svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

จับตาประชุมบอร์ด "ดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่" รัฐหาช่องลุยฝ่ากระแสต้าน

14 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“นายกรัฐมนตรี” ย้ำหนักแน่นเดินหน้าอภิมหาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ "ดิจิทัลวอลเล็ต" แม้จะถูกเสียงวิพากวิจารณ์อย่างหนัก เตรียมนัดประชุมบอร์ดชุดใหญ่ 15 ก.พ.นี้ ถก 4  ประเด็นหลัก โดยเฉพาะข้อท้วงติงจากป.ป.ช. -กฤษฎีกา บทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามอย่ากระพริบตา

ได้เวลาลุ้นกันตัวโก่งกันอีกครั้ง สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หลัง “เศรษฐา ทวีสิน”  นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ออกมายืนยันว่า ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่  โดยจะมีการพูดคุยรายละเอียดประเด็นสำคัญ 4 ประเด็นหลักคือ

1. การพิจารณาคำตอบในทางข้อกฎหมายของคณะกรรม การกฤษฎีกาคณะที่ 12 ได้ตอบคำถามของรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการและ การกู้เงินโดยการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระ ทรวงการคลังกู้ 500,000 ล้านบาท   เพื่อดำเนินการแจกเงินดิจิทัล ซึ่งมีประเด็นที่คณะกรรมการต้องพิจาร ณาว่าคณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อกังวล หรือมีคำเตือนในทางกฎหมายอย่างไรบ้างที่รัฐบาลต้องระมัดระวัง

2. การพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้อง กันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ได้มีการประชุมรับรองข้อเสนอแนะของโครงการนี้จากคณะอนุกรรมการฯ ที่มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ประธานฯคณะกรรมการเพื่อศึกษาฯ เติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ของป.ป.ช.เป็นประธาน ซึ่งมีข้อเสนอในการดำเนินโครงการมาให้รัฐบาลแล้ว

 3. ข้อเสนอในการตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ ประ กอบด้วย คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านในการดำเนินโครงการนี้จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริต และประเมินผลโครงการ ซึ่งทั้งสองคณะจะทำงานคู่ขนานไปกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฯกู้เงิน 500,000 ล้านบาท  

4. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน พ.ศ... วงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้ยกร่างกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยกฎหมายมีอยู่ประมาณ 7 - 8 มาตรา ซึ่งหากบอร์ดชุดใหญ่เห็นชอบก็จะสามารถเสนอต่อ ครม.ได้ในขั้นตอนต่อไป 

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการ ก็เป็นไปตามที่หลายได้ฝ่ายคาดการณ์และคัดค้านท้วงติง มาโดยตลอด นั่นคือการออก พ.ร.บ. กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีการันตีว่า มีความโปร่งใส เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ และอยู่ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา  

โดยพ.ร.บ.การกู้เงินดังกล่าว จะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ของหน่วยงานต่าง ๆ ส่วนเงินที่เหลืออีก 100,000 ล้านบาทมาจากงบประมาณรายจ่ายปี 67 ระยะยาวใช้เงินเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน เพราะรัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมา เพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี

ส่วนกลุ่มเป้าหมายต้องจับตาดูว่าจะลดสเปกลงอีกหรือไม่ จากก่อนหน้านี้ที่พอคำนวณตัวเงินออกมาเป็นจำนวนมหาศาล จนมีเสียงคัดค้านกันขึ้นมาอย่างอื้ออึง จึงจำเป็นต้องปรับเงื่อนไขกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เหลือครอบคลุม 

- ประชากร 50 ล้านคน

- อายุ 16 ปีขึ้นไป

- รายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน

- เงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท จากเดิมที่กำหนดว่าจะให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ได้หมดทุกคน ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น  

จับตาประชุมบอร์ด \"ดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่\" รัฐหาช่องลุยฝ่ากระแสต้าน

แม้ว่ารัฐบาลจะยืนยันหนักแน่นว่า จะผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้ได้ตามที่ได้หาเสียงไว้  แต่ในทางปฏิบัติอาจจะต้องผ่านอรหันต์อีกหลายด่าน เพราะโครงการยังไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็น

นอกจากนี้การท้วงติงจาก ปปช. และสำนักงานกฤษฎีกาที่ระบุว่าขัดต่อพรบ.วินัยการเงินการคลัง  พร้อมเสียงคัดค้านจากนักเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อีกหลายคน ที่ออกมาให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าข่ายว่า "วิกฤต" แต่เข้าข่ายเกิดปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ที่จำเป็นต้องแก้ไข แต่ไม่จำเป็นต้องกู้เงิน เพื่อเอามาโปรยให้เกิดการใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยในฐานะเจ้าภาพโปรเจกต์นี้ คงไม่ "ยกธงขาว" ยอมแพ้อย่างง่าย ๆ  ซึ่งต้องล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาลให้สนับสนุน แต่ก็ต้องเดินหมากทุกก้าวอย่างรอบคอบรัดกุม เพราะหากทำแล้ว ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกร้องต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าการดำเนินโครงการนี้ ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ และประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยเหมือน "จำนำข้าว" ในสมัยรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

ขณะเดียวกัน แม้รัฐบาลจะ "หลังพิงฝา" เดินหน้าชนอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องระวังผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าแทนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อาจ "ทำลายเศรษฐกิจแทน" 

เพราะประสบการณ์หลายประเทศในอดีตชี้ให้เห็นว่า การดำเนินมาตรการใด ๆ หากนำมา ซึ่งปัญหาหนี้สาธารณะที่สูง และการขาดวินัยทางการคลัง ถือเป็น "ระเบิดเวลา" ที่เร่งความเสี่ยงเศรษฐกิจมากขึ้น ผ่านขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการคลัง (fiscal space) ที่ลดลง และต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลที่อาจปรับสูงขึ้น รวมถึงการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่จะนำไปสู่การอ่อนค่าของค่าเงิน และการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ 

ดังนั้นรัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าผลดี-ผลเสียที่เกิดขึ้นอันไหนมากกว่ากัน เพื่อไม่ให้เสียคะแนนนิยมที่หว่านไป โดยไม่ไปสร้างอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต....

logoline