svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

'เยอรมนี' ต้นแบบประเทศรีไซเคิลเก่งที่สุดในโลก

10 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

No.1 เรื่องรีไซเคิล "เยอรมนี" ประเทศถังขยะหลากสี ดีกรีแชมป์ดินแดนที่นำของเสียและวัสดุเหลือใช้กลับมาสร้างประโยชน์ใหม่เก่งที่สุดในโลก

"เยอรมนี" นอกจากจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องของวิศวกรรมยานยนต์แล้ว ยังมีชื่อเสียงในการเป็นผู้นำทางด้านรีไซเคิล เพราะกว่า 67% ของขยะในประเทศนี้ถูกนำไปรีไซเคิลให้กลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ แม้ชาวเยอรมันจะสร้างขยะเยอะจนเคยเจอปัญหาขยะล้นเมืองมาแล้ว แต่ด้วยความเข้มแข็งของภาครัฐ ทำให้เยอรมนีขึ้นเป็นท็อปฟอร์มด้านการจัดการและการรีไซเคิลขยะมากที่สุดในโลก ซึ่งหนึ่งในวิธีการรับมือกับปัญหานี้คือการออกกฎหมายควบคุมขยะมูลฝอย โดยทุกคนจะต้องลดการผลิตซึ่งทำให้เกิดขยะน้อยที่สุด แล้วรีไซเคิลของทุกอย่างเท่าที่ทำได้ นอกจากนี้ การกำจัดขยะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดอีกด้วย และนี่คือ...จุดเริ่มต้นของเยอรมนีก่อนที่จะมาเป็น “ประเทศอันดับ 1 ของการรีไซเคิล”

\'เยอรมนี\' ต้นแบบประเทศรีไซเคิลเก่งที่สุดในโลก

เยอรมนีประเทศนโยบายจัดการขยะเข้มแข็ง

รัฐบาลเยอรมนีมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการจัดการขยะ รวมไปถึงการรีไซเคิลขยะภายในประเทศ เหตุผลหนึ่งมาจากการออกกฎหมายและนโยบายที่เข้มแข็ง ทำให้ภาคส่วนต่างๆ และประชาชนมีส่วนร่วมในการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดย 3 นโยบายหลักที่เยอรมนีใช้ควบคุมและจัดการขยะภายในประเทศ ได้แก่

1) ‘Packaging Ordinance (1991)’ หรือ ‘กฤษฎีกาว่าด้วยบรรจุภัณฑ์’ คือกฎหมายฉบับแรกของเยอรมนีที่กำหนดให้บรรดาผู้ผลิตสินค้าต้องจัดการขยะของแพ็กเกจจิ้งต่างๆ ซึ่งรวมทั้ง ‘บรรจุภัณฑ์ขั้นที่หนึ่ง (Primary Packaging)’ ที่ห่อหุ้มตัวสินค้าเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวสินค้าเสียหาย, ‘บรรจุภัณฑ์ขั้นที่สอง (Secondary Packaging)’ ที่ห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์ขั้นที่หนึ่งมาอีกทีเพื่อป้องกันความเสียหายและเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า สุดท้ายคือ ‘บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง (Shipping Packaging)’ ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เก็บรักษาและขนส่งตัวสินค้านั่นเอง

รัฐบาลเยอรมนีมองว่า แพ็กเกจจิ้งหลายรูปแบบนี้ก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงกำหนดให้บริษัทต่างๆ แยกและรวบรวมขยะแพ็กเกจจิ้งเพื่อนำกลับมารีไซเคิลต่อไป 

ต่อมาในปี 2019 ทางการได้แทนที่กฤษฎีกาด้วย ‘Packaging Act’ หรือ ‘พระราชบัญญัติว่าด้วยบรรจุภัณฑ์’ ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มอัตรารีไซเคิลขยะแพ็กเกจจิ้งที่สูงกว่าเดิม แต่ก็ยังมีการบังคับให้ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ชำระค่าธรรมเนียมการรีไซเคิลเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทต่างๆ ต้องลงทะเบียนกับ Central Agency Packaging Register เพื่อความโปร่งใส่ในการดำเนินงาน เพราะผู้ผลิตเหล่านี้ต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณและวัสดุของแพ็กเกจจิ้งให้หน่วยงานนี้เป็นประจำด้วย

\'เยอรมนี\' ต้นแบบประเทศรีไซเคิลเก่งที่สุดในโลก

2) Green Dot System (1991) เยอรมนีให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต โดยกำหนดให้ผู้ผลิตต้องติด ‘Green Dot’ หรือ ‘ฉลากสีเขียว’ นอกบรรจุภัณฑ์เพื่อระบุว่าสินค้าชิ้นนี้จะถูกส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลต่อไป แต่ก่อนที่ผู้ผลิตจะติดเจ้าจุดสีเขียวบนสินค้าได้ พวกเขาต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ ‘Dual System Germany’ หน่วยงานที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดการขยะเสียก่อน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทเอกชนรวบรวมขยะแพ็กเกจจิ้งจากครัวเรือนต่างๆ ควบคู่ไปกับระบบเก็บขยะของเทศบาลได้

ที่สำคัญกลยุทธ์ Green Dot ของเยอรมนียังเป็นต้นแบบในการจัดการขยะให้กับประเทศยุโรปอื่นๆ ด้วย โดยปัจจุบันมีมากกว่า 130,000 บริษัทใน 23 ประเทศยุโรปที่นำระบบนี้ไปใช้ และมีบรรจุภัณฑ์มากกว่า 460 พันล้านชิ้นที่มาพร้อมฉลากสีเขียวนี้

3) Closed Substance Cycle and Waste Management Act (1996) พระราชบัญญัติที่ขยายให้ครอบคลุม Packaging Ordinance โดยกำหนดให้ ‘ผู้ผลิต’ ‘ผู้ค้า’ และ ‘ผู้บริโภค’ ต้องมีส่วนรับผิดชอบในมิติต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการขยะ ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการสร้างขยะ การนำสิ่งของกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิล รวมไปถึงการกำจัดของเสียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

กฎหมายฉบับนี้ยังกระตุ้นให้ภาคธุรกิจคิดใหม่ทำใหม่เกี่ยวกับระบบการผลิตของตัวเอง เพื่อทำให้แน่ใจว่าสินค้าส่วนใหญ่ผลิตมาจากวัสดุที่รีไซเคิลได้ รวมไปถึงส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดของเสียในอัตราที่ต่ำ และสามารถกำจัดขยะได้ด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงไม่แปลกใจที่เยอรมนีจะมีสินค้าที่ทำจากวัตถุดิบทางธรรมชาติและย่อยสลายได้ทางชีวภาพมากขึ้นเรื่อยๆ 

ทั้งสามนโยบายที่เล่ามานับว่าสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับการจัดการขยะของเยอรมนีอย่างมาก ทำให้อัตราการรีไซเคิลขยะในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังสร้างความเข้าใจและปลูกฝังวัฒนธรรมการรีไซเคิลให้ประชาชนด้วย

\'เยอรมนี\' ต้นแบบประเทศรีไซเคิลเก่งที่สุดในโลก

ระบบคัดแยกขยะจากต้นทางที่ละเอียดมากกว่า

เยอรมนีมีมาตรการคัดกรองวัสดุเหลือใช้ด้วยการใช้ถังขยะสีต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกและรีไซเคิลขยะได้ในทุกๆ วัน ทำให้ทั่วประเทศมีถังขยะหลากสีเพื่อคัดแยกประเภทขยะที่หลากหลาย ได้แก่

  • ถังสีเหลือง สำหรับทิ้งขยะพลาสติก อะลูมิเนียม กระป๋อง กล่องเครื่องดื่ม
  • ถังสีน้ำเงิน สำหรับทิ้งกระดาษแข็งและกระดาษทั่วไป เช่น นิตยสาร หนังสือพิมพ์ 
  • ถังสีน้ำตาล/สีเขียว สำหรับทิ้งเศษอาหาร ขยะออร์แกนิก
  • ถังขยะสีดำ สำหรับทิ้งขยะที่ขายต่อ บริจาค หรือรีไซเคิลไม่ได้ เช่น ก้นบุหรี่ ผ้าอ้อมใช้แล้ว กระดาษรองอบใช้แล้ว ทิชชูใช้แล้ว

ส่วนถังขยะสำหรับทิ้งขวดแก้วแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • ถังสีขาว (Weißglas) สำหรับทิ้งขวดแก้วแบบใส
  • ถังสีน้ำตาล (Braunglas) สำหรับทิ้งขวดแก้วสีน้ำตาล
  • ถังสีเขียว (Grunglas) สำหรับขวดแก้วสีเขียว แดง และน้ำเงิน

สำหรับขยะประเภทแบตเตอรี่หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ชาวเยอรมันไม่สามารถทิ้งในถังขยะที่กล่าวมาข้างต้นได้ เพราะพวกเขาต้องทิ้งขยะเหล่านี้ตามจุดทิ้งขยะที่กำหนด โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และร้านขายวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ

มากไปกว่านั้น ในเยอรมนียังมีศูนย์รีไซเคิล (Recycling Center) ตั้งอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งคอยทำหน้าที่แยกขยะประเภทต่างๆ โดยประชาชนสามารถนำขยะชิ้นใหญ่ไปทิ้งที่ศูนย์เหล่านี้ได้ เช่น วัสดุก่อสร้าง ต้นไม้ เฟอร์นิเจอร์ พรม และฟูกที่นอน

มาตรการแยกขยะโดยประชาชนช่วยให้รัฐบาลกลางประหยัดงบประมาณในการกำจัดและจัดการของเสีย อีกทั้งยังช่วยลดการปนเปื้อนของวัสดุรีไซเคิลได้อย่างมาก เพราะถ้าขยะรีไซเคิลล็อตไหนมีการปนเปื้อนหรือได้รับความเสียหาย แปลว่าขยะทั้งล็อตนั้นอาจไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด จนอาจกลายเป็นขยะที่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม

ต้องยอมรับว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ระบบแยกขยะมีประสิทธิภาพคือ การที่เยอรมนีบังคับให้ประชาชนแยกขยะ หากไม่แยกขยะหรือทิ้งขยะในถังขยะผิดประเภทแล้วถูกจับได้ บุคคลนั้นๆ ต้องจ่ายค่าปรับหลายร้อยถึงหลายพันยูโรเลยทีเดียว 

โดยนอกเหนือจากการคัดแยกและรีไซเคิลขยะแล้ว รัฐบาลเยอรมนียังลงมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในมิติอื่นๆ เช่น สั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศ ผลักดันนโยบายพลังงานหมุนเวียน ขึ้นภาษีน้ำมันปิโตรเลียม ขยายเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะและเลนจักรยาน เป็นต้น ส่วนชาวเยอรมันก็เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองด้วยเช่นกัน เช่น เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน กินอาหารออร์แกนิกและมังสวิรัติ เพราะการผลิตอาหารประเภทนี้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ หรือบางคนเลือกเดินทางด้วยขนส่งมวลชนและจักรยานเพียงอย่างเดียวโดยไม่พึ่งพารถยนต์ส่วนตัวเลย

\'เยอรมนี\' ต้นแบบประเทศรีไซเคิลเก่งที่สุดในโลก

โครงการ "ค่ามัดจำ" จูงใจคนให้รีไซเคิล

ในประเทศเยอรมนีมีโครงการ Pfand หรือ Deposit Refund System ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2003 เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนส่งคืนขวดและกระป๋องประเภทต่างๆ โดยเฉพาะ เมื่อผู้บริโภคซื้อขวดน้ำจากซูเปอร์มาร์เก็ต พวกเขาต้องจ่าย ‘ค่ามัดจำ’ เพิ่มเติมจากค่าเครื่องดื่ม และจะได้ค่ามัดจำคืนเมื่อนำขวดไปคืนที่ร้านค้าหรือเครื่องรับคืนขวดอัตโนมัติทั่วประเทศ  โดยขวดน้ำที่เข้าร่วมโครงการนี้จะติดโลโก้หรือชื่อโครงการไว้บริเวณข้างขวด โดยแบ่งประเภทของบรรจุภัณฑ์ที่ต้องจ่ายค่ามัดจำเป็นสองประเภท ได้แก่

1) ขวดน้ำที่ใช้ซ้ำได้ (Multi-use Bottles) คือขวดน้ำที่มักทำมาจากแก้วหรือพลาสติกที่มีความหนา ซึ่งขวดน้ำเหล่านี้นำมาใช้ซ้ำได้มากถึง 50 ครั้งก่อนนำไปรีไซเคิล เช่น ขวดแก้วไร้แอลกอฮอล์ ขวดเบียร์ ขวดพลาสติกชนิดหนา แก้วใส่โยเกิร์ต เป็นต้น ขวดประเภท Multi-use มีค่ามัดจำอยู่ระหว่าง 0.08 – 0.25 ยูโร หรือราว 3 – 9 บาทต่อขวด

2) ขวดและกระป๋องใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Bottles and Cans) คือขวดน้ำที่มีพลาสติกบางและกระป๋องทั่วไป ใช้งานได้หนึ่งครั้งก่อนนำไปรีไซเคิลในขั้นตอนต่อไป ค่ามัดจำของขวดประเภท Single-use อยู่ที่ 0.25 ยูโร หรือราว 9 บาทต่อขวด

ทั้งนี้ จากการมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังในเรื่องการจัดการขยะที่ขับเคลื่อนกันมาอย่างยาวนาน บวกกับการร่วมมือกันอย่างแข็งขันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่ทำให้เยอรมนีได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ยั่งยืนที่สุด รวมไปถึงเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้หลายๆ ประเทศ

logoline