svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คลิปเด็ด

สืบสวนความจริง : เขตป่าอนุรักษ์บนแผ่นดินทองคำ

11 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ จาก พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี เดินทางเข้าร้องนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้ตรวจสอบกรณี รัฐประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ส่อเอื้อประโยชน์บริษัทเหมืองทองคำ

แผ่นดินทองคำ ทำให้ชาวพิษณุโลก เดือดดาน หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมมอบอาชญาบัตรพิเศษสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำครอบคลุมลงไปบนที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชน ราว 3 แสนไร่ มาตั้งแต่ปี 2549 กระทั่งคำสั่งคสช.สั่งปิดเหมืองในปี 2560

 

23 มีนาคม 2565 ชาวบ้านทราบว่าผังเมืองจังหวัดพิษณุโลก กำหนดให้พื้นที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยเป็นสีขาวทะแยงเขียว หรือเป็นป่าอนุรักษ์ ทั้งที่ประชาชน อยู่อาศัยทำกินมายาวนานโดยได้รับสิทธิ์การเช่าทำประโยชน์ จากสหกรณ์ นิคมวังทอง มากว่า 20 ปี บางส่วนเป็นที่สปก.

 

สืบสวนความจริง : เขตป่าอนุรักษ์บนแผ่นดินทองคำ

 

การประกาศให้ที่ดินอยู่อาศัยทำกินของชาวบ้านกลับไปเป็นป่าอนุรักษ์ ผลทางกฎหมาย จะทำให้ชาวล้านขาดสิทธิในที่ดิน อยู่อาศัยทำกินเดิม และถ้าหากมีการบังคับใช้กฏหมาย ชาวบ้านจำนวนมากจะถูกดำเนินคดี และถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตนเอง

 

28 มีนาคม 2565 กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นำโดย อารมณ์ คำจริง และวันเพ็ญ พรมรังสวรรค์ พร้อมตัวแทนชาวบ้าน 5 จังหวัด ขอให้นายกรัฐมนตรี เร่งตรวจสอบกรณีกำหนดให้ที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนจำนวนมากกลับไปเป็นที่ดินของรัฐ หลังจากที่มีอาชญาบัตรพิเศษครอบคลุมลงไป อันจะส่งผลทำให้ที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนกลับไปเป็นที่ดินของรัฐ เพื่อง่ายแก่การอนุญาตให้บริษัทเหมืองทองคำ ขอใช้ที่ดินจากรัฐ

 

สืบสวนความจริง : เขตป่าอนุรักษ์บนแผ่นดินทองคำ

กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ยังได้เดินทางไปยื่นทวงถามความชัดเจนจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ ทับลงไปบนที่ดินอยู่อาศัยทำกินของชาวบ้าน และอาจมีคำขอประทานบัตร ทับลงไปบนที่ดินอยู่อาศัยทำกินของชาวบ้าน รวมถึงขอให้ยกเลิกเพิกถอนอาชญาบัตรพิเศษ คำขอประทานบัตร ให้ออกไปจากที่ดินอยู่อาศัยทำกินของชาวบ้าน

 

ชาวบ้านยังยื่นเรื่องคัดค้านการกำหนดเขตป่าอนุรักษ์ ทับลงไปบนที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน เนื่องจาก พื้นที่ที่ประกาศ ชาวบ้านอยู่เป็นชุมชน มีวัด โรงเรียน ไม่มีสภาพเป็นป่า แต่อย่างใด

 

สืบสวนความจริง : เขตป่าอนุรักษ์บนแผ่นดินทองคำ

 

ชาวบ้านยื่นเรื่องต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เร่งรีบตรวจสอบสอบสวน กรณี กำหนด และประกาศผังเมืองให้เป็นป่าอนุรักษ์ ลงไปบนที่ดินของชาวบ้านโดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นชุมชน เป็นเมือง เป็นพื้นที่ทางการเกษตร นับเป็นความผิดปรกติ เนื่องจากที่ดินดังกล่าว มีการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ ให้กับบริษัทเหมืองทองคำ ตามกฎหมาย พ.ร.บ แร่ และถูกระบุเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศไปนานแล้ว

 

การดำเนินการดังกล่าว จะส่งผลทำให้ชาวบ้านต้องขาดสิทธิในที่ดิน แต่บริษัทเหมืองทองคำ จะสามารถยื่นขอใช้ที่ดินจากรัฐในการทำเหมืองทองคำได้ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.แร่ มาตรา 54(4)

 

สืบสวนความจริง : เขตป่าอนุรักษ์บนแผ่นดินทองคำ

กรมโยธาธิการและผังเมืองยันไม่เอื้อเอกชน

 

อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พรพจน์ เพ็ญพาส ชี้แจงกรณี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ผู้แทนกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ สมพงษ์ ลิสนเทียะ และ อารมย์ คำจริง เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบ ปิยะ ลือเดชกุล โดยขอให้เร่งตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีประกาศผังเมืองให้เป็นป่าอนุรักษ์ ทับลงไปบนที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนจำนวนมาก โดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อันจะส่งผลทำให้ที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนกลับไปเป็นที่ดินของรัฐ และง่ายแก่การอนุญาตให้บริษัทฯ สามารถขอใช้ที่ดินจากรัฐในการทำเหมืองทองคำ บริเวณ อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก นั้น

 

สืบสวนความจริง : เขตป่าอนุรักษ์บนแผ่นดินทองคำ

 

สำหรับประเด็นข่าวที่นำเสนอ กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอชี้แจงว่า

1. กรมฯ กำลังดำเนินการปรับปรุงผังเมืองรวมชุมชนเนินมะปราง โดยเป็นการขยายเขตเต็มทั้งอำเภอเนินมะปราง

 

2. พื้นที่บริเวณที่มีประเด็นถูกกำหนดให้เป็น การใช้ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว) ซึ่งเป็นการกำหนดตามข้อมูลของกรมป่าไม้ (ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย) และตามข้อกำหนดการใช้ที่ดินประเภทดังกล่าวมีข้อยกเว้นให้ที่ดินเอกชนที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองสามารถอยู่อาศัยได้

 

3. สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพิษณุโลกได้ดําเนินการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนเนินมะปราง (ปรับปรุงครั้งที่ 1) จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 23 - 24 มีนาคม 2565 และได้ชี้แจงให้แก่กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย) ทราบว่าบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้บริเวณพิพาทนั้น เป็นบริเวณที่กำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้ายปรากฏตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 167 (พ.ศ.2509) และในส่วนของที่ดินทำกินของชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิ์ ให้ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัยที่ มิใช่การจัดสรรที่ดิน และกิจการอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลก มิได้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทฯ หรือกลุ่มผลประโยชน์แต่อย่างใด

 

สืบสวนความจริง : เขตป่าอนุรักษ์บนแผ่นดินทองคำ

 

4. อย่างไรก็ตามกรมฯ จะได้นำข้อมูลที่ได้รับจากพี่น้องประชาชนไปตรวจสอบข้อกฎหมายกับกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

 

ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองขอขอบคุณสำนักข่าวและสื่อมวลชนที่ได้เสนอข่าวดังกล่าว ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนได้ทราบทันสถานการณ์ตามนโยบายของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ที่มอบไว้มา ณ โอกาสนี้

 

logoline