svasdssvasds
เนชั่นทีวี

บันเทิง

กระแส "Squid Game" ทำชาวโลกแห่เรียน "ภาษาเกาหลี"

12 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระแสฟีเวอร์ "Squid Game" ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง จนทำให้คนหลายประเทศแห่เรียนภาษาเกาหลี นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จระดับโลกของเกาหลีใต้

อัปเดตกระเส รายงานล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (11 ต.ค. 2564) Duolingo (ดิวโอลิงโก) แอปพลิเคชั่นเรียนภาษา รายงานว่า มีคนสนใจเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่มีการเผยแพร่ “Squid Game” ซีรีส์ยอดฮิตทางเน็ตฟลิกซ์ ตอกย้ำถึงความคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมเกาหลีใต้ในระดับโลก ตั้งแต่สื่อบันเทิงไปจนถึงผลิตภัณฑ์ความสวยความงาม

 

แอปพลิเคชั่นเรียนภาษาดังกล่าว ระบุว่า Squid Game ซีรีส์แนวเกมเอาตัวรอดสุดระทึก 9 ตอนที่นำคนจนมาแข่งกันในเกมเด็กเล่นแบบเสี่ยงตายเพื่อชิงเงินรางวัล 4.56 หมื่นล้านวอน (ราว 1,280 ล้านบาท) กระตุ้นให้คนเริ่มหันมาเรียนภาษาเกาหลี ทั้งยังทำให้คนที่เรียนอยู่แล้วต้องการพัฒนาทักษะมากขึ้น

 

กระแส "Squid Game" ทำชาวโลกแห่เรียน "ภาษาเกาหลี"

ตะวันตกเรียนภาษาเกาหลีพุ่ง

ข้อมูลจาก Duolingo เผยว่า มีผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้น 76% ที่สมัครเรียนภาษาเกาหลีในสหราชอาณาจักร และ 40% ในสหรัฐในช่วง 2 สัปดาห์หลังจากที่ซีรีส์ดังกล่าวเริ่มฉายวันแรก

 

ปัจจุบัน เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย ได้สร้างชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางความบันเทิงระดับโลกผ่านป๊อปคัลเจอร์ (Pop Culture) ที่มีชีวิตชีวา

 

 

กระแส "Squid Game" ทำชาวโลกแห่เรียน "ภาษาเกาหลี"

หนึ่งในนั้นรวมไปถึง วงบอยแบนด์ 7 หนุ่มอย่าง BTS และภาพยนตร์ชนะรางวัลออสการ์ เช่น “ชนชั้นปรสิต” (Parasite) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ตลกร้ายเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันแบบฝังลึก และเรื่อง “มินาริ” (Minari) ที่ถ่ายทอดชีวิตครอบครัวผู้อพยพชาวเกาหลีในสหรัฐ

 

 

กระแส "Squid Game" ทำชาวโลกแห่เรียน "ภาษาเกาหลี"

Soft Power “ฮันกึล” มาแรง

นอกจากปรากฏการณ์คนแห่เรียนภาษาเกาหลีแล้ว ในสัปดาห์นี้ พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซ์ฟอร์ดได้เพิ่มคำศัพท์ใหม่ภาษาเกาหลีถึง 26 คำ รวมไปถึง “ฮันรยู” (hallyu) ที่แปลว่า “กระแสเกาหลี” (Korean wave) ซึ่งใช้ในบริบทความสำเร็จระดับโลกของเกาหลี ทั้งในวงการเพลง ภาพยนตร์ ซีรีส์ แฟชั่น และอาหาร

 

ขณะที่ ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ผู้นำเกาหลีใต้ แสดงความยินดีกับการเพิ่มศัพท์เกาหลีของพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด พร้อมประกาศให้ “ฮันกึล” (Hangeul) ซึ่งเป็นชื่อเรียกตัวอักษรเกาหลีที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นแทนตัวอักษรฮันจา เป็น Soft Power ของประเทศ

 

กระแส "Squid Game" ทำชาวโลกแห่เรียน "ภาษาเกาหลี"

เมื่อไปดูผลสำรวจ Global Soft Power Index 2021 ของ Brand Finance ซึ่งจัดอันดับประเทศที่มีการใช้ Soft Power อย่างแข็งแกร่ง พบว่า เกาหลีใต้ รั้งอันดับ 11 ของโลกในปีนี้ ขยับขึ้นจากอันดับ 14 เมื่อปีที่แล้ว

 

ส่วนแชมป์ตกเป็นของ เยอรมนี ซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมทั่วโลก ขยับขึ้นจากอันดับ 2 เมื่อปีที่แล้ว แซงหน้าสหรัฐฯ แชมป์เก่าหล่นไปอยู่อันดับ 6 ในปีนี้

กระแส "Squid Game" ทำชาวโลกแห่เรียน "ภาษาเกาหลี"

สำหรับการจัดอันดับดังกล่าวใช้ตัวชี้วัด 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

  • การรู้จักประเทศของคนทั่วโลก
  • อิทธิพลของประเทศต่อนานาประเทศ
  • ชื่อเสียงของประเทศในทางที่ดีประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ของประเทศ (ธุรกิจและการค้า, การบริหารงานของรัฐบาล, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, วัฒนธรรม, การสื่อสาร, การศึกษาและวิทยาศาสตร์, คุณภาพชีวิตผู้คน)
  • ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาการระบาดของ โควิด-19

กระแส "Squid Game" ทำชาวโลกแห่เรียน "ภาษาเกาหลี"

โซเชียลเห่อ : เคป๊อปยิ่งดัง ภาษาเกาหลียิ่งฮ็อต

แซม ดัลซิเมอร์ โฆษก Duolingo กล่าวว่า ภาษาและวัฒนธรรมเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน และสิ่งที่เกิดขึ้นในป๊อปคัลเจอร์และสื่อต่าง ๆ มักมีอิทธิพลต่อเทรนด์ด้านภาษาและการเรียนภาษาด้วย

 

“ความนิยมที่สูงขึ้นทั่วโลกของเพลง ภาพยนตร์ และซีรีส์เกาหลี ย่อมเพิ่มความต้องการเรียนภาษาเกาหลีตามไปด้วย” ดัลซิเมอร์สรุป

 

ข้อมูลจากมูลนิธิเกาหลีเพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ระบุว่า ปัจจุบันมีประชากรที่พูดภาษาเกาหลี 77 ล้านคนทั่วโลก

 

กระแส "Squid Game" ทำชาวโลกแห่เรียน "ภาษาเกาหลี"

 

ขณะที่ Duolingo เปิดเผยว่า มีผู้ใช้งานประจำกว่า 7.9 ล้านราย ที่เรียนภาษาเกาหลีในแอปฯ ถือว่าเติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากภาษาฮินดู

 

กระแส "Squid Game" ทำชาวโลกแห่เรียน "ภาษาเกาหลี" อ้างอิง: ReutersBrand Finance

logoline