svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

‘ไขมันพอกตับ’ กลุ่มโรคกินดีอยู่ดีที่สร้างปัญหา

17 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีไขมันพอกตับ? เช็กสัญญาณไขมันพอกตับทั้ง 4 ระยะ จุดเริ่มต้น “ตับแข็ง-มะเร็งตับ” ภัยสุขภาพที่คนผอมก็เสี่ยงได้เหมือนกัน

เมื่อใช้ชีวิตแบบอิ่มหมีกินดีอยู่ดีจนลืมระแวดระวังเรื่องสุขภาพ ก็อาจก่อให้เกิดผลในระยะยาวจากการค่อยๆ สะสมโรค ซึ่งหนึ่งในโรคที่ค่อยๆ เกิดคือ “ไขมันพอกตับ” หรือ Fatty Liver Disease เป็นภาวะที่มีไขมันเข้าไปสะสมที่เนื้อตับมากกว่า 5-10% และมักจะเป็นไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ปกติไขมันที่ร่างกายได้รับจะถูกเผาผลาญที่ตับและเนื้อเยื่อต่างๆ แต่เมื่อร่างกายได้รับเกินความต้องการ ไขมันส่วนนั้นจะถูกสะสมในรูปแบบเนื้อเยื่อไขมัน แล้วค่อยๆ สะสมที่ตับจนมากเกินกว่าปกติ ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ โดยทั่วไปจะไม่ค่อยมีอาการ พอนานวันขึ้นจะพัฒนาจนนำมาสู่การอักเสบภายในเนื้อตับอย่างเรื้อรัง ทำให้เกิดพังผืด เกิดภาวะตับแข็ง ซึ่งเป็นภัยเงียบที่เราอาจไม่รู้ตัวและอาจนำมาสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จนถึงแก่ชีวิตได้

‘ไขมันพอกตับ’ กลุ่มโรคกินดีอยู่ดีที่สร้างปัญหา

เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีไขมันพอกตับ?

นายแพทย์สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์ จากศูนย์ทางเดินอาหารและตับ อธิบายเรื่องนี้ว่า ”ไขมันพอกตับ” เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนอ้วนเท่านั้น โดยมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงคือคนที่อ้วนลงพุง น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ผู้ตรวจพบโรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูงและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปถึง 60% โดยส่วนใหญ่โรคไขมันพอกตับจะไม่ค่อยแสดงอาการ หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้เล็กน้อย รู้สึกปวดหน่วงบริเวณใต้ชายโครงขวา ซึ่งหากแพทย์สงสัยจะมีการส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม

สัญญาณของไขมันพอกตับ

ส่วนใหญ่ในระยะแรกๆ จะไม่แสดงอาการซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่หากมีอาการก็อาจเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงมากพอที่จะบ่งบอกโรคได้ เช่น

  • เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • คลื่นไส้เล็กน้อย
  • รู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา
  • รู้สึกไม่สบายท้อง
  • น้ำหนักลดผิดปกติ ความอยากอาหารลดลง
  • มึนงง การตัดสินใจและสมาธิลดลง

ไขมันพอกตับอาจทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ เช่น ตับโต ที่จะเกิดอาการปวดที่บริเวณท้องด้านบนขวา หรือกลางท้อง และอาจพบรอยปื้นคล้ำที่ผิวหนังบริเวณ คอ หรือใต้รักแร้ ได้

อย่างที่บอกว่า โรคที่เกี่ยวกับตับนั้นเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคค่อนข้างช้าไม่ใช่ว่าใช้เวลาแค่ 1 หรือ 2 ปีจะเกิดปัญหา แต่ต้องใช้เวลานานกว่าโรคไขมันพอกตับจะดำเนินไปอีกขั้น โดยส่วนใหญ่การตรวจพบโรคไขมันพอกตับจึงมักพบเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการเจาะเลือดตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งไขมันพอกตับยังไม่มียาที่รักษาได้ในขณะนี้ ทำได้เพียงควบคุมไขมันให้คงที่ และโรคสงบลง

‘ไขมันพอกตับ’ กลุ่มโรคกินดีอยู่ดีที่สร้างปัญหา

ระยะการดำเนินโรคของภาวะ “ไขมันพอกตับ”

ระยะเริ่มต้น เป็นระยะที่มีการสะสมไขมันในตับ โดยที่ยังไม่มีหรือมีการอักเสบเพียงเล็กน้อย และไม่มีผังผืด

ระยะที่ 2  เป็นระยะที่มีการอักเสบของตับ และเริ่มมีการสะสมของผังผืดในเนื้อตับ

ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มีการอักเสบของตับ และมีการสะสมของผังผืดในตับอย่างชัดเจน

ระยะที่ 4  เป็นระยะที่ตับมีผังผืดอยู่เป็นอย่างมาก มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเป็นตับแข็ง ที่อาจจะปรากฏภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ตาเหลือง ท้องโตจากภาวะมีน้ำในช่องท้อง มีเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหาร และการเกิดเป็นมะเร็งตับในที่สุด

ปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของโรคไขมันพอกตับ

  • โรคอ้วน
  • โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ
  • การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี หรือการติดเชื้อเอชไอวี
  • การรับประทานอาหารพลังงานสูง
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮล์มากเกินไป
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม

‘ไขมันพอกตับ’ กลุ่มโรคกินดีอยู่ดีที่สร้างปัญหา

กลุ่มเสี่ยงไขมันพอกตับ

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีคอเรสเตอรอลในเลือดสูง
  • ผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
  • ผู้ที่อ้วนลงพุง
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)

 

โรคเรื้อรังแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคไขมันพอกตับ

  • โรคเบาหวาน
  • ตับอักเสบจากไวรัสชนิดต่างๆ
  • โรคอ้วน
  • ไขมันในเลือดสูง
  • ความดันโลหิตสูง
  • หลอดเลือดหัวใจตีบ

‘ไขมันพอกตับ’ กลุ่มโรคกินดีอยู่ดีที่สร้างปัญหา

การตรวจวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคทำได้โดยเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่าการทำงานของตับ ได้แก่ ค่า ALT, AST, ALP ที่ผิดปกติ หรือดูจากอัลตราซาวด์ช่องท้อง การเจาะชิ้นเนื้อตับ (liver biopsy) และการตรวจด้วยเครื่อง Fibroscan ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ทางการแพทย์ที่ช่วยประเมินปริมาณไขมันในตับรวมถึงระดับพังผืดและตับแข็งได้โดยที่ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว ใช้เวลาไม่นาน

 

7 แนวทางการรักษาและป้องกันภาวะไขมันพอกตับ

1 ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน (BMI เกิน 25) ควรออกกำลังกาย ควบคู่กับการคุมอาหาร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพื่อลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์

2 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ เพิ่มผักผลไม้สด ถั่ว และธัญพืชที่มีเมล็ด กินผักบางชนิดยังสามารถช่วยเร่งกระบวนการกำจัดพิษออกจากตับ (Detoxification) ได้ เช่น ผักตระกูลบรอกโคลี กะหล่ำ กระเทียม และหัวหอมหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง

3 ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และรับประทานยาตามแพทย์สั่ง เพื่อควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4 ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น ตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อาจมีผลข้างเคียงต่อตับ

5 สำหรับสมุนไพรและอาหารเสริมบางชนิดทำหน้าที่ช่วยขับสารพิษออกจากตับได้ เช่น Milk Thistle,  Alpha Lipoic Acid (ALA), N-Acetyl-l-Cysteine (NAC)/NAC เป็นสารตั้งต้นของ Glutathione ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญมากที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ช่วยขับพิษออกจากตับ นอกจากนี้ Vitamin B และแมกนีเซียม (Magnesium) ยังมีคุณสมบัติในการช่วยเยียวยาและกระตุ้นการซ่อมแซมเซลล์ตับที่เสียหายอีกด้วย

6 หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่

7 ตรวจสุขภาพเป็นประจำปี หากมีภาวะเสี่ยง หรือรู้สึกร่างกายปิดปกติ ควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อคัดกรองโรคต่างๆ ด้วย

 

ที่มา : โรงพยาบาลกรุงเทพ / pobpad / โรงพยาบาลนครธน

logoline