svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินเฟ้อลบต่อเนื่อง ! กดดันกนง. ลดดอกเบี้ยได้หรือไม่

15 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ติดลบเป็นเดือนที่ 5 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจที่แผ่วลง ซึ่งจะมีน้ำหนักเพียงพอทำให้กนง.ปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนเม.ย.นี้หรือไม่นั้น Nation STORY ได้มีโอกาสสัมภาษณ์กูรูด้านเศรษฐศาสตร์มีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร ตามไปดูกันเลย

กลับมาเป็นถกเถียงกันหนักหน่วงอีกครั้ง หลังจากกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. แตะระดับ  107.22  ลดลง 0.77% หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5  

ซึ่งหากเทียบกับต่างประเทศแล้ว ไทยยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำในโลก และต่ำที่สุดในอาเซียน แต่เศรษฐกิจยังเติบโตรั้งท้ายเพื่อนบ้าน 

โดยปัจจัยดังกล่าวจะเพียงพอทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยลงตามที่หลายฝ่ายเรียกร้องมาก่อนหน้านี้หรือไม่นั้น NationSTORY ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์ด้านตลาดเงิน เพื่อไขคำตอบในเรื่องนี้

เริ่มจาก "นายพูน พานิชพิบูลย์" นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  มองว่า  เงินเฟ้อที่ติดลบติดต่อกัน 5 เดือนติด ไม่ได้ทำให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย มีความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยมากนัก

เนื่องจากปัจจัยหลักที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อติดลบนั้นยังคงเป็นผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ รวมถึงฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงอยู่ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งหักผลของราคาพลังงานและอาหารสด จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ยังคงเป็นบวกอยู่

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ก็ยังมีสัดส่วนที่สูงเกิน 70% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่ได้สะท้อนภาพของอุปสงค์ในประเทศที่ซบเซาแต่อย่างใด

ดังนั้นหากเศรษฐกิจไทยยังคงทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้อาจจะโตต่ำกว่าระดับศักยภาพในอดีตจากปัญหาปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่มองว่าอัตราเงินเฟ้อก็จะทยอยปรับตัวสูงขึ้นและอาจเป็นบวกได้ในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป ทำให้เฉลี่ยทั้งปี อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 0.5%-1.0% ลดความจำเป็นของ กนง. ในการต้องรีบเร่งลดดอกเบี้ยนโยบาย

 

เงินเฟ้อลบต่อเนื่อง ! กดดันกนง. ลดดอกเบี้ยได้หรือไม่


อย่างไรก็ดี  หากกนง. จะตัดสินใจ ลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น จะมาจากเหตุผลความกังวลแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก

ซึ่งหาก กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจอาจโตได้ต่ำกว่าระดับศักยภาพพอสมควร และมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตที่อ่อนแอ่ของการบริโภคภาคเอกชน กนง. ก็สามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ ราว 2 ครั้ง ครั้งละ -0.25% ในปีนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงสู่ระดับ 2.00% 

ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจที่ดูจะโตได้ต่ำกว่าระดับศักยภาพได้เป็นเวลานานกว่าคาด  โดยจังหวะการลดดอกเบี้ยของ กนง. อาจเริ่มขึ้นในการประชุมเดือนมิถุนายน และช่วงปลายปี (เดือนตุลาคม หรือ เดือนธันวาคม)

ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดได้คาดหวังและรับรู้ แนวโน้มการลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งของ กนง. (เริ่มลดในเดือนมิถุนายน) ไปมากแล้ว ทำให้ผลกระทบต่อเงินบาทอาจมีไม่มากนัก หาก กนง. ทยอยลดดอกเบี้ยได้จริงตามคาด 

แต่หาก กนง. เซอร์ไพรส์ตลาด ด้วยการลดดอกเบี้ยในเดือนเมษายน หรือ เร็วกว่านั้น ก็อาจกดดันให้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้พอสมควร และอาจเห็นเงินบาทผันผวนอ่อนค่าเหนือระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

เงินเฟ้อลบต่อเนื่อง ! กดดันกนง. ลดดอกเบี้ยได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันไม่ได้มีความกังวลต่อแนวโน้มภาวะเงินฝืด (Deflation) เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบนั้นเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ รวมถึงความผันผวนของราคาหมวดอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ผักสดและผลไม้เป็นหลัก ทว่า หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงต่อเนื่อง ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ซบเซามากขึ้น ก็อาจทำให้ ความเสี่ยงการเกิดภาวะเงินฝืด นั้นเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับจีดีพีปีนี้คาดว่าโต 2.7% ไม่มี digital wallet ถ้ามีก็น่าจะบวก 3.3% เป็นอย่างน้อย  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 0.5%-1.0%  

ส่วนมุมมองของรัฐบาลและแบงก์ชาติที่ไม่สอดคล้องกันในแง่ภาพรวมเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน จะกดดันผู้เล่นในตลาดจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ที่มีความไม่แน่นอนน้อยกว่า  

สอดรับกับ "นายอมรเทพ จาวะลา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มองว่า  เงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากการอุดหนุนราคาพลังงาน และราคาสินค้าบางรายการ ซึ่งไม่ได้เป็นปัจจัยกดดันให้กนง. ปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนเม.ย.นี้  

ขณะเดียวกันฐานเงินเฟ้อในปีก่อนสูงกว่าปีนี้  โดยยอมรับว่าอุปสงค์ในประเทศอ่อนแออาจทำให้เงินเฟ้อติดลบในเดือนมี.ค.และต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเม.ย. 

นอกจากนี้จีดีพีที่ชะลอตัวลงในไตรมาส 1 จากการเบิกจ่ายงบประมาณ งบลงทุนที่ล้าช้าทำให้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ภาวะซึม คาดว่าการเบิกจ่ายงบจะเกิดขึ้นจริงในเดือนพ.ค.นี้ จะส่งผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง แต่ครึ่งปีแรกซบเซา

สำหรับการลดดอกเบี้ยลงทำได้เพียงพยุงเศรษฐกิจ ไม่ได้กระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเหนือ 4% และการลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25-0.50% ก็ไม่ช่วยลดรายจ่ายด้านดอกเบี้ยลงอย่างมีนัยะสำคัญ อาจพอลดความตึงเครียดได้บ้าง สร้างแรงจูงใจให้คนมาใช้จ่ายและลงทุนได้มากขึ้น

แต่การส่งผ่านของการลดอัตราดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจจริงอาจใช้เวลาถึง 6 เดือน ต่างกับมาตรการทางการคลังที่อัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าคนเพื่อนำไปใช้จ่ายได้ทันที และสามารถดูแลผู้เดือดร้อนได้ตรงกลุ่ม มากกว่านโยบายการเงินที่หว่านแหในวงกว้าง และการลดดอกเบี้ยก็มีผลข้างเคียงที่เปรียบเหมือนยา อาจทำให้เกิดอาการหนี้ครัวเรือนที่เพิ่ม สินทรัพย์ไทยขาดความน่าสนใจจนต่างชาติเทขาย ทำเงินบาทอ่อนค่า กระทบสินค้านำเข้าให้มีราคาสูงขึ้นได้

การดำเนินโยบายการเงินควรจะต้องดำเนินงานอย่างรอบคอบ แม้ว่าจะถูกแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง  เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจหากภาระหนี้ครัวเรือนสูงยากเกินเยียวยาจะเป็นระเบิดเวลาที่รอวันปะทุส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินและฉุดรั้งประเทศ.....

logoline