svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

รู้จัก 'เนื้อสัตว์เทียม' อาหารแห่งอนาคต แหล่งโปรตีนแทนการทำปศุสัตว์

20 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อพื้นที่ทางการเกษตรในโลกกว่า 80% ถูกอุทิศให้ระบบการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อเป็นอาหารส่งต่อให้มนุษย์ "เนื้อสัตว์เทียม" จากห้องแล็บจึงเป็นความหวังที่ใกล้เป็นจริงในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หน้าร้อนปีนี้อาจร้อนกว่าทุกปีที่ผ่านมา ด้วย "ภาวะโลกร้อน" ที่กลายเป็นภัยคุกคามชาวโลก และการทำปศุสัตว์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 18% นี่จึงเป็นสาเหตุให้มีการมุ่งคิดค้นอาหารแห่งอนาคต เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนชดเชยการทำปศุสัตว์เช่นในอดีต

รู้จัก \'เนื้อสัตว์เทียม\' อาหารแห่งอนาคต แหล่งโปรตีนแทนการทำปศุสัตว์

นักวิทยาศาสตร์จึงระดมสรรพกำลังและความคิดเพื่อพิชิตเป้าหมายร่วมกันในการช่วยโลกใบนี้ ด้วยการคิดค้น "เนื้อสัตว์เทียม" หรือ "Cultured meat" จากแนวคิดการเพาะเนื้อสัตว์ในห้องแล็บ (Lab-grown meat) ที่ผลิตเนื้อสัตว์ขึ้นในแล็บโดยเนื้อเยื่อของเนื้อสัตว์จริง โดยตระหนักถึงความยั่งยืน และการรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อให้มนุษยชาติยังคงสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข

สำหรับเนื้อจากห้องแล็บ เป็นเนื้อสัตว์ที่มาจากกระบวนการเลียนแบบการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อด้วยเทคโนโลยี “สเต็มเซลล์” วิศวกรรมชีวภาพและวัสดุชีวภาพ เทคโนโลยีที่ทำให้เซลล์เนื้อ 1 ชิ้น เติบโตกลายเป็นก้อนเนื้อที่มีไขมัน กล้ามเนื้อและเนื้อแดงที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยโปรตีนและวิตามินต่าง ๆ เทียบเคียงกับเนื้อสัตว์จริง ๆ ซึ่งนวัตกรรมนี้ถูกเริ่มต้นทำการวิจัยมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1950 โดย Willem van Eelen นักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์ ผู้ที่ต้องการหาทางแก้ไขวิกฤติขาดแคลนอาหาร หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งนวัตกรรมการผลิตกล้ามเนื้อสัตว์เทียมชิ้นแรกเพื่อให้มนุษย์บริโภค ผลิตสำเร็จในช่วงปี 1991 ซึ่งต่อมาในปี 2013 เป็นปีแรกที่โลกได้รู้จักกับเบอร์เกอร์เนื้อที่ทำจากเนื้อเทียม (first cultured beef burger patty) ที่ถูกผลิตจาก Mark Post แห่งมหาวิทยาลัย Maastricht

รู้จัก \'เนื้อสัตว์เทียม\' อาหารแห่งอนาคต แหล่งโปรตีนแทนการทำปศุสัตว์

วิธีนี้อาจจะเป็นตัวเลือกสำคัญของคนที่ยังอยากกินเนื้อจริง ๆ ไม่ใช่เนื้อจากพืช ซึ่งเป็นเนื้อที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าหรือทำร้ายสัตว์ และมีจุดประสงค์ที่ลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดภาวะโลกร้อน ทั้งยังเพิ่มทางเลือกในการบริโภคอาหารให้กับมุนษย์ แต่เนื้อเทียม หรือ Lab-grown meat นี้ ไม่ได้เป็นเนื้อวีแกน เพราะผลิตจากเซลล์ของเนื้อสัตว์จริง ๆ ในขณะที่ Plant Based meat ทำมาจากพืชจึงถูกจัดอยู่ในประเภทของอาหารวีแกน

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีบริษัทพัฒนาเนื้อสัตว์เทียมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อที่จะเป็นบริษัทแรกที่มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐ สิงคโปร์ ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน อิสราเอล และเนเธอร์แลนด์ โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวคือนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นใช้การพิมพ์ 3 มิติ ผลิตเนื้อวากิวลายหินอ่อนได้สำเร็จผ่านการใช้สเต็มเซลล์ 2 ชนิด จากเนื้อวากิวที่เรียกว่า โบไวน์ แซเทลไลต์ Bovine Satellite Cell และ อดิโพส-ดีไรฟ์ Adipose-derived Stem Cell เพื่อทำให้เซลล์ต้นกำเนิดสามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ชนิดต่าง ๆ ที่ต้องการสำหรับการผลิตเนื้อวากิวได้

การผลิตเนื้อสัตว์แบบเพาะเนื้อจากเซลล์ แม้ฟังดูขาดสุนทรียะรสและไม่ชวนให้เจริญอาหาร แต่นักวิจัยให้ความเห็นว่า วิธีนี้ไม่ได้แตกต่างจากกระบวนการผลิตอาหารในภาคอุตสาหกรรม หรือการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์ที่เรากินทุกวันนี้ก็ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ การผสมพันธุ์เทียม หรือการเลี้ยงในโรงเรือนที่ควบคุมสภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง มีการให้อาหารเสริม วิตามินและยาต่าง ๆ แก่สัตว์ ซึ่งก็ไม่ได้มีความเป็นธรรมชาติก่อนจะถึงโต๊ะอาหารอยู่แล้ว ดังนั้น การเปลี่ยนมากินเนื้อสัตว์แบบเพาะเลี้ยงจากเซลล์ก็แทบไม่แตกต่างกัน และเหนืออื่นใด หลักการเนื้อสัตว์ทดแทนคือ ต่อไปจะต้องหาซื้อได้ง่าย ราคาเอื้อมถึง รสชาติเหมือนเนื้อสัตว์จริง ๆ และอาจมีบทบาทในฐานะอาหารสุขภาพในอนาคตได้

รู้จัก \'เนื้อสัตว์เทียม\' อาหารแห่งอนาคต แหล่งโปรตีนแทนการทำปศุสัตว์

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ต้องไม่ลืมเช่นกันคือ ทุกวันนี้มนุษย์เราบริโภคเนื้อสัตว์มากเกินไป และการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เน้นกินผัก ผลไม้ให้มากขึ้นก็เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพและดีต่อโลก ซึ่งเรื่องนี้ก็คงจะเป็นสิ่งที่ทั้งนักกิจกรรมลดโลกร้อน นักโภชนาการ นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงคุณหมอเห็นตรงกัน

logoline