svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

กทม.เปิดแผนจัดการน้ำ พร้อมรับสถานการณ์แล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

16 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

โฆษก กทม. เปิดแผนบริหารจัดการน้ำสู้ปรากฏการณ์เอลนีโญ ประสานกรมชลประทานติดตามปริมาณเก็บกักน้ำ 4 เขื่อนหลัก พร้อมตรวจวัดค่าความเค็มหวั่นกระทบประชาชน

ประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจาก "ปรากฏการณ์เอลนีโญ" ล่าสุด นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมแผนบริหารจัดการน้ำของ กทม.เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ได้ประสานความร่วมมือกรมชลประทาน ในการติดตามปริมาณเก็บกักน้ำ 4 เขื่อนหลักที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงร่วมประชุมหารือกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรต่างๆ รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และด้านการเกษตร

กทม.เปิดแผนจัดการน้ำ พร้อมรับสถานการณ์แล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

รวมถึงเฝ้าระวังการรุกของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำและเฝ้าระวังตรวจวัดคุณภาพน้ำ (ความเค็ม) ในแม่น้ำเจ้าพระยาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 9 จุด ได้แก่

  1. ท่าน้ำนนทบุรี
  2. สะพานพระราม 7
  3. สะพานปิ่นเกล้า
  4. สะพานพุทธยอดฟ้า
  5. สะพานกรุงเทพ
  6. สะพานพระราม 9
  7. วัดบางกระเจ้านอก
  8. วัดบางนานอก
  9. พระประแดง

พร้อมทั้งตรวจวัดค่าความเค็มสูงสุดของแต่ละวันเป็นประจำทุกวัน จำนวน 5 จุดหลัก ประกอบด้วย

  1. สถานีสูบน้ำคลองแจงร้อน
  2. สถานีสูบน้ำคลองดาวคะนอง
  3. สถานีสูบน้ำคลองบางกอกใหญ่
  4. สถานีสูบน้ำเทเวศร์
  5. สถานีสูบน้ำคลองบางเขนใหม่

ทั้งนี้ รวมถึงคลองต่างๆ ที่มีแผนการควบคุมเปิด–ปิดประตูระบายน้ำตามแนวริมเจ้าพระยาไม่ให้น้ำเค็มที่ค่าความเค็มเกินมาตรฐานไหลเข้ามาในคลอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่

ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ สำนักการระบายน้ำ ได้ประสานและติดตามการบริหารจัดการระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้มาตามคลอง 13 ผ่านคลองแสนแสบ เข้าคลองลำปลาทิวผ่านมายังคลองประเวศบุรีรมย์พื้นที่เขตหนองจอก เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำในด้านเกษตรกรรม โดยการดำเนินการของ กทม.ในระยะเร่งด่วนได้ขุดลอกคลองสายรอง

โดยจะมีการผันน้ำจากคลองสายหลักเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ส่วนแผนในระยะยาว กทม.ได้ก่อสร้างทำนบกั้นน้ำ โดยทดน้ำหรือเก็บกักน้ำไว้ในคูคลองช่วงก่อนที่จะหมดฤดูฝน เพื่อไว้ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เขตหนองจอกที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพทำการเกษตรและมักจะประสบปัญหาความเดือดร้อนในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากน้ำที่นำไปใช้ในการเกษตรมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ทั้งนี้ นายเอกวรัญญู ยังเผยว่า ปัจจุบันการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำในพื้นที่เขตหนองจอก ได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 17 แห่ง ประกอบด้วย คลองสิงโต คลองแตงโม คลองบึงเขมร คลองขุดใหม่ คลองบึงนายรุ่ง คลองหนึ่ง คลองลัดเกาะเลา คลองสอง คลองลำแขก คลองแม๊ะดำ คลองลำเกวียนหัก คลองแยกลำต้อยติ่ง คลองกระทุ่มล้มด้านเหนือ คลองลำชะล่า คลองกระทุ่มล้มด้านใต้ คลองลำตามีร้องไห้ และคลองลำต้อยติ่ง ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรประมาณ 48,000 ไร่ ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำในพื้นที่ได้ประมาณ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยปัจจุบันมีปริมาตรน้ำเก็บกักประมาณ 0.9 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ กทม.ยังได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดที่มีคุณภาพ หรือน้ำรียูส นำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน ล้างตลาด ล้างเครื่องจักรภายในโรงงาน โดยหน่วยงาน หรือประชาชนที่สะดวกสามารถขอรับน้ำได้ที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม โรงควบคุมคุณภาพน้ำทุ่งครุ โรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ

 

logoline