svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

เลือกตั้ง 66 นโยบายพรรคไหนตอบโจทย์ SDGs ที่สุด

12 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 66 เปิดนโยบายของแต่ละพรรค ด้านการลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 66 วาระการเลือกตั้งที่ประชาชนตื่นตัวมากอีกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Centre for SDG Research and Support: SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการสำรวจนโยบายของ 9 พรรคการเมืองที่ประชาชนให้ความสนใจและมีโอกาสได้ที่นั่งในสภาเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายบริหารประเทศ ในช่วงเวลาครึ่งหลังของวาระ SDGs (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน : Sustainable Development Goals) ที่เหลืออยู่อีก 7 ปี โดยนโยบายของพวกเขาจะเป็นตัวกำหนดว่า 4 ปีต่อจากนี้ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทันปี 2030 (พ.ศ. 2573) หรือไม่

เลือกตั้ง 66 นโยบายพรรคไหนตอบโจทย์ SDGs ที่สุด

หนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจ คือผลสำรวจด้านการลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเด็นที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายร่วมกันมากที่สุด คือ “นโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน แทนพลังงานฟอสซิล” โดยพรรคนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีทั้งหมด 7 พรรค ได้แก่

  1. พรรคก้าวไกล
  2. พรรคชาติไทยพัฒนา
  3. พรรคไทยสร้างไทย
  4. พรรคเพื่อไทย  
  5. พรรคภูมิใจไทย
  6. พรรครวมไทยสร้างชาติ
  7. พรรคเสรีรวมไทย

นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs อาทิ

  • สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้
  • การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทน
  • ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด
  • เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ

ขณะที่ประเด็นที่พรรคการเมืองมีการเสนอนโยบายน้อยที่สุด คือ “นโยบายรองรับผลกระทบจากโครงการด้านพลังงานต่อชุมชนและพื้นที่” โดยมีพรรคเสนอนโยบายเพียง 1 พรรค คือพรรคก้าวไกล ซึ่งประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนและบูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ 

ประเด็นสำคัญที่ไม่มีพรรคการเมืองเสนอนโยบาย

ยังมีประเด็นที่ไม่มีพรรคการเมืองเสนอนโยบายทั้งสิ้น 2 ประเด็น คือ 

1. ส่งเสริมการให้ความรู้และผนวกประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ในการศึกษา ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

และ 2. นโยบายรองรับผลกระทบต่อแรงงานจากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG โดยเฉพาะเป้าหมายย่อย ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด รวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด

นับว่าน่ากังวลและน่าเสียดายที่ไม่มีพรรคการเมืองใดเสนอนโยบายเกี่ยวกับ 2 ประเด็น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ควรถูกนำมาพิจารณาเพื่อขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

ประการแรก การให้ความรู้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจถึงมาตรการเตรียม การปรับตัว การลดผลกระทบที่เกิดขึ้น  จากผลการศึกษาดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index-CRI) ประจำปี 2021 ซึ่งใช้ข้อมูลสะสม 20 ปี ซึ่งพบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลกสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก จากทั้งหมดประมาณ 180 ประเทศ

และประการสอง นโยบายรองรับผลกระทบต่อแรงงานจากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยหลากหลายโครงการการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน ส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจึงควรมีการรองรับและช่วยเหลือหรือพัฒนาศักยภาพของเเรงงานให้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านจะช่วยให้พวกเขาไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

 

 

ที่มา : sdgmove

 

 

logoline