svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

งานวิจัยใหม่ยืนยันมลพิษทำหัวใจเต้นผิดจังหวะสูง เสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน

04 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

งานวิจัยใหม่จากประเทศจีน ชี้มลพิษทางอากาศทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะสูงขึ้นอย่างมากเพียงใน 2-3 ชั่วโมงแรกที่สัมผัสอากาศสกปรก และผลอาจอยู่ได้นานถึง 24 ชั่วโมง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหัวใจวายเฉียบพลัน

จากความกังวลในผลกระทบของมลภาวะทางอากาศ (Air Pollution) ต่อสุขภาพมนุษย์ ล่าสุดงานวิจัยจาก Fudan University ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน พบว่าการอยู่ท่ามกลางมลภาวะเป็นพิษทางอากาศเพียง 2-3 ชั่วโมงแรกเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและหัวใจวายเฉียบพลันได้ โดยจากการศึกษาวิจัยคนไข้ที่แอดมิทในโรงพยาบาลจำนวน 190,115 คน ในโรงพยาบาล 322 แห่งทั่วประเทศจีน พบว่ามาจากมลพิษทางอากาศที่เพิ่มสูงซึ่งทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลทั้งภาวะหัวใจเต้นเร็ว ภาวะหัวใจเสียจังหวะ ต่างมีความเชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่

งานวิจัยใหม่ยืนยันมลพิษทำหัวใจเต้นผิดจังหวะสูง เสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน

Dr. Renjie Chen จาก Fudan University เผยว่าการสัมผัสมลพิษทางอากาศซึ่งมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก อาจส่งผลกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในวัยรุ่นที่มีสุขภาพดี ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เผยแพร่ไปเมื่อปีที่แล้ว โดยงานวิจัยล่าสุดที่พบการสัมผัสมลภาวะเป็นพิษทางอากาศอย่างเฉียบพลัน ทำให้ความเสี่ยงของอาการหัวใจเต้นเสียจังหวะนั้นเพิ่มขึ้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงอันตรายของอากาศที่เป็นพิษต่อการส่งผลกับสุขภาพของเราเป็นอย่างมาก

งานวิจัยครั้งนี้ยังพบว่า สารที่มีผลมากที่สุดคือ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากการปล่อย "ไอเสียของรถ" โดยทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะเฉียบพลัน ซึ่งทีมวิจัยไม่แน่ใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่พวกเขาคาดว่าปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (อะตอมเสียอิเล็กตรอนให้กับโมเลกุลอื่น) ทำให้เกิดความเครียดในเนื้อเยื่อ และส่งผลต่อกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจ

“เราพบว่าการสัมผัสมลพิษทางอากาศอย่างเฉียบพลันนั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความเสี่ยงเกิดขึ้นในช่วงหลายชั่วโมงแรกหลังการสัมผัส และอาจคงอยู่ต่อไปอีก 24 ชั่วโมง” Dr. Renjie Chen กล่าว

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้เรียกร้องถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการอย่างเร่งด่วนและทันทีเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน ทางมูลนิธิ British Heart Foundation ได้ประเมินในปี 2020 ว่าอีก 10 ปี อาจมีคนมากกว่า 160,000 ทั่วโลกต้องตายจากโรคหลอดเลือดและหัวใจ ที่มีสาเหตุจากอากาศสกปรก ตัวเลขนี้ยังไม่รวมกับโรคอื่นๆ ที่มาพร้อมกับมลพิษทางอากาศ

"การศึกษาของเราได้เพิ่มหลักฐานของผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจากมลพิษทางอากาศ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลดการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศและการป้องกันอย่างรวดเร็วต่อประชากรที่อ่อนแอทั่วโลก" ทีมวิจัยสรุป

 

งานวิจัยใหม่ยืนยันมลพิษทำหัวใจเต้นผิดจังหวะสูง เสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน

ฝุ่น PM 2.5 กับหัวใจ

มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) หรือฝุ่นในอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ระบุว่า มากกว่า 20% ของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ และทุก ๆ ปีมีมากกว่า 3 ล้านคนที่เสียชีวิต

โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า หากในอากาศมีฝุ่น PM 2.5 เกิน 10 – 25 ไมโครกรัมใน 1 ลูกบาศก์เมตรแล้วร่างกายได้รับเข้าไปติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการอักเสบ ส่งผลเสียต่อการแข็งตัวของเลือด การทำงานของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ โรคปอด และโรคมะเร็ง

ผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 กับหัวใจ หากเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันจะส่งผลให้เส้นเลือดเปราะ เส้นเลือดแตก และในผู้ป่วยโรคหัวใจจะเข้าไปกระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น ส่วนในระยะยาวผลกระทบจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ กระตุ้นการอักเสบทั่วร่างกาย หลอดเลือดหนาตัวมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อผนังหลอดเลือดเติบโตขึ้น มีอันตรายต่อร่างกายเทียบเท่ากับคนที่สูบบุหรี่ ในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ

ข้อมูลจากสมาคมโรคหลอดเลือดหัวใจแห่งยุโรป (European Society of Cardiology – ESC) ระบุว่า มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตในยุโรปเพิ่มขึ้น มีอัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 800,000 คนต่อปี

ด้วยวิธีการใหม่ของแบบจำลองผลกระทบที่หลากหลายของแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศภายนอกที่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิต พบว่า 40 – 80% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (CVD) เช่น หัวใจวายและหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่า มลพิษทางอากาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นประมาณ 8.8 ล้านรายทั่วโลกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.5 ล้านคน นั่นหมายความว่าในแต่ละปีมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากกว่าการสูบบุหรี่ ซึ่งบุหรี่สามารถเลิกสูบได้ แต่มลพิษทางอากาศไม่สามารถเลี่ยงได้

มลพิษทางอากาศมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดเกิดความเสียหายและเกิดความเครียดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, โรคหลอดเลือดสมอง, หัวใจวาย และหัวใจล้มเหลวในอัตราที่สูงขึ้น

 

 

logoline