ภาพที่โดดเด่น แสดงให้เห็นชายสวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวกางเกงขายาวสีดำ สองมือหิ้วถุง ยืนประจันหน้าแถวรถถัง 4 คัน บนถนนสันติภาพอันเป็นนิรันดร์ (Avenue of Eternal Peace) กรุงปักกิ่ง หลังพรรคคอมมิวนิสต์ มีคำสั่งให้ทหารกวาดล้างผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และเขาถูกตั้งสมญาว่า "Tank man" กลายเป็นสัญลักษณ์ของการปรามปรามที่จตุรัสเทียนอันเหมิน นับแต่นั้นมา
แต่คำถามก็คือ คลิปและภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาพนี้ เล็ดรอดออกมาสู่สายตาโลกภายนอกได้อย่างไร ภาพนี้เป็นฝีมือของ "เจฟฟ์ ไวด์เนอร์" (Jeff Widener) ช่างภาพชาวอเมริกัน ที่ขณะนั้นเป็นช่างภาพของสำนักข่าว AP และยังมีคลิปวิดีโอที่บันทึกโดยทีมข่าวของ CNN ด้วย
รัฐบาลจีน ได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะควบคุม "สาร" ที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก พยายามหยุดนักข่าวตะวันตกทั้งหมด โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดของ CNN จากระเบียงอาคารแห่งหนึ่ง ที่เป็นหน้าต่างให้โลกมองเห็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน
คืนวันที่ 3 มิถุนายน ปี2532 หลังการประท้วงของนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานที่ยาวนานเกือบ 2 เดือน เพื่อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการเมืองเร็วขึ้นและสิ้นสุดคอรัปชั่น ขบวนรถถังและทหารติดอาวุธได้เคลื่อนเข้าสู่ใจกลางกรุงปักกิ่ง เพื่อ "เคลียร์" จตุรัสเทียนอันเหมิน นำไปสู่การนองเลือด รถถังแล่นทับร่างผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธ ทหารยิงเข้าใส่ฝูงชนไม่เลือกหน้า และจนถึงตอนนี้ ภาพและเรื่องราวของเหตุการณ์ในวันนั้น เป็นประเด็นทางการเมืองต้องห้ามที่อ่อนไหวที่สุดในจีน การพาดพิงไม่ว่าจะทางใดจะถูกเซ็นเซอร์ทั้งหมด ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ไม่เคยมีการเปิดเผยน่าจะอยู่ราวๆ หลายพันจนถึงหนึ่งหมื่นคน
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ปี 2532 เมื่อหลิวเฮียงฉิง บรรณาธิการภาพของ AP ในปักกิ่ง ขอให้ไวด์เนอร์ ช่วยถ่ายภาพทหารจีนจากโรงแรมปักกิ่ง ที่เคยเป็นจุดชมวิวที่ดีที่สุดของ
จตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งไวด์เนอร์พึ่งเดินทางจากสำนักงานในกรุงเทพฯ ได้หนึ่งสัปดาห์ เขาใช้วิธีการซ่อนอุปกรณ์กล้องไว้ในเสื้อแจ็คเก็ต มีเลนส์ยาว 400 ม.ม. อยู่ในกระเป๋าข้างหนึ่ง เลนส์ยาวเป็นสองเท่าอยู่อีกกระเป๋าหนึ่ง ฟิล์มถูกซ่อนในกางเกงชั้นใน ส่วนตัวกล้องอยู่ในกระเป๋าหลัง และเล็ดรอดเข้าไปในโรงแรม
การเข้าไปบันทึกภาพว่าเสี่ยงแล้ว การลักลอบนำออกมายิ่งเสียงกว่า ฟิล์มทั้งหมดถูกซ่อนไว้ในกางเกงชั้นใน เพื่อเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก ส่วนของ CNN ที่บันทึกเป็นวิดีโอ ไม่สามารถส่งทางอีเมล เพราะตอนนั้นยังไม่สามารถรองรับไฟล์ขนาดใหญ่ ทำให้ต้องใช้อุปกรณ์ที่เป็นตัวช่วยที่เรียกว่า "กิซโม่" ซึ่งเป็นต้นแบบที่ Sony ที่ให้ทดลองใช้ โดยใช้เวลาสแกนหนึ่งชั่วโมง และส่งผ่าน "สายโทรศัพท์" พวกเขายังทำก็อปปี้ และส่งไปที่สนามบิน ฝากให้นักท่องเที่ยวคนหนึ่งนำไปฮ่องกง ที่ตอนนั้นยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้จะมีภาพ "Tank Manฎ จากหลายสำนัก แต่ที่นิยมที่สุด คือ ภาพที่ไวด์เนอร์เป็นคนถ่าย และทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) ในปีเดียวกัน