svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

เจาะลึกสารพัดวิธีการประหารชีวิตของจีน

02 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักโทษประหารของจีน ถูกเปรียบเทียบว่าเหมือนอยู่บนสายพานลำเลียงไปเข้าสู่แดนประหาร ที่อาจไม่ใช่สถานที่ตายตัวเสมอไปและไม่ใช่วิธีการแบบเดียวกันด้วย ที่รวมถึงรถตู้มรณะเคลื่อนที่ หน่วยยิงเป้าหรือการฉีดยาพิษ ซึ่งปลิดชีวิตได้ปีละเป็นพันคน

สำหรับจีนจำนวนของการประหารชีวิตในแต่ละปีมักถูกเก็บเป็นความเป็นลับ แต่กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้ประเมินว่าน่าจะสูงถึงหลายพันคน และตัวเลขน่าจะมากกว่าอิหร่าน, ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐฯ รวมกัน การที่กฎหมายอาญาของจีนขึ้นชื่อว่ามีบทลงโทษที่หนัก และโทษประหารชีวิตไม่ได้ใช้แค่คดีอาชญากรรมร้ายแรง เช่น ค้ายาเสพติดไปจนถึงการฆาตกรรม แต่ยังรวมไปถึง "อาชญากรรมปกขาว" ที่หมายถึงการทุจริตของบุคคลในภาคราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชนด้วย 

รายงานที่เผยแพร่เมื่อปี 2564 ระบุว่า ประมวลกฎหมายอาญาของจีน ปี 2540 ที่ยังมีผลบังคับใช้จนถึงวันนี้ ถูกใช้ประหารชีวิตนักโทษ 46 คดี โดยเป็นอาชญากรรมรุนแรง 24 คดี และไม่ใช่อาชญากรรมรุนแรง 22 คดี แม้ว่าจะลดลงจากเมื่อปี 2522 ที่ตอนนั้น สูงถึง 74 คดี แต่การประหารชีวิตก็ยังดำเนินอยู่ จนองค์การนิรโทษกรรมสากลเปรียบเทียบกฎหมายฉบับนี้ว่า "สายพานลำเลียงไปสู่แดนประหาร" 

เจาะลึกสารพัดวิธีการประหารชีวิตของจีน

พันธมิตรโลกต่อต้านโทษประหารชีวิต (World Coalition Against the Death Penalty) ออกรายงานปี 2564 ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา มีผู้ถูกประหารชีวิตในจีนปีละอย่างน้อย 8,000 คน และโทษประหารชีวิตได้รับความสนใจในสัปดาห์นี้ เมื่อมีการประหารชีวิตคู่รักที่ก่อคดีฆาตกรรมลูกติดของฝ่ายชาย 2 คน เมื่อวันพุธ (31 มกราคม 2567) 

คดีของคู่รักคือ จาง โป๋ว และเย่อ เฉิงเฉิน ได้เรียกเสียงประณามจากทั่วประเทศหลัง จาง โป๋ว โยนเด็กหญิงวัย 2 ขวบ กับเด็กชายวัย 1 ขวบ ที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเขาจากหน้าต่างชั้น 15 ของอะพาร์ตเมนต์ในฉงชิ่ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 เพราะถูกยุยงจากเย่อ เฉิงเฉิง ที่บอกว่าเด็กทั้งคู่จะเป็นอุปสรรคในการแต่งงาน และเป็นภาระในการใช้ชีวิตร่วมกันในอนาคต ต่อมาศาลประชาชนกลางฉงชิ่งหมายเลข 5 ได้ตัดสินเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564 ว่า ทั้งคู่มีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดกันฆ่าเด็กและสร้างหลักฐานเท็จว่าเป็นอุบัติเหตุ และให้รับโทษสูงสุดขั้นประหารชีวิต เรื่องของทั้งคู่กลายเป็นหัวข้อติดเทรนด์ในโซเชียลมีเดียจีน ที่มียอดเข้าชมเกือบ 200 ล้านวิว เนื่องจากเป็นการกระทำที่เลือดเย็นและเหยื่อเป็นเด็กเล็ก

เย่อ เฉิงเฉิน - จาง โป๋ว

การประหารของจีนมีวิธีที่เป็นที่ฮือฮาก็คือ "รถตู้ประหารชีวิต" หรือที่รู้จักในชื่อ "หน่วยปฏิบัติการประหารชีวิตเคลื่อนที่" ที่เปรียบเสมือนลานประหารสัญจร ที่จะประหารนักโทษที่ไหนก็ได้ในขณะที่รถแล่นอยู่ และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเป็นรถบัสขนาด 24 ที่นั่ง

ถ้าดูจากภายนอกรถตู้มรณะนี้จะเหมือนรถตำรวจทั่วไป ไม่มีเครื่องหมายใด ๆ ที่บ่งชี้การใช้งาน ส่วนภายในถูกทำให้เป็นห้องประหาร ด้านหลังไม่มีหน้าต่าง ติดกล้องวงจรปิดหลายตัว เพื่อบันทึกภาพและสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ต้องการดูการประหาร ในรถมีเตียงที่ดึงออกมาจากผนัง นักโทษจะถูกมัดเพื่อให้เจ้าหน้าที่จะปักไซริงค์เข้าที่แขน จากนั้นตำรวจจะกดปุ่มเพื่อเดินยาพิษเข้าสู่ร่างกาย

เจาะลึกสารพัดวิธีการประหารชีวิตของจีน

แนวคิดรถตู้มรณะถูกใช้ครั้งแรกเมื่อทศวรรษที่ 1990 ซึ่งจีนยืนยันว่ามีความก้าวหน้า ราคาถูกกว่าโรงประหารชีวิต และไม่จำเป็นต้องขนส่งนักโทษอีกต่อไป แต่ระยะหลังวิธีใช้รถตู้มรณะได้เริ่มลดลง โดยหันไปใช้การฉีดยาพิษแบบในหลายประเทศ ส่วนการยิงเป้ายังคงมีอยู่ เช่น คดีของจ้าว เจ๋อเหว่ย ที่ไล่เแทงเด็กนักเรียน 9 คน ก็ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าต่อหน้าชาวบ้านในที่เกิดเหตุ เมื่อปี 2561

การประหารชีวิตของจีนยังเป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" เพราะผู้กระทำผิดจะถูกประหารในเวลาอันรวดเร็ว บางครั้งทำในที่สาธารณะ เช่น เมื่อปี 2557 มีผู้ถูกตัดสินว่ากระทำผิด 55 คน ต่อหน้าผู้ชม 7,000 คน ในสนามกีฬา ก่อนที่ส่วนใหญ่จะถูกประหารชีวิต หรือกรณีที่มีการนำตัวไปประหารในพงหญ้าข้างทางต่อหน้าชาวบ้านที่ผ่านไป-มาด้วย

logoline