svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทอ่อน ! ขึ้นแท่นอันดับ 1 ในภูมิภาคเกิดจากสาเหตุอะไร

24 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีอยุธยาประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 36.00-36.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จับตาเงินเฟ้อ PCE พื้นฐานสหรัฐฯ-ตัวเลขส่งออกของไทย -ค่าเงินหยวนจีน เปิดสถิติตั้งแต่ 1 มี.ค.-22 มี.ค.เงินบาทนำโด่งอ่อนค่าสุดในภูมิภาค ทำนิวไฮใหม่รอบ 5 เดือนเกิดจากปัจจัยอะไร

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation  STORY ว่า เงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 36.00-36.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จับตาข้อมูลเงินเฟ้อ PCE พื้นฐานเดือนก.พ.ของสหรัฐฯ ตัวเลขส่งออกและดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนก.พ.ของไทย รวมถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนจีน และราคาทองคำ

สำหรับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคช่วง 1 มี.ค.- 22 มี.ค. พบว่า  สกุลเงินส่วนใหญ่อ่อนค่า นำโดย บาท-ไทย 1.59%  รองลงมาเป็น ดอลลาร์-ไต้หวัน  1.19% ดอง-เวียดนาม 0.64%  หยวน-จีน 0.55% รูปี-อินเดีย 0.53% วอน-เกาหลีใต้ 0.53% รูเปียห์-อินโดนี เซีย 0.40% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.19%  เปโซ-ฟิลิปปินส์ 0.12%  ยกเว้น ริงกิต-มาเล เซีย แข็งค่า 0.05 % 

 

เงินบาทอ่อน ! ขึ้นแท่นอันดับ 1 ในภูมิภาคเกิดจากสาเหตุอะไร

สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าสุดในภูมิภาคเกิดจาก

  • แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขาดความโดดเด่น
  • ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯส่วนใหญ่แข็งแกร่งเกินคาด แม้ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐหรือ เฟด จะคงประมาณการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ก็ตาม ข
  • ราคาทองคำเพิ่มความผันผวนให้กับค่าเงินบาท
  • แรงกดดันจากเงินทุนไหลออก  โดยนักลงทุนต่างชาติ ขายหุ้นไทยสุทธิ 4 หมื่นล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตร 2.2 หมื่นล้านบาท  


สำหรับกรณีที่เฟดประกาศลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 เม.ย.นี้ กนง.อาจจะเลือกตรึงดอกเบี้ย เพื่อรองบประมาณภาครัฐออก และการประกาศจีดีพีไตรมาส 1/67 ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่จะประกาศในเดือน พ.ค.นี้ คาดกนง.จะปรับลดเดือน มิ.ย.และ ส.ค. โดยสิ้นปีดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.00%  

เงินบาทอ่อน ! ขึ้นแท่นอันดับ 1 ในภูมิภาคเกิดจากสาเหตุอะไร

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ  Nation  STORY ว่า   เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงหนักแตะระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทุบสถิติใหม่ในรอบ 5 เดือน โดยมีปัจจัยมาจาก

1. เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังตลาดรับรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสวิตฯ (SNB) ที่เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการลดดอกเบี้ยเป็นธนาคารกลางแรกในฝั่ง DM กดดันให้เงินฟรังก์สวิส (CHF) อ่อนค่าลงหนัก

นอกจากนี้ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่แม้จะคงอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกับเฟด   แต่ผลการประชุมสะท้อนว่า BOE มีโอกาสลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น จากเดิมที่ตลาดประเมินไว้ในช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ และคณะกรรมการนโยบายการเงินที่เคยโหวตขึ้นดอกเบี้ย 2 คน มองว่า BOE ควรคงอัตราดอกเบี้ย ชี้ว่าคณะกรรมการฯ มีมุมมองที่ Dovish มากขึ้น กดดันให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็อ่อนค่าลงต่อเนื่องเช่นกัน

2. ปริมาณซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลง โดยราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงหนัก ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงลดความน่าสนใจของทองคำลงบ้าง

3. ปริมาณธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศของผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะการซื้อเงินเยนญี่ปุ่น หลังเงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาอ่อนค่าลงพอสมควรเมื่อเทียบกับเงินบาทในระยะสั้น ขณะเดียวกัน เรายังคงเห็นโฟลว์ซื้อสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงานอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินบาทเช่นกัน

4. แรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในส่วนของตราสารหนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นการขายสถานะเก็งกำไร Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) และลดสถานะถือครองบอนด์ระยะยาว

ทั้งนี้มองว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% แต่การสื่อสารอาจเริ่มสะท้อนโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อปูทางไปสู่การลดดอกเบี้ยในช่วงการประชุมเดือนมิถุนายน และช่วงปลายปี รวมเป็นการลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ -0.25% สู่ระดับ 2%

 

 

 

 

 

logoline