svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เช็ก 16 อาการป่วย ใช้สิทธิบัตรทอง รับยาฟรี สะดวกไม่ต้องรอคิวนาน

21 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เช็กที่นี่ 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ใช้สิทธิบัตรทองรับยาฟรี ที่ร้านยาเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ไม่ต้องรอต่อคิวนาน ที่โรงพยาบาล หลังรับยาเภสัชดูแลอาการต่อเนื่อง 3 วัน พร้อมอ่านความแตกต่างระหว่างบัตรทองกับบัตรประกันสังคม เพื่อจะได้เข้าใจถูกต้องในการใช้สิทธิ

อีกหนึ่งปัญหาของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง หรือ บัตร 30 บาท ในครั้งอดีตเมื่อยามเจ็บป่วย ต้องการรับยาตามสิทธิ ก็จำเป็นต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ และต้องรอคิวเป็นเวลานาน แต่ในปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีโครงการ “บริการเภสัชกรรมปฐมภูมิ” เพิ่มทางเลือกให้ผู้มีสิทธิบัตรทอง กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย ใน 16 กลุ่มอาการ สามารถเข้าร้านยาที่ติดสติกเกอร์ด้านหน้า “ร้านยาคุณภาพของฉัน” เพื่อขอรับคำปรึกษา และรับยาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


ขั้นตอนการเข้ารับบริการ มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ

1.คนไข้ติดต่อไปยัง สปสช. ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้รับบริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน

2.ดูรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th หรือ สังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ “ร้านยาคุณภาพของฉัน”

ภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ที่สามารถรับยาฟรี ที่ร้านยาในโครงการ

  1. อาการปวดหัว เวียนหัว 
  2. ปวดข้อ 
  3. เจ็บกล้ามเนื้อ 
  4. มีไข้ ไอ 
  5. เจ็บคอ 
  6. ปวดท้อง 
  7. ท้องเสีย 
  8. ท้องผูก 
  9. ถ่ายปัสสาวะขัด
  10. ปัสสาวะลำบาก 
  11. ปัสสาวะเจ็บ 
  12. ตกขาวผิดปกติ 
  13. อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน
  14. บาดแผล 
  15. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา 
  16. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู 

เช็ก 16 อาการป่วย ใช้สิทธิบัตรทอง รับยาฟรี สะดวกไม่ต้องรอคิวนาน

 

 

เช็ก 16 อาการป่วย ใช้สิทธิบัตรทอง รับยาฟรี สะดวกไม่ต้องรอคิวนาน

ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านยา เภสัชกรจะคัดกรองคนไข้ก่อนว่ามีสิทธิหรือไม่ หากมีสิทธิจึงสามารถได้รับยาฟรี โดยเภสัชกร จะให้คำแนะนำ และให้ยารักษาตามอาการ โดยเภสัชกรจะติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 ของการจ่ายยา หากอาการดีขึ้นก็จะสิ้นสุดการดูแล แต่หากอาการแย่ลงหรือมีการเปลี่ยนแปลง จะมีระบบการจัดการเพื่อส่งต่อเข้าสู่การรักษาต่อไป 

เช็กสิทธิบัตรทอง รักษาสุขภาพทั่วหน้า

หากพักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ สปสช.เขต 13 กทม. หรือจุดลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ กทม.ได้แก่ สำนักงานเขต 19 เขตของ กทม.  โดยเมื่อลงทะเบียนแจ้งสิทธิเรียบร้อยแล้ว จะเกิดสิทธิใหม่ทันที 

ทั้งนี้ สำหรับสิทธิบัตรทองที่เข้าถึงได้ 

  • สิทธิการคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  • สิทธิในการตรวจและเข้ารักษาพยาบาล ตลอดจนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์
  • สิทธิได้รับค่าอาหารและห้องสามัญ
  • สิทธิในการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ทำฟันปลอม รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม ใส่เพดานเทียมสำหรับผู้ที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่
  • ยาและเวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ

เจ็บป่วยทั่วไป ที่ไม่ใช่อาการฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ เพียงยื่นบัตรประชาชน

เจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรืออาการรุนแรงขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ระดับ สีแดง สีเหลือง และสีเขียว (ตามนิยามทางการแพทย์) ให้เข้ารับบริการกับหน่วยบริการของรัฐหรือเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง กรณีเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่เข้าร่วม ให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อแนะนำข้อมูลหรือประสานหาเตียงรองรับ

เช็ก 16 อาการป่วย ใช้สิทธิบัตรทอง รับยาฟรี สะดวกไม่ต้องรอคิวนาน                

อุบัติเหตุ แบ่งเป็น 2 กรณี หากประสบอุบัติเหตุทั่วไป ให้ปฏิบัติเหมือนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่กรณีประสบอุบัติเหตุจากรถ ต้องใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหมดก่อน ส่วนเกินจึงจะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้

เมื่อผู้มีสิทธิบัตรทองต้องเดินทาง เช่น กลับไปเยี่ยมญาติต่างจังหวัด แล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น ถูกสุนัขกัด ถือเป็นอุบัติเหตุก็ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ในการทำแผลและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นได้ แต่ให้เข้าสถานพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุดก่อน และสามารถรับบริการได้ครบตามกำหนดของการรับวัคซีน เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเดินทางกลับไปรับวัคซีนเข็มถัดไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพ ได้ที่ (คลิก)

เผยคนกรุงใช้สิทธิบัตรทองน้อย

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ ที่ปรึกษาสายงานบริหารกองทุน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ใน กทม.มีโรงพยาบาลทั้งหมด 97 แห่ง ในจำนวนนี้ให้บริการผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 46 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลรัฐ 28 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 18 แห่ง

นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง และคลินิกชุมชนอบอุ่น 171 แห่ง ซึ่งคลินิกชุมชนอบอุ่นรับผิดชอบประชากรรวม 1.9 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิบัตรทองใน กทม.ทั้งหมด

ขยายบริการสู่ดิจิทัล เพื่อสุขภาพประชาชน

นพ.การุณย์ กล่าวว่า การปฏิรูประบบสุขภาพในพื้นที่ กทม. จะต้องมีการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็ง โดยการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ต่อยอดเชื่อมโยงกับระบบที่มีอยู่เดิม โดยแบ่งพื้นที่ร่วมกันทำงานเป็นเครือข่ายรัฐ เอกชน สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม สร้างความมั่นใจในคุณภาพบริการ รวมทั้งทำให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการพัฒนาระบบการเงินการคลัง โดยสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน อาจบูรณาการระหว่างงบประมาณของกองทุนฯ และ กทม. ขณะเดียวกันยังต้องมีการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพ และจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพ กทม. ที่มีองค์ประกอบทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

“ในยุคดิจิตอล ต้องพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในเขต กทม.สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ตั้งแต่การลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการผ่านโมบายแอปพลิเคชัน การปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมคนเมือง ตลอดจนปรับกลไกการจ่ายเงินให้เหมาะสม” นพ.การุณย์ กล่าว

 

นพ.การุณย์ ยังระบุถึงการจัดบริการในรูปแบบอื่นๆ ที่ควรทำ เช่น การจัดให้มีหน่วยร่วมบริการด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ และลดความแออัดในโรงพยาบาล อาทิ ร้านยา ที่กำลังจะนำร่องซึ่งจะช่วยลดความแออัดไปได้ส่วนหนึ่ง

ด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สำหรับเรื่องระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ทาง กทม. ไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ จำเป็นจะต้องมีความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ในระบบของ กทม. ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เพื่อให้เกิดระบบการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ

เช็ก 16 อาการป่วย ใช้สิทธิบัตรทอง รับยาฟรี สะดวกไม่ต้องรอคิวนาน

 

“วันนี้ขอเชิญชวนพวกเราร่วมกัน เป็นพลังของกรุงเทพมหานครเพื่อที่จะเป็น System Manager และ Area Manager ของพื้นที่ต่างๆ ในการเชื่อมโยงระบบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ รวมถึงขยายไปยังโรงพยาบาลสาขา และสร้างความเข้มแข็งตามนโยบายของ สปสช. ด้วย”  นพ.สุขสันต์ กล่าว
 

ความแตกต่าง สิทธิ บัตรทอง-ประกันสังคม

สิทธิบัตรทอง ไม่มีค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำแล้วใช้สิทธิได้ทันที
สิทธิประกันสังคม ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน ตามเงื่อนไขถึงจะสามารถใช้สิทธิได้
สิทธิบัตรทอง ใช้กับสถานพยาบาลประจำที่ลงทะเบียนไว้ กรณีเจ็บป่วยต่างพื้นที่เข้าสถานพยาบาลปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติเข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้
สิทธิประกันสังคม ใช้กับโรงพยาบาลที่เลือกสิทธิไว้ กรณีฉุกเฉินเข้าที่ไหนก่อนก็ได้ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย

การย้ายสิทธิ

สิทธิบัตรทอง การย้ายสิทธิสถานพยาบาลทำได้ 4 ครั้งต่อปี
สิทธิประกันสังคม การย้ายสิทธิสถานพยาบาลย้ายได้ปีละครั้ง ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th หรือแอปพลิเคชัน ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.ทุกปี
 

ค่าห้อง-ค่าอาหาร

สิทธิบัตรทอง ให้บริการค่าอาหารและค่าห้องสามัญ
สิทธิประกันสังคม ให้บริการค่าห้องและค่าอาหารไม่เกิน 700 บาท / วัน
สิทธิบัตรทอง ได้เพียงสิทธิรักษาฟรี ไม่มีเงินชดเชยว่างงานเหมือนประกันสังคม
สิทธิประกันสังคม ได้รับเงินชดเชย กรณีว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต

ทำฟัน

สิทธิประกันสังคม ใช้สิทธิถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนได้ไม่เกิน 900 บาท/ปี ฟันเทียมได้ทั้งในสถานพยาบาลและคลินิกทันตกรรมที่ร่วมรายการ

ใครสามารถลงทะเบียนได้บ้าง

ประกันสังคม ให้สิทธิกับคนที่เป็นลูกจ้างที่บริษัทได้ส่งเงินสมทบกองทุนให้ โดยที่ไม่ต้องสมัครเอง (ตามมาตรา 33) หรือผู้ที่ลาออกจากงาน อยากสมัครเองก็สามารถทำได้เช่นกัน (ตามมาตรา 39) ผู้ที่ทำอาชีพอิสระ สามารถลงทะเบียนได้อายุตั้งแต่ 15-60 ปี (ตามมาตรา 40)
บัตรทอง ให้สิทธิกับคนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิด ไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่ใช่บุตรของข้าราชการ หรือไม่มีสวัสดิการอะไรเลย

  • การรักษาและบริการที่ไม่คุ้มครอง ทั้งสิทธิบัตรทอง-สิทธิประกันสังคม
  • การทำศัลยกรรม เพื่อความสวยงาม
  • การรักษาที่อยู่ในช่วงทดลอง
  • มีบุตรยาก
  • ตรวจและรักษาที่เกินความจำเป็น
  • เปลี่ยนแปลงเพศ
  • ผสมเทียม
  • การรักษาโรคเดียวกันโดยเป็นผู้ป่วยในเกิน 180 วันในระยะเวลา 1 ปี

 

กรณีส่งต่อผู้ป่วย

สิทธิประกันสังคม หากต้องรับหรือส่งตัวผู้ป่วยไปวินิจฉัยต่อสถานพยาบาลอื่น ที่ไม่ใช่สถานพยาบาลตามสิทธิที่ลงทะเบียนไว้ สามารถเบิกค่าพาหนะภายในจังหวัดเดียวกันไม่เกิน 500 บาทต่อครั้ง กรณีข้ามเขตจังหวัดคิดระยะทางกิโลเมตรละ 6 บาท หากส่งต่อผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ ไม่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
สิทธิบัตรทอง สามารถเบิกจ่ายค่าพาหนะโดยขึ้นอยู่กับในแต่ละประเภทของพาหนะ 
ทางรถยนต์ ระยะทางไม่เกิน 50 กม.เบิกได้ตามจริงไม่เกิน 500 บาท หากระยะทางเกิน 50 กม. เบิกได้ครั้งละ 500 บาท และได้รับเงินชดเชยเพิ่มอีก 4 บาทต่อกม.
ทางเรือ ไม่เกิน 35,000 บาทต่อครั้ง
ทางเฮลิคอปเตอร์ ไม่เกิน 60,000 บาทต่อครั้ง

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า สิทธิในการรักษาพยาบาล ทั้งสิทธิบัตรทอง และสิทธิประกันสังคม ได้สิทธิในการรักษาคล้ายคลึงกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ในกรณีว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต และชดเชยรายได้ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่ประกันสังคมมอบให้ และสิทธิบัตรทอง ไม่มีให้ในส่วนนี้

ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิการรักษาอื่น ๆ อีกมากมายของทั้ง 2 สิทธิการรักษา เพื่อความเข้าใจและเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ถูกต้อง แนะนำสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนของแต่ละสิทธิการรักษา ดังนี้

  • สายด่วน สปสช.(สิทธิบัตรทอง) สอบถามโทร 1330
  • สายด่วน ประกันสังคม สอบถามโทร 1506
  • Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คลิกที่นี่ 

เช็ก 16 อาการป่วย ใช้สิทธิบัตรทอง รับยาฟรี สะดวกไม่ต้องรอคิวนาน

logoline