svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เปิดงานวิจัยข้อดี(ชั่วคราว)ของเบียร์และข้อเสียในระยะยาว

29 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไขข้อข้องใจเลือกเบียร์แบบไหนทำลายตับไตน้อยที่สุด!! เปิดโลกความรู้เกี่ยวกับการดื่มเบียร์ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ และอันตรายในระยะยาวของการดื่มเบียร์

ในช่วงเวลาแห่งการสังสรรค์ เครื่องดื่มอย่างเบียร์กับปาร์ตี้แฮปปี้นิวเยียร์มักเป็นของคู่กัน ด้วยความห่วงใยครั้งนี้จึงนำความรู้เกี่ยวกับการดื่มเบียร์ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาแนะนำเหล่านักดื่ม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มเบียร์ให้ส่งผลดีต่อสุขภาพกันดีกว่า

เปิดงานวิจัยข้อดี(ชั่วคราว)ของเบียร์และข้อเสียในระยะยาว

ดื่มเบียร์อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

“เบียร์” เป็นเครื่องดื่มที่มีความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 0.5 ดีกรีขึ้นไป โดยมีกระบวนการหมัก “เวิร์ต” ด้วยยีสต์ ซึ่งเวิร์ตมาจากการต้มสกัดมอลต์ข้าวบาร์เลย์กับฮอป จึงมีสารที่ให้ประโยชน์ ได้แก่ กรดโฟลิค กรดอะมิโน ซูโดยูริดีน ไกลซีนบีเทน เมลานอยดิน แซนโธฮิวมอล สารประกอบฟีนอลิก มีโปรตีนและเส้นใยอาหาร ซึ่งจากผลงานวิจัยหลายฉบับ พบว่า

เบียร์มีฤทธิ์ต้านสารก่อมะเร็ง ไวรัส จุลินทรีย์ โรคกระดูกพรุน ปกป้องหัวใจ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงจากภาวะสมองเสื่อม ชะลอความแก่ ป้องกันโรคเบาหวาน และรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร แต่การดื่มเบียร์จะมีผลดีต่อสุขภาพได้ จำเป็นต้องดื่มในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับสารที่เป็นประโยชน์

สำหรับปริมาณในการดื่ม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า หากดื่มเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5% โดยปริมาตร ผู้หญิงควรดื่มไม่เกิน 12 ออนซ์/วัน และผู้ชายควรดื่มไม่เกิน 24 ออนซ์/วัน

ที่สำคัญควรตระหนักว่า เบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดอาจไม่เหมาะสมและอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในสภาวะร่างกายอ่อนแอ หรือไม่พร้อม เช่น คนท้อง คนป่วย เด็ก คนชรา

ซึ่งอาจได้รับอันตรายที่เกิดจากสารในเบียร์ ได้แก่ เอทานอล ไบโอเจนิกเอมีน ไนโตรซามีน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในภาวะขาดวิตามิน ภาวะไขมันในเลือดสูง เกิดโรคภูมิแพ้ เกิดการกลายพันธุ์ และชักนำให้เกิดโรคมะเร็ง เพิ่มความดันในเลือด มีผลเสียต่อระบบย่อยอาหาร เช่น กระตุ้นการเกิดตับอักเสบ โรคตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบและเกิดแผลในกระเพาะอาหาร รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมและโรคอ้วน

ขณะเดียวกันผลการศึกษา ยังพบอีกด้วยว่า การดื่มคราฟต์เบียร์ (craft beer) ในปริมาณมาก เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งช่องปากที่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus, HPV)

เปิดงานวิจัยข้อดี(ชั่วคราว)ของเบียร์และข้อเสียในระยะยาว

คำแนะนำในการเลือกดื่มเบียร์

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) แนะนำการเลือกผลิตภัณฑ์เบียร์ที่มีคุณภาพตาม มอก. 2090-2544 ซึ่งสารปนเปื้อนต้องไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ นั่นคือ

  1. ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร
  2. ทองแดง ไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร
  3. เหล็ก ไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร

นอกจากนี้ น้ำที่ใช้ในการผลิตเบียร์ต้องมีคุณภาพดี ไม่มีสี กลิ่น รส และปราศจากสารอินทรีย์ ซัลไฟด์ ไนไตรต์ เป็นต้น

 

งานวิจัยชี้ดื่มเบียร์วันละ 350 มล. ช่วยให้ลำไส้แข็งแรงจริงหรือ?

ตามรายงานผลการวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 ในวารสารเคมีอาหารและการเกษตร ระบุว่า หากดื่มเบียร์วันละ 12 ออนซ์ หรือประมาณ 350 มล. ติดต่อกัน 1 เดือน จะช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์หรือไม่ 

การวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์จากโปรตุเกสได้รับแรงบันดาลใจการค้นพบก่อนหน้านี้ว่าอาหารที่ผ่านการหมักต่าง ๆ เช่น ผักดอง กิมจิ โยเกิร์ต เทมเป้ ช่วยให้ระบบลำไส้ของมนุษย์แข็งแรงขึ้น พวกเขาจึงตัดสินใจนำเครื่องดื่มประเภทเบียร์มาทดสอบด้วย เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ผลิตจากการหมักข้าวบาร์เลย์ และมีสารโพลีฟีนอลซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีที่มีผลต่อแบคทีเรียในลำไส้มนุษย์

ทีมทดลองคัดเลือกชาย 19 คนเข้าร่วมในการทดลอง โดยเป็นผู้ที่มีนิสัยชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำในปริมาณที่ไม่มากนัก จากนั้นใช้วิธีสุ่มเลือกและแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะดื่มเบียร์ลาเกอร์ หรือเบียร์ที่หมักด้วยยีสต์แบบนอนก้นถังพร้อมกับอาหารเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้ดื่มเบียร์แบบไม่มีแอลกอฮอล์พร้อมอาหารเย็นติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์เท่ากัน

นอกเหนือจากนั้น ผู้เข้าร่วมทดลองสามารถปฏิบัตตัวไปตามปกติ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงการกินอยู่หรือกิจวัตรการออกกำลังกายใด ๆ 

ผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องให้ทีมงานเก็บตัวอย่างในตอนเริ่มต้นและช่วงปลายของการทดลองที่กินเวลา 1 เดือนนี้ เพื่อนำมาวิเคราะห์เกี่ยวกับแบคทีเรียในลำไส้

ซึ่งผลการทดลองสรุปได้ว่าทั้งสองกลุ่มมีปริมาณเอนไซม์อัลคาไลน์ ฟอสฟาเตสในอุจจาระเพิ่มขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าระบบลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น แล้วยังมีประเภทจุลินทรีย์ในลำไส้ที่หลากหลายขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เข้าร่วมทดลองมีความเครียดและกระวนกระวายลดน้อยลง มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแรงขึ้นและมีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังหลายชนิดลดน้อยลง

 

อย่างไรก็ตาม การทดลองครั้งนี้เป็นเพียงการทดลองในระยะสั้น และกลุ่มคนที่เข้าร่วมการทดลองก็มีเพียงเพศชาย และยังไม่ได้ลงลึกไปถึงว่าการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพโดยรวมที่เห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ยังไม่ได้นำเอาปัจจัยอื่น ๆ เช่น นิสัยการใช้ชีวิตของผู้เข้าร่วมทดลอง มาร่วมพิจารณาและวิเคราะห์ด้วย

กล่าวโดยสรุปแล้ว เราควรให้ความสนใจต่ออาหารหลักที่เราบริโภคทุกวันมากกว่าจะเน้นเรื่องการดื่มเบียร์ แม้ว่าจะมีส่วนช่วยให้ระบบลำไส้ทำงานได้ดีขึ้นจริงก็ตาม และไม่ควรดื่มในปริมาณที่มากเกินไปด้วย

จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายถ้าเรา “ดื่มเบียร์” ทุกวัน

  • หลังจาก 20 นาทีแรก... คุณอาจมึนหัวเล็กน้อย รู้สึกอารมณ์ดี มองโลกเป็นสีชมพู
  • ผ่านไปประมาณ 1-1.5 ชั่วโมง... คุณจะรู้สึกกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย และเริ่มง่วงนอน
  • หลังจากนั้น 12-24 ชั่วโมง... คุณจะรู้สึกแฮงค์ เริ่มมีอาการปวดหัว เวียนหัว กระหายน้ำ รู้สึกหม่นหมอง และใจสั่น

หลังจากดื่มเบียร์ทุกวัน

กระเพาะอาหาร จะเกิดความผิดปกติของเยื่อเมือกและการหลั่งของน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร ท้องผูก อารมณ์ไม่ดี รู้สึกหน่วงๆในกระเพาะ

ตับ ระบบทำลายของเสียของตับมีปัญหา ทำให้ตับเกิดการอักเสบ และนำไปสู่โรคตับแข็งได้

ไต ระบบการขับถ่ายของเหลวและสารละลายของเหลวในร่างกายมีปัญหา ทำให้แข้งขาอ่อนแรง นอนไม่หลับ ภูมิต้านทานต่ำลง หงุดหงิดง่าย มีอาการของโรคไต และหัวใจอาจหยุดเต้น

หัวใจ ระบบเส้นเลือดหัวใจผิดปกติ มีไขมันเกาะหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันสูง หายใจถี่ โรคหลอดเลือดหัวใจ และอาจทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่จะไปเลี้ยงสมอง

ต่อมไร้ท่อ ระบบต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ หากเป็นหนุ่มๆ การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนจะชะงัก ทำให้เกิดการบวมเบียร์ มีไขมันสะสมทำให้มีหน้าท้อง ส่วนสาวๆ จะพบความผิดปกติของรังไข่และซีสต์ในรังไข่ มดลูกอักเสบและเป็นหมันได้

เมื่อรู้แล้วว่าผลลัพธ์ของมันเป็นอย่างไร ก็ตัดสินใจเลือกดื่มตามวาระและควรดื่มแบบพอประมาณจะดีกว่า

logoline