svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

UN เตือนวิกฤตการณ์น้ำทั่วโลก คาดปี 2050 คนเมืองจะขาดแคลนน้ำ 2,400 ล้านคน

20 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วิกฤติน้ำโลก : องค์การสหประชาชาติเตือน วิกฤตขาดแคลนน้ำทั่วโลกอาจ ‘เพิ่มขึ้นจนควบคุมไม่อยู่’ เนื่องจากการบริโภคมากเกินไป และการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ "ภาวะโลกร้อน"

จากความต้องการใช้น้ำทั้งการอุปโภคและบริโภคที่มากเกินไป ผนวกกับการเปลี่ยนเเปลงด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ "ภาวะโลกร้อน" ส่อแววให้มวลมนุษยชาติอาจขาดแคลนทรัพยากรน้ำในอนาคตอันใกล้ โดยจากรายงานการพัฒนาน้ำโลกของสหประชาชาติ (UN World Water Development Report) ที่เผยแพร่ก่อนการประชุมสุดยอดน้ำของสหประชาชาติในนิวยอร์ก เผยโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์น้ำโดยมีแนวโน้ม "เพิ่มขึ้นจนควบคุมไม่อยู่" เนื่องจากความต้องการน้ำและผลกระทบที่ทวีความรุนแรงขึ้นของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

UN เตือนวิกฤตการณ์น้ำทั่วโลก คาดปี 2050 คนเมืองจะขาดแคลนน้ำ 2,400 ล้านคน

"การใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ได้รับอิทธิพลจากการเติบโตของประชากร และรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป จนอาจทำให้ภายในปี 2050 จำนวนผู้คนในเมืองที่ขาดแคลนน้ำจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า (จาก 930 ล้านคน ในปี 2016) เพิ่มเป็น 2,400 ล้านคน โดยคาดการณ์ว่าความต้องการน้ำในเมืองจะเพิ่มขึ้น 80 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2050 หากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำ “วิกฤตการณ์ทั่วโลกย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน" ... ริชาร์ด คอนเนอร์ (Richard Connor) ผู้เขียนหลักของรายงานกล่าวในการแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน

ผลกระทบที่ตามมา

ปัจจุบันการเข้าถึงน้ำเป็นปัญหาใหญ่ ทั่วโลกมีประชากรกว่า 2,000 ล้านคน ไม่มีน้ำดื่มสะอาด และ 3,600 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงสุขอนามัยที่มีการจัดการอย่างปลอดภัย โดยประมาณ 10% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่มีความเครียดจากน้ำสูงหรือวิกฤตอยู่แล้ว ดังเช่นกรณีของปากีสถานที่เพิ่งประสบภัยน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ การเติบโตของเมืองและอุตสาหกรรมและการเกษตรกำลังเพิ่มปัญหาการขาดแคลนที่มีอยู่แล้ว การเกษตรเพียงอย่างเดียวใช้น้ำมากถึง 70% ของโลก รายงานยังระบุอีกว่า การขาดแคลนน้ำตามฤดูกาลจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เช่น ในแอฟริกากลาง เอเชียตะวันออก และบางส่วนของอเมริกาใต้ ขณะเดียวกัน การขาดแคลนจะเลวร้ายลงในตะวันออกกลาง และภูมิภาคซาเฮลในแอฟริกา ส่วนภัยแล้งที่รุนแรงและยืดเยื้อซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงยังสร้างแรงกดดันต่อระบบนิเวศต่อพันธุ์พืชและสัตว์ 

 

“ผู้คนกว่า 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมยังคงขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด ทำให้ครอบครัวไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากดื่มและใช้น้ำที่อาจก่อให้เกิดโรค”

แถลงการณ์ขององค์การยูนิเซฟ เน้นย้ำถึงสถานการณ์เลวร้ายในปากีสถาน ประเทศที่มีประชากร 220 ล้านคน ซึ่งยังคงต้องดิ้นรนกับผลกระทบของน้ำท่วม เช่นเดียวกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลาม ซึ่งภัยน้ำท่วมของปากีสถานที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่านั้นส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คร่าชีวิตผู้คนไป 1,739 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 647 คน และผู้หญิง 353 คน

แนวทางแก้ไข

มีการเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเรื่องน้ำ คือการควบคุมน้ำท่วมและมลพิษ การแบ่งปันข้อมูล และความพยายามลดระดับมลพิษจากความร้อนของโลก โดยควร “เปิดประตูไปสู่ความร่วมมือเพิ่มเติม และเพิ่มการเข้าถึงกองทุนน้ำ” คอนเนอร์ กล่าว

 

“มีความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างกลไกระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตน้ำทั่วโลกลุกลามจนเกินควบคุม” ออเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการทั่วไปของ UNESCO หน่วยงานด้านวัฒนธรรมของสหประชาชาติ กล่าว

UN เตือนวิกฤตการณ์น้ำทั่วโลก คาดปี 2050 คนเมืองจะขาดแคลนน้ำ 2,400 ล้านคน

วิกฤตการณ์น้ำในประเทศไทย

หากย้อนไปในปี 2564 ประเทศไทยเคยเผชิญวิกฤตภัยแล้งหนัก เนื่องจากปริมาณฝนสะสมประเทศไทยในปีก่อนหน้ามีค่าน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 4 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ฝนน้อยกว่าปกติ 2 ปีติดต่อกัน ทำให้ฤดูแล้งนี้จะมีน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และขณะนี้พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว โดยความเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงมากขึ้น แต่ระบบชลประทานไม่มีน้ำปริมาณมากเพียงพอในการผลักดันน้ำเค็มได้เต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้สัมผัสได้ถึงความเค็มที่สูงกว่าปกติของน้ำประปา จนต้องมีการเตือนถึงผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ที่ต้องระวังการนำน้ำประปาไปใช้ในการอุปโภค-บริโภค นอกจากนี้ พื้นที่ผลผลิตทางการเกษตรก็ยังได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะสวนทุเรียน จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก และสมุทรปราการ ทำให้ต้นไม้และพืชผลทางการเกษตรเริ่มได้รับความเสียหายจำนวนมาก

การบริหารน้ำคือความท้าทายของภาครัฐและประชาชน

ปัญหาการบริหารน้ำของประเทศไทย คือมุ่งที่โครงสร้างขนาดใหญ่ ไม่ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบนั่นคือ ป่าต้นน้ำ และโครงสร้างขนาดเล็กที่กระจายเชื่อมต่อกันเพื่อระบายน้ำ เมื่อฝนตกหนักจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่ไทยมีข้อมูลมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ และไทยมีการใช้น้ำต่อหัวสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยส่วนใหญ่มาจากกว่าภาคเกษตร ทั้งโดยตรงและตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร สำหรับคนในเมืองใช้น้ำ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน และคนชนบทใช้น้ำ 80 ลิตรต่อคนต่อวัน อีกทั้ง ยังไม่มีการวางแผนเตรียมรองรับกับการท่องเที่ยว ที่มีการใช้น้ำสูงถึง 1,000 ลิตรต่อคนต่อวัน และหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมักจะใช้น้ำสูงกว่าแผน ซึ่งอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าความต้องการน้ำทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้น 25% ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐและประชาชนในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ

ประเทศไทยจะยังคงมีปริมาณน้ำใช้เพียงพอสำหรับทุกคน หากสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้น้ำอย่างพอดี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ไม่ให้เกิด “วิกฤตน้ำ” ซึ่งหมายถึงวิกฤตชีวิตและเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

 

 

 

อ้างอิง : cnn, unesco, scg

logoline