svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

‘งดเหล้าเข้าพรรษา’ ชวนลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ชะลอตับพัง เช็ก รพ.บำบัดได้ที่นี่!

31 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สธ.ชวนคนไทย ลด ละ เลิก การดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษาเพื่อสุขภาพที่ดี พร้อมชี้เป้าสถานที่เข้ารับการบำบัดรักษาอาการติดสุรา

กิจกรรมวันเข้าพรรษา นอกจากพุทธศาสนิกชนจะเดินทางไปวัด ทำบุญ ตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวายเทียนพรรษา เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตแล้ว พุทธศาสนิกชนส่วนหนึ่งยังถือฤกษ์ดีในวันเข้าพรรษาอธิษฐานจิต ลด ละ ความชั่ว ตลอดจนอบายมุขทั้งหลาย ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ทำได้ง่ายโดยเริ่มจากตัวเราเพื่อสุขภาพที่ดีของเราเองคือ การงดดื่มเหล้าเป็นระยะเวลา 3 เดือน

‘งดเหล้าเข้าพรรษา’ ชวนลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ชะลอตับพัง เช็ก รพ.บำบัดได้ที่นี่!

สุราเมรัย ส่งผลเสียต่อเรื่องใดบ้าง?

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “สุรา” คือเครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผลต่อสมอง ทำให้สมองเสื่อม ความคิด ความจำบกพร่อง การตัดสินใจและการใช้เหตุผลผิดพลาด ผลต่อตับในระยะแรกจะเกิดไขมันสะสมในตับ ต่อมาจะเกิดภาวะตับอักเสบ และภาวะตับแข็งตามมา

นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้ามีเลือดออกมากอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และยังส่งผลต่อระบบอื่นๆ ของร่างกายอีกมากมายทำให้เกิดภาวะผิดปกติตามมา เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำลง เกลือแร่ในร่างกายขาดความสมดุล โดยพิษของสุราแบบเฉียบพลัน ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย พิษของสุราแบบเรื้อรัง

ผู้ดื่มจะหมกมุ่นในการหาสุรามาดื่มตลอดเวลา ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ การทำหน้าที่ในชีวิตบกพร่อง เสียสุขภาพและเสียสัมพันธภาพกับคนในครอบครัวรวมถึงสูญเสียหน้าที่การทำงาน การดื่มสุรานอกจากส่งผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มเองแล้วยังส่งผลกระทบต่อสังคมในอีกหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น และที่ชัดเจนที่สุด คือการดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เกิดการบาดเจ็บและอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้การดื่มแล้วขับยังมีความผิดต้องรับโทษและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

วันเข้าพรรษา “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ”

ด้านนายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า วันเข้าพรรษาของทุกปี ถือเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ภายใต้คำขวัญ “ไกลเหล้า ไกลโรค ไกลอุบัติเหตุ” มุ่งให้ความสำคัญกับสุขภาพประชาชน เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก ทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่าทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ล้านคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากกว่า 230 ชนิด

‘งดเหล้าเข้าพรรษา’ ชวนลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ชะลอตับพัง เช็ก รพ.บำบัดได้ที่นี่!

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ด้านพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรไทย พ.ศ. 2565 พบว่าแนวโน้มค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักดื่ม ปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่านักดื่มในปี 2564 เสียค่าใช้จ่ายในการดื่มเพิ่มขึ้นจากในปี 2560 เกือบ 2 เท่า และแนวโน้มของการซื้อมาดื่มที่บ้านสูงมากขึ้น ในช่วงรอบการสำรวจปี 2560 และ 2564 ผู้ดื่มหนักเป็นประจำ มีค่าใช้จ่ายการดื่มสุราเฉลี่ยสูงถึง 3,722บาท/เดือน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 340 บาท/วัน

สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายจังหวัด ของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2564 พบว่า ภาพรวมของประเทศ

1) ความชุกของการดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป (วัยผู้ใหญ่) เท่ากับร้อยละ 28.0 (ปี 64 เป้าหมายร้อยละ 27)

2) ความชุกชองการดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรไทยอายุ 15-19 ปี (วัยรุ่น) เท่ากับร้อยละ 9.0 (ปี 64 เป้าหมายร้อยละ 13.8)

เมื่อพิจารณารายภาค ข้อมูลปี พ.ศ. 2564 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความชุกของการดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรผู้ใหญ่ เป็นอันดับสองของประเทศ รองจากภาคเหนือ (33.1%) เท่ากับร้อยละ 32.3 ส่วนในประชากรวัยรุ่น มีความชุกของการดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เท่ากับร้อยละ 11.6

ส่วนในเขตสุขภาพที่ 9 จังหวัดสุรินทร์มีความชุกของการดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป (วัยผู้ใหญ่) เท่ากับร้อยละ 39.2 รองลงมา คือจังหวัดบุรีรัมย์ ร้อยละ 31.5 จังหวัดชัยภูมิ ร้อยละ 28.0 และจังหวัดนครราชสีมา ร้อยละ 27.1 ตามลำดับ

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ประจำปี 2566 เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพของประชาชน พร้อมเชิญชวนให้ร่วม ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยวิธี “1 ลด 3 เพิ่ม” คือ 1.ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

3 เพิ่ม คือ 1) เพิ่มเงินในกระเป๋า 2) เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย และ 3) เพิ่มความสุขในครอบครัว เป็นการช่วยลดรายจ่ายภาคครัวเรือน ลดปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ดื่ม ครอบครัว และสังคม เช่น อุบัติเหตุ พิการ บาดเจ็บหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

เข้าพรรษาปีนี้ชวนเข้ารับการบำบัดรักษา

ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาประจำปี 2566 นี้ ขอเชิญชวนประชาชนคนไทย ลด ละ เลิก ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง ซึ่งการลดปริมาณการดื่มสุราลงจะทำให้ผู้ดื่มมีสุขภาพดีขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ก็ลดลง รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ดื่มสามารถเลิกดื่มสุราได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ผู้ดื่มไม่ควรหยุดดื่มเองทันที ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายได้ ควรหยุดดื่มภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษาอาการติดสุราได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่

  1. โรงพยาบาลธัญญารักษ์ เชียงใหม่
  2. โรงพยาบาลธัญญารักษ์ แม่ฮ่องสอน
  3. โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ขอนแก่น
  4. โรงพยาบาลธัญญารักษ์ อุดรธานี
  5. โรงพยาบาลธัญญารักษ์ สงขลา
  6. โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ปัตตานี

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม “เชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า เข้าสู่ระบบบำบัดรักษา” ผ่านระบบลงนามออนไลน์ http://noalcohol.ddc.moph.go.th/ ร่วมงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำไปสู่การเลิกเหล้าตลอดชีวิต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

logoline