svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

ธุรกิจธนาคารสะเทือน " ยักษ์ชนยักษ์" ชิงไลเซนส์ Virtual Bank  

24 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศึกชิงไลน์เซนส์ Virtual Bank เดือด 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำของไทยตบเท้าลงสนาม หวังช่วยคนจน-เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น-แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

สมรภูมิ Virtual Bank เดือดตั้งแต่ยกแรก หลังจากที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กดปุ่มสตาร์ทออกหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาต Virtual Bank หรือธนาคารพาณิชย์แบบไร้สาขา

โดยเปิดให้ผู้สมัครยื่นใบสมัครอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.-19 ก.ย.2567 ซึ่งปรากฏว่ามีสถาบันการเงินและบริษัทชั้นนำของไทยหลายแห่ง เปิดหน้าประกาศลงสนามชิงไลน์เซนส์กันอย่างคึกคัก 

เริ่มจากกลุ่มที่ 1  บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ประกาศจับมือกับ Kakao Bank ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ และมีประสบการณ์ด้าน Virtual Bank มาโดยตรง จัดตั้งกิจการค้าร่วม เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาให้กับคนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ โดย SCBX จะมีสัดส่วนถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ และ Kakao Bank จะถือหุ้นอย่างน้อย 20%

ล่าสุด SCBX ผนึกความร่วมมือกับ  WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน ซึ่งเป็นธนาคารดิจิทัลชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งโดยการร่วมมือครั้งนี้ เพื่อขยายขอบเขตและศักยภาพทางเทคโนโลยีของ Virtual Bank พร้อมยกระดับประสบการณ์การใช้บริการธนาคารที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า มุ่งหวังขับเคลื่อนนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการบริการที่ทันสมัยเพื่อตอบสนองความต้องการของคนไทย

ขณะที่กลุ่มที่ 2 ธนาคารกรุงไทย จับมือกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด  หรือ AIS บริษัทโทรคมนาคมใหญ่ที่สุดในไทย พร้อมด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF  ดำเนินธุรกิจไฟฟ้า และบริษัท  บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR 

ธุรกิจธนาคารสะเทือน \" ยักษ์ชนยักษ์\" ชิงไลเซนส์ Virtual Bank  


กลุ่มที่ 3 Ascend Money ฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Ascend Group ในเครือซีพี หรือที่หลายคนรู้จักบริการ E-Wallet อย่าง True Money โดยแอเซนด์ มันนี่ยังมีพันธมิตรอย่าง Ant Financial Services Group บริษัทในเครือของ Alibaba Group

ตามมาด้วยกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มเจมาร์ท (Jaymart) ผู้นำด้านค้าปลีกเทคโนโลยี และการเงิน จับมือกับ KB Financial Group กลุ่มการเงินขนาดใหญ่จากเกาหลีใต้ 

ปิดท้ายกลุ่มที่ 5 บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่กำลังหารือกับที่ปรึกษา เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank  ซึ่งหลังจากนี้จะมีกลุ่มทุนรายอื่นเข้ามาโดดร่วมวงอีกหรือไม่ ต้องรอดูผลหลังการปิดรับอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

Virtual Bank คืออะไร

ธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ไม่มีสาขา โดยจะให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก แต่สามารถให้บริการรับฝากเงิน พิจารณาให้สินเชื่อ โอนและชำระเงิน การให้บริการด้านการลงทุน รวมทั้งบริการอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขาได้ทุกประการ

โดยให้บริการต้องมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการเงิน และมีความสามารถในการดูแลความปลอดภัยของระบบธนาคารที่ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นพิเศษ สามารถใช้เทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการเสาะหาข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) และข้อมูลทางเลือก (alternative data) ที่หลากหลายเพื่อประกอบการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

พร้อมทั้งเสนอบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ การให้สินเชื่อแบบเฉพาะเจาะลง รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินที่มีอยู่เดิม สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ในทุกระดับมากขึ้น โดยข้อมูล ส่วนบุคคลจะต้องไม่รั่วไหล หรือถูกโจรกรรมทางการเงินจากโลกไซเบอร์


 

ธุรกิจธนาคารสะเทือน \" ยักษ์ชนยักษ์\" ชิงไลเซนส์ Virtual Bank  


นอกจากนี้บริษัทที่จะเข้ามาให้บริการ Virtual Bank ต้องความเชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ ธนาคาร  เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าเข้าด้วยกัน เพื่อเข้าถึงบริการทางการเงินเต็มรูปแบบ  มุ่งเน้นบริการทางการเงินแก่ กลุ่มผู้ไม่มีรายได้ประจำ และเอสเอ็มอี  กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ (Underserved)  กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved)  และกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ

โดยเป็นธุรกิจอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เหมือนธนาคารพาณิชย์อื่น และอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่ระบบของ Virtual Bank ต้องแยกจากสถาบันการเงินอื่นอย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย และมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะปกติ และสามารถเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะได้

ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้กำกับดูแลในหลายประเทศได้เปิดให้มีการขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก  เช่น “Kakao Bank” ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ โดยมีจำนวนลูกค้ากว่า 21 ล้านคน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Kakao Bank ประสบความสำเร็จ คือ การมีฐานลูกค้าเดิมที่ต่อยอดมาจากแชตแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในเกาหลีใต้ อย่าง Kakao Talk 42 ล้านคน รวมทั้งมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย และการออกแบบ User interface ที่น่าดึงดูดและใช้งานง่าย

นอกจากนี้ยังมี “LiviBank” ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Bank of China, JD Digits บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางการเงิน และ Jardines กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มี 7-11 ฮ่องกงเป็นกิจการในเครือ 

ถัดมาคือ “MoxBank” ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาของธนา คาร Standard Chartered ซึ่งร่วมเป็นพันธมิตรกับ HK Telecom, PCCW ผู้ให้บริการด้าน IT solution และ CTrip Hong Kong แพลตฟอร์มจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรม

ตามติดด้วย “WeBank” ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาของกลุ่ม Tencent ผู้ให้บริการ WeChat แอปพลิเคชันส่งข้อความอันดับหนึ่งของจีน โดยปัจจุบัน WeBank สามารถขยายฐานลูกค้าได้กว่า 100 ล้านคน นับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารเต็มรูปแบบในปี 2557

ต่อมาคือ "Nubank" ของบราซิล ซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินในรูปแบบบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลให้กับคนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่งมีจำนวนมากในบราซิล เม็กซิโก และโคลอมเบียด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดแข็งของ Virtual Bank จากความได้เปรียบทางด้านต้นทุนที่ต่ำ พร้อมนำเสนอประกันชีวิตที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผู้ที่กระโดดลงมาทำ Virtual Bank จะประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะการทำธุรกิจต้องลงทุนด้านดิจิทัลเป็นจำนวนเงินมาก และมีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้เล่นบางรายประสบปัญหาการขาดทุน เช่น Volt Bank ในออสเตรเลีย จนต้องประกาศปิดกิจการลงไปก็มี ประกอบกับกระแส ดิจิทัล ดิสรัปชัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งในโลก และเป็นความเสี่ยงที่จะตามเกาะ Virtual Bank ไปต่อเนื่อง

ปัจจุบันบทบาทของเทคโนโลยีและการปรับตัวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลกำลังส่งผลต่อภาคธุรกิจและภาคการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยเฉพาะธนาคารไร้สาขา ที่จะเข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนโครงสร้างระบบการเงินไทย  ซึ่งจะทำให้ระบบมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ 

ขณะที่ผู้ใช้บริการทางการเงินก็จะมีทางเลือกมากขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและรายย่อย  แต่ที่สำคัญคือระบบเทคโนโลยีต้องทันสมัย และมีความปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการในระยะยาว.....

 

logoline