  1. สะตอข้าว มีลักษณะเด่นคือ ฝักบิดเป็นเกลียว เล็ก อาจเป็นฝักสั้นหรือยาว เนื้อ เมล็ดมีกลิ่นไม่ฉุนมาก เนื้อกรอบให้รสหวานมัน เปลือกบาง เหมาะที่จะเป็นผักเหนาะ  หลังจากปลูก 3-5 ปี จึงเริ่มติดฝัก 
  2. สะตอดาน ลักษณะเด่นคือ ฝักจะค่อนข้างแบนและตรง ไม่บิดเป็นเกลียวเหมือนสะตอข้าว ขนาดฝักใหญ่ เปลือกหนา เมล็ดใหญ่และเนื้อเมล็ดมีกลิ่นค่อนข้างฉุน ซึ่งฉุนมากกว่าสะตอข้าว รวมถึงเนื้อเมล็ดมีรสเผ็ด เนื้อค่อนข้างแน่นมากกว่าสะตอข้าว เหมาะสำหรับการทำแกง ผัดเผ็ดต่างๆ มากกว่า  หลังปลูกแล้ว 5-7 ปี จึงเริ่มติดฝัก
  3. สะตอแต หรือสะตอป่า เป็นสะตอที่พบได้ในป่าลึก ไม่ค่อยพบตามสวนหรือตามบ้านเรือน เพราะไม่นิยมปลูก แต่เชื่อว่าเป็นพันธุ์สะตอดั้งเดิมของสะตอข้าว และสะตอดาน ฝักมีลักษณะเล็กและสั้น เนื้อเมล็ดค่อนข้างแข็ง เนื้อให้รสไม่อร่อย

"สะตอ" เม็ดมัน กลิ่นฉุน คุณประโยชน์เพียบ

เมนูสะตอ

สะตอ นอกจากจะสามารถใช้กินเป็นผักแนมกินกับน้ำพริกแล้ว ยังนำมาประกอบอาหารจานเด็ด เช่น แกงกะทิ แกงส้ม โดยนิยมกินเมล็ดสดทั้งแกะเปลือกหุ้มเมล็ดหรือไม่แกะเปลือกหุ้มเมล็ด หรืออาจจะนำเมล็ดสะตอไปดัดแปลงโดยน้ำมาดอง ต้มหรือนำเอาทั้งฝักไปเผาไฟ เรียกว่า “ตอหมก” และปรุงอาหารอื่นๆ อาทิ สะตอผัดกะปิ คั่วกลิ้ง ผัดเผ็ด ต้มกะทิ เป็นต้น

 

คุณค่าทางโภชนาการของสะตอ (เฉพาะเมล็ด) 100 กรัม มีคุณค่าทางสารอาหาร ดังนี้

  • ให้พลังงาน 130 kcal
  • โปรตีน 8 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 16 กรัม
  • ไขมัน 4 กรัม

นอกจากนี้ สะตอยังเป็นผักที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูงมาก ทั้งยังอุดมด้วยธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซีอีกด้วย

คุณประโยชน์ของสะตอต่อร่างกาย

  • ช่วยให้เราเจริญอาหาร อยากทานอาหารมากขึ้น ยิ่งได้กินคู่กับอาหารรสจัดจ้าน คั่วกลิ้ง ผัดเผ็ด ส้มตำ ถ้าได้กินสะตอตัดรสไปด้วยเรื่อยๆ สำหรับเราข้าวจะเยอะแค่ไหนก็กินหมดสบายมาก
  • แคลเซียมและฟอสฟอรัสในสะตอ ช่วยส่งเสริมให้การทำงานของระบบประสาทเป็นไปอย่างปกติ ช่วยป้องกันกระดูกพรุน กระดูกเสื่อม
  • สะตอช่วยลดความดัน บำรุงหลอดเลือดและหัวใจให้แข็งแรง ลดโอกาสการเกิดตะคริว
  • เป็นแหล่งของไฟเบอร์เส้นใยอาหาร จึงช่วยกระตุ้นระบบย่อยและการขับถ่าย บรรเทาอาการท้องผูก
  • สะตอมีฤทธิ์ช่วยบำรุงไต ช่วยขับปัสสาวะ ลดอาการปัสสาวะกระปริบกระปรอย
  • มีฤทธิ์ช่วยขับลมในลำไส้ บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เพราะสะตอจะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้
  • สะตอช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา

เคล็ดลับลดกลิ่นปากหลังกินสะตอ

ทริคง่ายๆ ที่สามารถกำจัดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์หลังการกินสะตอ คือการกินมะเขือเปราะตามไปประมาณ 2-3 ลูก จะช่วยให้ในการดับกลิ่นเหม็นเขียวของสะตอได้ดีในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ในการบริโภคสะตอ ควรบริโภคให้พอเหมาะ เนื่องจากสะตอมีกรดยูริกสูง สำหรับผู้ที่เป็นโรคเก๊าต์ หรือผู้ที่มีกรดยูริกในร่างกายสูงเกินค่ามาตรฐาน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสะตอ เพราะอาจจะทำให้เกิดโรคเก๊าต์กำเริบได้ และกรดยูริกในร่างกายที่สูงก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่ว โรคไตอักเสบ และมีอาการหูอื้อ

logoline