svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

เปิดสถิติขยะกระทง กทม. 5 ปีย้อนหลัง กับความหวังใช้กระทงวัสดุธรรมชาติ 100%

27 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดมุมมองประเพณีลอยกระทง ดันซอฟต์พาวเวอร์กระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

งานลอยกระทง 2566 ปีนี้หลายคนกำลังหาสถานที่ลอยกระทง ขณะที่หลายคนยังอยู่ระหว่างตัดสินใจจะลอยกระทงดีหรือไม่ เพื่อร่วมสืบสานประเพณีอันงดงามของไทย แต่กระแสในโลกโซเชียลได้มีการรณรงค์ให้งดลอยกระทงในแหล่งน้ำ เนื่องจากมองว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เปิดสถิติขยะกระทง กทม. 5 ปีย้อนหลัง กับความหวังใช้กระทงวัสดุธรรมชาติ 100%

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เปิดมุมมองว่าประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่ทำกันมาตั้งแต่โบราณ และในช่วงเวลานี้ภาครัฐก็กำลังสนับสนุนประเพณีต่างๆ ของไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งโอกาสในการส่งเสริมเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ดังนั้นในฐานะที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจึงคิดว่าวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้คือ เราควรหาวิธีการจัดการรับมือและหาทางออกให้เหมาะสมในการทำอย่างไรให้เราอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

เปิดสถิติขยะกระทง กทม. 5 ปีย้อนหลัง กับความหวังใช้กระทงวัสดุธรรมชาติ 100%

“ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากค่ำคืนลอยกระทงก็คือ เรื่องของการจัดการปริมาณกระทงที่จัดเก็บและที่จัดเก็บไม่หมดจะกลายเป็นขยะจำนวนมาก ส่วนเรื่องปัญหาน้ำเสียถือว่าไม่ได้เป็นปัญหาหลักของการลอยกระทง เพราะปัญหาน้ำเน่าเสียสาเหตุหลักคือการใช้น้ำของกิจกรรมผู้คน ดังนั้นหากพูดถึงเรื่องของปริมาณกระทงที่กลายเป็นขยะตกค้างนั้น มองว่าควรมีแนวทางในการขอความร่วมมือและบริหารจัดการที่ดี โดยลดปริมาณกระทง การทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ และลอยกระทงในพื้นที่ที่จัดให้เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บ”

5 แนวทางที่ทาง TEI แนะนำในการสืบสานวัฒนธรรมไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม 

1 การเลือกใช้กระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อยสลายได้

โดยเลือกใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้จากพื้นที่ เช่น หยวกกล้วย กาบกล้วย ใบตอง ดอกบัว ซึ่งเป็นประเพณีดั่งเดิม โดยกระทงจากวัสดุเหล่านี้สามารถจัดเก็บและนำไปกำจัดได้ง่ายดายหลังเสร็จสิ้นงาน และควรทำกระทงขนาดที่เหมาะสมไม่ใหญ่จนเกินไป หรือหากจัดเก็บไม่ได้บางส่วนก็จะค่อยๆ ย่อยสลายเองตามธรรมชาติได้

2 เลือกกระทงให้เหมาะสมกับพื้นที่

คำนึงถึงสถานที่ที่จะนำกระทงไปลอยหากเป็นกระทงขนมปัง ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลาหรือสัตว์น้ำ และเป็นขนมปังที่ไม่มีสีสัน ที่จะเป็นพิษต่อสัตว์น้ำได้ เพราะหากนำไปลอยในแหล่งที่มีน้ำเน่าและไม่มีสัตวน้ำ จะถือว่าเป็นการเพิ่มความสกปรกให้แห่งน้ำได้ และไม่ควรลอยกระทงในทะเล เนื่องจากไม่สามารถจัดเก็บได้ง่าย บางส่วนก็จะวกกลับมาชายฝั่ง

3 งดการใช้วัสดุที่เป็นอันตรายต่อสัตว์

สำหรับลวด แม็กซ์ เข็มหมุด ตะปู อาจหลุดและตกลงสู่แม่น้ำ และเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ อีกทั้งยังทำให้เป็นกระทงที่ยากต่อการคัดแยกเพื่อนำไปจัดการอย่างถูกวิธี ดังนั้น ควรใช้วัสดุไม้กลัดที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติ

4 ห้ามใช้วัสดุพลาสติกและโฟม

เนื่องจากพลาสติกและโฟมเพราะเป็นวัสดุย่อยสลายยาก ทำให้เกิดการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกเมื่อถูกทิ้งไว้ในธรรมชาติ ซึ่งพลาสติกบางชิ้นและโฟมไม่เหมาะในการนำไปรีไซเคิล และใช้เวลาย่อยสลายหลายร้อยปี หากเล็ดลอดออกสู่สิ่งแวดล้อม

เปิดสถิติขยะกระทง กทม. 5 ปีย้อนหลัง กับความหวังใช้กระทงวัสดุธรรมชาติ 100%

5 กระทงเดียวลอยด้วยกัน

เพื่อลดปริมาณกระทงก็เชิญชวนและรณรรงค์ให้ใช้กระทงน้อยลง โดยหนึ่งครอบครัว หนึ่งกระทง หรือหนึ่งกลุ่มเพื่อนหนึ่งกระทง

“อย่างไรก็ดีใน อนาคตควรมีการกำหนดพื้นที่ลอยกระทง เช่น จัดพื้นที่ให้ประชาชนลอยกระทงในสถานที่น้ำไหล มีตาข่ายกักเก็บหรือแหล่งน้ำปิดที่เป็นพื้นที่ที่สะดวกต่อการเก็บกระทงเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม รวมถึงรณรงค์และเชิญชวนให้ผู้ขายและประชาชนสร้างสรรค์กระทงจากวัสดุจากธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย และมีการเก็บกระทงเพื่อไปจัดการอย่างถูกวิธี ย่อยสลายได้ตามความเหมาะสมเพื่อลดปริมาณขยะ เช่นนำไป หมักเป็นสารบำรุงดิน เป็นต้น” ดร.วิจารย์กล่าวเสริม

เปิดสถิติขยะกระทง กทม. 5 ปีย้อนหลัง กับความหวังใช้กระทงวัสดุธรรมชาติ 100%

สถิติปริมาณการจัดเก็บกระทงในกรุงเทพมหานคร

สำหรับสถิติปริมาณขยะการจัดเก็บกระทงในกรุงเทพมหานคร เมื่อปีที่ผ่าน (2565) สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. รายงานจำนวนกระทงที่เก็บได้ มีจำนวน 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่จัดเก็บได้ 403,235 ใบ คิดเป็นร้อยละ 42 โดยประเภทที่จัดเก็บได้ทำจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ หรือร้อยละ 95.7 และทำจากโฟม 24,516 ใบ หรือร้อยละ 4.3 โดยกระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน มีสัดส่วนลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 96.5 เป็น 95.7 ส่วนสัดส่วนของโฟมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.5 เป็น 4.3

สถิติขยะกระทง กทม. 5 ปีย้อนหลัง 

  • ปี 2565 จัดเก็บได้ 572,602 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 95.7% จากโฟม 4.3%

  • ปี 2564 จัดเก็บได้ 403,235 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.5% จากโฟม 3.5%
  • ปี 2563 จัดเก็บได้ 492,537 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.4% จากโฟม 3.6%
  • ปี 2562 จัดเก็บได้ 502,024 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.3% จากโฟม 3.7%
  • ปี 2561 จัดเก็บได้ 841,327 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 94.7% จากโฟม 5.3%

ทั้งนี้ งานลอยกระทง 2566 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมทำสถิติใหม่ โดยปริมาณกระทงลดลง 50% และเป็นกระทงทำจากวัสดุธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 100%

logoline