svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทอ่อน ! นำโด่งภูมิภาคมีสาเหตุมาจากอะไร

05 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีอยุธยาประเมินเเงินบาทสัปดาห์หน้า เคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.20 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ จับตาบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ -การคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด เปิดสถิติ 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.) เงินบาทอ่อนนำโด่งภูมิภาคเพราะเหตุใด

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation  STORY ว่า เงินบาทสัปดาห์หน้า เคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.20 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ 

ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 175,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 240,000 ตำแหน่ง คาดว่าจะส่งผลให้ เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไร ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า โดยบอนด์ยิลด์สหรัฐฯและการคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดยังเป็นปัจจัยชี้นำหลัก สำหรับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

เงินบาทอ่อน ! นำโด่งภูมิภาคมีสาเหตุมาจากอะไร

สำหรับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคช่วงม.ค.-เม.ย. พบว่า ทุกสกุลเงินอ่อนค่า นำโดย บาท-ไทย 7.28%  รองลงมาเป็นวอน-เกาหลีใต้ 5.62%  ดอล ลาร์-ไต้หวัน 5.25%  ดอง-เวียดนาม 4.48%  รูเปียห์-อินโดนีเซีย 4.38% เปโซ -ฟิลิปปินส์ 3.59%  ริงกิต-มาเล เซีย 3.04 %  ดอลลาร์-สิงคโปร์ 2.43%  หยวน-จีน 1.95% รูปี-อินเดีย 0.23%  อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะเดือนเม.ย.เงินบาทอ่อนค่าราวกลางตาราง เกาะกลุ่มไปกับภูมิภาค

สาเหตุเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในกลุ่มสกุลเงินเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นเป็นผลมาจาก
- แรงกดดันจากเงินเฟ้อสหรัฐฯที่สูงเกินคาด 
- ความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทำให้กระแสเงินไหลออก
- ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิตั้งแต่ม.ค.-มิ.ย.  6.7 หมื่นล้านบาท และและพันธบัตรสุทธิขายสุทธิ 6.2 หมื่นล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของธปท.ค่อนข้างชัดว่าระมัดระวังเรื่องเสถียรภาพและการก่อหนี้  แม้เราคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง  2 ครั้งในปีนี้สู่ระดับ 2.00% แต่จังหวะเวลาเริ่มมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ส่วนการประชุมกนง.เดือนมิ.ย.นี้จะปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่นั้น  อาจก้ำกึ่ง โดยเฉพาะถ้าเงินบาทยังอยู่ในโทนอ่อนค่า

เงินบาทอ่อน ! นำโด่งภูมิภาคมีสาเหตุมาจากอะไร

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ  Nation  STORY ว่า  นับตั้งแต่ช่วงต้นปี เงินบาทเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกเรื่องเดิม คือ ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด

ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อก็ดูจะชะลอตัวลงช้ากว่าคาด จนทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณย้ำว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างก็คาดว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ไม่ถึง 2 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่ตลาดเคยมองว่า เฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง ตามที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนมีนาคม

นอกจากนี้เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลให้เงินดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้น ส่วนราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปัจจัยดังกล่าวก็มีส่วนทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นเช่นกัน และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

ส่วนปัจจัยภายในเงินบาทก็เผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ และแรงขายสินทรัพย์ไทย จากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึง ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทย ที่ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ไทยต่างปรับตัวสูงขึ้น

logoline