svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คลิปเด็ด

สืบสวนความจริง ตอน "นอมินี"เหมืองทองคำอัครา

05 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คดีนอมินี เป็นคดีที่ชี้เป็นชี้ตาย คดีเหมืองทองอัครา หากพิสูจน์ว่า คิงส์เกต คือเจ้าของบริษัท อัคราฯ 100% ดังนั้นในห้วงที่อนุญาโตตุลาการยังไม่ตัดสินข้อพิพาท จึงมีข่าวการต่อรองที่จะให้คิงส์เกตลดการถือหุ้น เพื่อให้กลุ่มทุนไทยเข้าไปถือหุ้น เป็นการสมประโยชน์กัน

บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 283 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2535 ข้อ 5 โดยมีเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน BOI ข้อ 14 กำหนดให้ต้องมีบุคคลผู้มีสัญชาติไทย หรือ นิติบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ถือหุ้นรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51ของทุนจดทะเบียนภายใน 5 ปี นับตั้งแต่เปิดดำเนินการ

สืบสวนความจริง ตอน "นอมินี"เหมืองทองคำอัครา

ต่อมาได้มีการแก้ไขเงื่อนไข ข้อ 14 ใหม่ ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2549 ดังนั้น บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จะต้องเป็นนิติบุคคลไทย ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2549 จึงจะเป็นไปตามเงื่อนไขของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

 

ทั้งนี้ ปรากฏตามหมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส ระบุว่ามีบริษัท คิงส์เกต แคปปีตอล พีทีวาย จำกัด บริษัทย่อย ของบริษัท Kingsgate Consolidated Limited เป็นผู้ถือหุ้นสามัญ และมีอำนาจควบคุมบริษัท โดยมีการจัดทำสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการถือครองหุ้นบุริมสิทธิของบุคคล และนิติบุคคลสัญชาติไทย รวม 3 ฉบับ ผู้ซื้อหุ้นบุริมสิทธิได้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผลอัตราคงที่ร้อยละ 12 ต่อปี โดยจ่ายจากผลกำไรของบริษัท อัครา และกำหนดให้ได้รับผลตอบแทนพิเศษนอกเหนือจากเงินปันผล ร้อยละ 8 ต่อปี โดยให้บริษัทคิงส์เกต แคปปีตอล พีทีวาย จำกัด เป็นผู้ชำระเงินในส่วนนี้ จากเส้นทางการเงิน พบว่า ผู้ซื้อหุ้นบุริมสิทธิสัญชาติไทย ได้รับค่าตอบแทนเรื่อยมา

ในรายงานประจำปีของบริษัท Kingsgate ประเทศออสเตรเลีย โดยผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองแล้ว มีการบันทึก “หุ้นบุริมสิทธิ” ของบริษัทอัคราฯ ไว้ในประเภท “การกู้ยืมเงิน” ซึ่งอยู่ในส่วนของ “หนี้สิน”

สืบสวนความจริง ตอน "นอมินี"เหมืองทองคำอัครา

ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่า บริษัท Kingsgate Consolidated Limited ถือว่า หุ้นบุริสิทธิ ของบริษัทอัคราฯ เป็นหนี้สินของบริษัท Kingsgate ไม่ใช่เป็นเงินลงทุนจากผู้ลงทุนสัญชาติไทย และถ้าบริษัท Kingsgate ถือเอาหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทอัคราฯ เป็นเงินทุน จะต้องบันทึกในงบแสดงฐานะทางการเงินรวม เฉพาะส่วนที่บริษัท Kingsgate ลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทอัคราฯ ในสัดส่วนร้อยละ 49 แต่ในรายงานประจำปีของบริษัท Kingsgate Consolidated Limited กลับบันทึกไว้เป็นร้อยละ 100 จึงเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่าหุ้นบุริมสิทธิดังกล่าวเป็นหนี้สิน ไม่ใช่เงินลงทุนในบริษัท

 

นี่จึงแสดงว่า บริษัท คิงส์เกต คือบริษัทแม่ ที่อยู่เบื้องหลังการลงทุนของ บริษัทอัครา ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2535 หลังจากนั้นมีกลุ่มทุนในประเทศไทยหมุนเวียนเข้าไปหลายกลุ่ม กระทั่ง ปี 2549 พบกลุ่มทุนใหญ่ คือ "บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย" เข้าไปร่วมลงทุน

สืบสวนความจริง ตอน "นอมินี"เหมืองทองคำอัครา

ในปี 2552 มีการเปลี่ยนกลุ่มทุนใหญ่ คือ "บริษัท สินภูมิ จำกัด" เข้าไปร่วมลงทุน เมื่อค้นหาจากข้อมูลเชิงลึกโครงข่ายผู้ถือหุ้นในลักษณะ "การถือหุ้นไขว้" ก็พบว่า ทั้งกลุ่ม "บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย" และกลุ่ม "บริษัท สินภูมิ จำกัด" แท้จริงแล้ว อาจมีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ตรงกัน เป็นกลุ่มเดียวกันใน 3 ตระกูลใหญ่ ที่ลงทุนในกลุ่มนี้ คือ

1. กลุ่ม เตชะอุบล
2. กลุ่ม จึงรุ่งเรืองกิจ
3. กลุ่ม เปี่ยมพงษ์สานต์

แต่ต่อมา กลุ่มทุนใหญ่ของไทย ถูกผลักออกจากการลงทุนใน บริษัท อัครา แล้วว่าพบมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น "บุคคล" เข้ามาถือหุ้นแทน ชื่อ "นางณุชรีย์ ไศละสูต" ซึ่งเมื่อตรวจข้อมูลส่วนบุคคล พบว่า นางณุชรีย์ มีสามี เป็นวิศวกรสัญชาติออสเตรเลีย มีบริษัท รับดำเนินกิจการเกี่ยวกับเหมืองแร่  คือ "บริษัท ไลตัส ฮอลล์ ไมนิ่ง" จดทะเบียนธุรกิจการค้าในไทย ดำเนินกิจการที่ จ.ลำปาง

 

บริษัท ไลตัส ฮอลล์ ไมนิ่ง เป็นบริษัทรับเหมาช่วงต่อ รู้จักกันในวงการก่อสร้าง เป็น Subcontractor หรือบริษัท ซับ-คอน-เทรค  จากบริษัท คิงส์เกต อีกทอดหนึ่ง เช่น รับเหมาช่วงต่อดำเนินการเหมืองชาตรี ในประเทศไทย และดำเนินกิจการเหมืองแร่ในประเทศลาว

สืบสวนความจริง ตอน "นอมินี"เหมืองทองคำอัครา

ต่อมา เมื่อ บริษัท อัครา จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ขณะที่ นางณุชรีย์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51.75% มูลค่า 265 ล้านบาท และมีบริษัท คิงส์เกต ถือหุ้นมูลค่า 244 ล้านบาท หรือ 48.24%

 

นางณุชรีย์ แจ้งว่า มีรายได้จากบริษัทที่เป็น Subcontractor นั่นคือ บริษัท ไลตัส ฮอลล์ ไมนิ่ง เพื่อเข้าร่วมลงทุนกับ อัครา รีซอสเซส แต่ข้อสังเกตสำคัญ คือ บริษัท ไลตัส ฮอลล์ ไมนิ่ง รับเหมาช่วงต่อจากบริษัทคิงส์เกต หลายโครงการ และปี 2553 ช่วงที่นางณุชรีย์ เข้าร่วมหุ้นกับบริษัท อัครา มีกำไรจาก บริษัท ไลตัส ฮอลล์ ไมนิ่ง ปีละ 6 ล้านบาท แต่ในปี 2556 กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีเงินไหลเข้าร่วมลงทุนกับบริษัท อัครา รีซอสเซส กว่า 265 ล้านบาท

 

เส้นทางการเงินกว่า 200 ล้านบาท ของ นางณุชรีย์ จึงน่าสนใจว่า ภายในเวลาไม่กี่ปี จากที่มีเคยแจ้งรายได้ผลประกอบการ ปี 2553 เพียง 6 ล้านบาท ในเวลาเพียง 2-3 ปี นางณุชรีย์ กลับมีเงินลงทุนธุรกิจเหมืองทอง มากกว่า 200 ล้านบาท

สืบสวนความจริง ตอน "นอมินี"เหมืองทองคำอัครา

26 สิงหาคม 2554 การซื้อขายหุ้นบุริมสิทธิของบริษัท สินภูมิ จำกัด กับนางณุชรีย์ มีการแยกรายการที่เกี่ยวข้องกับค่าหุ้นบุริมสิทธิ 2 รายการ คือ 1.ค่าหุ้นบุริมสิทธิ 265 ล้านบาท (สองร้อยหกสิบห้าล้านบาทถ้วน) และค่าตอบแทนกำไร จากการลงทุน 74 บาท (เจ็ดสิบสี่ล้านบาทเศษ) ผลประโยชน์ดังกล่าวไม่ว่าจะแยกเป็นหลายรายการ หรือจะเรียกชื่อว่าอย่างไรก็ตาม ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา

 

ถือได้ว่าผลประโยชน์ตอบแทนในส่วนที่เกินไปกว่ามูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เป็น "ส่วนเกินมูลค่าหุ้นบุริมสิทธิ" และส่วนเกินมูลค่าหุ้นนั้นรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าหุ้นบุริมสิทธินั้นนั่นเอง และสอดคล้องกับการที่บริษัท สินภูมิ จำกัด ได้ยืนยันและบันทึกในรายงานของผู้สอบบัญชีว่าได้ขายหุ้นไปในราคา 12.83 บาท อันเป็นราคาที่รวมส่วนเกินมูลค่าหุ้นไว้แล้ว

 

ดังนั้น เมื่อนางณุชรีย์ ชำระเงิน 265 ล้านบาท (สองร้อยหกสิบห้าล้านบาทถ้วน) คิดเป็นสัดส่วนหุ้น 20,654.716 หุ้น และการที่บริษัท คิงส์เกต แคปปีตอล พีที่วาย จำกัด ชำระเงินจำนวน 74,895,149 บาท (เจ็ดสิบสี่ล้านแปดแสนเก้าหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยสี่สิบเก้าบาทถ้วน) จะได้หุ้นบุริมสิทธิ 5,845,284 หุ้น เมื่อนำไปรวมกับหุ้นสามัญ 24,499,994 หุ้น และหุ้นบุริมสิทธิจำนวน 200,000 หุ้น ของบริษัท อัคราฯ ที่บริษัท คิงส์เกต แคปปีตอล พี่ทีวาย จำกัด ถืออยู่ก่อนแล้วจะทำให้บริษัท คิงส์เกต แคปปีตอล พีทีวาย จำกัด ถือหุ้นในบริษัทอัครา รวมทั้งสิ้น 6 ล้านหุ้นเศษ คิดเป็นสัตส่วน
ร้อยละ 59.66 ทำให้บริษัทอัครา มีนิติบุคคลต่างด้าวถือหุ้นจำนวนร้อยละ 59.66 และหุ้นในส่วนของนางณุชรีย์ฯ จะเท่ากับร้อยละ 40.34

สืบสวนความจริง ตอน "นอมินี"เหมืองทองคำอัครา

นี่เป็นสิ่งที่ ภาคประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ แจ้งต่อ DSI ให้สอบสวน กรณีบริษัท คิงก์เกตฯ แจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ ออสเตรเลีย ขัดกับข้อมูลที่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส แจ้งตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย

 

บริษัท คิงส์เกต แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ว่า เป็นผู้ถือหุ้น 100% ในบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ขณะที่บริษัท อัครา แจ้งตลาดหลักทรัพย์ไทย ว่า บริษัทอัครา มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ราย คือ นางณุชรีย์ 51.75% และบริษัทคิงส์เกต 48.24%

 

คาดการณ์ว่า กรณีที่บริษัท คิงส์เกต เข้าข่ายการผิดเงื่อนไขการลงทุน และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ คสช. สั่งยุติการทำเหมืองแร่ทองคำอัครา จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่นำไปสู้คดี ในชั้นอนุญาโตตุลาการ นับตั้งแต่ในปี 2551 กลุ่มทุนใหญ่ของไทย 3 ตระกูลเคยเป็นผู้ร่วมลงทุนหลัก คือ 1.กลุ่มเตชะอุบล 2.กลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ และ 3.กลุ่มเปี่ยมพงษ์สานต์ ถูกผลักออกไปจากการลงทุนใน บริษัทอัครา รีซอสเซส ก่อนจะกลายเป็นของ นางณุชรีย์ เข้ามาถือหุ้นแทน

สืบสวนความจริง ตอน "นอมินี"เหมืองทองคำอัครา

มีรายงานว่า เบื้องลึกของเจรจา ก่อนเข้าสู่การพิจารณาข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการ มีรายงานว่า มีข้อตกลง ที่จะให้บริษัท คิงส์เกตเปลี่ยนสัดส่วนผู้ถือหุ้น เพื่อแลกเปลี่ยนให้บริษัท คิงส์เกต ดำเนินการกิจการเหมืองแร่ต่อ ซึ่งกลุ่มทุนบางกลุ่ม ก็จะได้ประโยชน์จากการกลับเข้าไปร่วมลงทุน

 

หากมองเรื่องนี้เป็นเกมบนโต๊ะการเจรจา แต่ละฝ่ายล้วนมีไพ่อยู่ในมือ รัฐบาลไทย มีคดีทุจริตที่พบว่า บริษัท คิงส์เกต จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจการในไทย ขณะที่ บริษัท คิงส์เกต อาศัยข้อตกลง TAFTA (ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย) ที่ชี้ว่ารัฐบาลไทย ใช้อำนาจสั่งยุติกิจการเหมืองแร่โดยมิชอบด้วยข้อตกลง TAFTA

 

11 มีนาคม 2563 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด สมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อดีตอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ / นายสัจจาวุธ นาคนิยม ผู้อำนวยการสำนักการอนุญาต / นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม / และนายคันธศักดิ์ แข็งแรง วิศวกรเหมืองแร่ชำนาญการ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 มาตรา 85 (1) ส่วนการกระทำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และนายปกรณ์ สุขุม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด มีมูลความผิดทางอาญา ฐานสนับสนุน ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86  กรณีอนุมัติ EIA ขยายพื้นที่สัมปทานเหมือง โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

สืบสวนความจริง ตอน "นอมินี"เหมืองทองคำอัครา

ป.ป.ช. ยังขยายผล ตั้งอนุกรรมการ ไต่สวน นักการเมืองในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2 คน คือ นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกต ได้ประโยชน์ในการสำรวจ และทำเหมืองแร่ในพื้นที่ จ.สระบุรี จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก โดยมิชอบ หลังจากออสเตรเลีย ส่งหลักฐานเส้นทางการเงินของ บริษัท คิงส์เกต ที่ส่งเงินสินบนไปพักไว้ที่ ฮ่องกง-สิงคโปร์ รวมถึงอีเมล์ที่เป็นหลักฐานยืนยันการเรียกรับสินบน

 

กรณีไต่สวนประเด็นหลังนี้ ป.ป.ช.ยังไม่คืบหน้าเนื่องจาก ไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศที่พักเงิน คือ ฮ่องกง-สิงคโปร์

 

การชี้ให้เห็นว่า บริษัท คิงส์เกต ผิดเงื่อนไขในการลงทุนในประเทศไทย มีความน่าสงสัยว่า บริษัท คิงส์เกต อาจใช้ระบบตัวแทนหรือ "นอมินี" ร่วมถือหุ้นลงทุนในบริษัท อัครา รีซอร์สเซส ทั้งที่ตามกฎหมายต่างชาติ ไม่เข้ามาเป็นเจ้าของกิจการและถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% เท่านั้นประเด็นนี้ DSI รับเป็นคดีพิเศษก่อน พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร พ้นตำแหน่งอธิบดี DSI

 

22 กันยายน 2564 DSI แจ้งข้อกล่าวหาบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) คดีการถือครองหุ้นแทนบุคคลต่างด้าว ในลักษณะนอมินี พร้อมออกหมายเรียกบริษัท อัครา รีซอร์สเซส ให้มารับทราบข้อกล่าวหา คดีนอมินี

 

วันเพ็ญ พรมรังสรรค์ ตัวแทนกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ บอกว่า พ.ต.ท.สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดี DSI ว่า บริษัท อัคราฯ มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา

logoline