นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่มีการวิพากวิจารณ์ถึงเศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤติหรือยังจะต้องดูปัจจัยอะไรเป็นองค์ประกอบ เพื่อนำไปสู่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10, 000 ว่า หน่วยงานด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศหลัก ๆ ไม่ได้นิยามเอาไว้ว่า เศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤตมีลักษณะอย่างไร แต่ปกติแล้วมันจะมีข้อมูลสะท้อนเศรษฐกิจว่า จะเข้าขั้นวิกฤตแล้วประกอบด้วย
ปัจจัยที่ 1 จีดีพีลดลงต่ำมาก หรือต่ำจนติดลบอย่างรวดเร็ว แต่จะมากแค่ไหนที่จะบอกว่าเข้าสู่วิกฤต ขึ้นกับดุจพินิจของแต่ละประเทศ
ปัจจัยที่ 2 การใช้จ่าย เพื่ออุปโภค และบริโภคลดลงมาก
ปัจจัยที่ 3 การลงทุนเอกชนลดลงมาก
ปัจจัยที่ 4 ตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้นเร็ว หรือกรณีธุรกิจมีการเลิกจ้างแรงงานผิดปกติมากขึ้น
ปัจจัยที่ 5 ภาระหนี้ท่วม การชำระหนี้ติดขัดอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะการชำระคืนเงินต้น หรือดอกเบี้ย
สำหรับกรณีที่รัฐบาลระบุว่า เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพมานาน หรือโตไม่เต็มศักยภาพ และมองเข้าข่ายวิกฤต จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าข่ายว่า สู่วิกฤต แต่เข้าข่ายเกิดปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่จำเป็นต้องแก้ไข แต่ไม่จำเป็นต้องกู้เงิน เพื่อเอามาโปรย เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย โดยสมมุติว่า คนเราไม่เก่ง แล้วไปกู้เอา ๆ ไม่ได้แปลว่า “เก่ง” หรือเราไม่มีความคิดสร้างสรรค์ กู้เงินมาแจก ก็ไม่ได้ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรมเพิ่มขึ้น
“ จีดีพีถ้าติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาสก็ถือเป็นเศรษฐกิจถดถอย แต่หากจะเอานิยามทางกฏหมายว่าวิกฤตหรือไม่มีวิกฤตไม่มีในโลก เพียงแต่จีดีพีโตต่ำกว่าศักยภาพแล้วเห็นว่า ประเทศเกิดวิกฤต ตรงนี้ไม่ใช่ เป็นการชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขเข้าไปที่โครงสร้าง เช่นการศึกษา เศรษฐกิจ แก้ไขเรื่องคอร์รัปชั่น ลดกฎกติกาลงทุน ลดการผูกขาด เป็นต้น ไม่ใช่กู้เงินมาแจก”
อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยู่ในฐานเข้าข่ายออกความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือยัง แต่คนที่ประเมินได้ว่าเศรษฐกิจเข้าข่ายวิกฤตมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ คณะรัฐมนตรี(ครม.) และกลุ่มคนที่จะนำเรื่องนี้ไปโต้แย้งที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจัยที่จะนำมาถกถึยงกัน ก็คือ 5 ปัจจัยดังกล่าว
ทั้งนี้ มองว่าโอกาสเดินหน้าต่อของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสินยังมี เพราะรัฐบาลเสียงข้างมาก ดังนั้นถ้านำเข้าครม. และรัฐสภาฯ ย่อมผ่านไปได้ แต่แนะนำให้ผู้มีความรู้ทางการกฎหมายคอยให้คำแนะนำให้ครบถ้วน แน่ใจเสียก่อน เพราะเมื่อผ่านไปแล้ว หากมีคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และหากศาลชี้ว่า เป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการก็ต้องหยุดลง
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายมองว่าเรื่องนี้ จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงอยากแนะนำให้ผู้มีความรู้ทางการกฎหมายคอยให้คำแนะนำให้ครบถ้วน แน่ใจเสียก่อน เพราะเมื่อผ่านไปแล้วมีคนไปร้องต่อศาล หากศาลชี้ว่าผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ฉนับนี้ก็ต้องหยุด และเกรงว่าจะทำให้รัฐมนตรีที่ตัดสินเรื่องนี้ต้องรับผิดชอบไปด้วย
ส่วนข้อสังเกตของกฤษฎีกาในประเด็นคุ้มค่าหรือไม่ ตรงนี้ทำเป็นเอกสารวิชาการจะออกทางไหนก็ได้อย่าไปเสียเวลาดู ปัญหาตอนนี้คือ สังคมต้องตั้งคำถามว่ามันเร่งด่วน และเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงจนไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ทันจริงหรือไม่ เพราะอย่าลืมเป็นนโยบายที่รัฐบาลหาเสียงมานานแล้ว ก่อนเสนอร่างพ.ร.บ.เข้าไปสภาฯ
ดังนั้นเชื่อว่า หากรัฐบาลจะนำเข้างบประมาณย่อมทำได้ แต่การใช้เงินประเทศ ไม่ว่าในส่วนของการจัดเก็บรายได้ หรือการกู้ยืม ในระบบประชาธิปไตยจะต้องไม่ให้รัฐบาลใช้คนเดียว ต้องให้มีการดำเนินการผ่านรัฐบาล ผ่านกระบวนงบประมาณ ที่จะมีการถ่วงดุล ตรวจสอบ มีการกำกับดูแล และมีบทลงโทษผู้ที่กระทำความผิดไว้อย่างชัดเจน
แต่ว่าเวลานี้รัฐไปอาศัยช่องมาตรา 53 แล้วไปเปิดช่องให้เขาหลบ จากระบบงบประมาณโดยง่าย เกรงว่าจะทำให้อนาคตเสถียรภาพการคลังของไทยจะแย่ เพราะต่อไปมีการใช้ช่องตรงนี้ทำให้ออกจากระบบงบประมาณไปเลย เพราะง่ายดี สามารถดำเนินการได้โดยไม่มีระบบตรวจสอบ ไปเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดความเสี่ยงประเทศไม่รู้จบ
ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีมุมมองด้าน Digital Wallet หลังกฤษฎีกาตีความในเบื้องต้นว่า ยังไม่มีเหตุผลให้เปลี่ยนความเห็นที่มีมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ โดยตนเคารพสิทธิของผู้เป็นรัฐบาลที่จะพยายามผลักดันต่อไปตามความเชื่อของเขาที่ในเรื่องนี้ที่แตกต่างกับตน
ซึ่งความเห็นกฤษฎีกามองว่า ยิ่งตอกย้ำความเสี่ยงทางกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งมาถึงวันนี้รัฐบาลกำลังไปได้ดี มีหลายเรื่องหากปรับจูนอีกสักเล็กน้อยจะช่วยประเทศและประชาชนได้อีกมาก เช่นเรื่องแก้ปัญหาหนี้ (ไม่อยากเห็นเรื่องนี้เงียบไป) หรือแม้แต่ land bridge
ซึ่งหากปรับเป็นการส่งเสริม Southern Economic Corridor (SEC) ตามที่หลายคนแนะนำ (แทนการขายการประหยัดเวลาเดินเรือ) ก็จะเป็นประโยชน์ได้มาก นำเงิน 500,000 ล้านมาช่วยลดหนี้ชาวบ้าน หรือลงทุน SEC น่าจะคุ้มกว่า และเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลมากกว่าหากเสี่ยงเดินหน้าต่อ โอกาสสะดุดสูง มาถึงวันนี้ทางการเมืองไม่จำเป็น ทางเศรษฐกิจยิ่งไม่คุ้ม โดยมีมุมมองใน 9 ประเด็นหลัก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.ความเห็นกฤษฎีกาสะท้อนว่า การออกพ.ร.บ.กู้เงินมีความเสี่ยงทางกฎหมายจริง
2. กรณีฉุกเฉินจำเป็น ทุกรัฐบาลในอดีตจะออก พรก. และไม่เคยมีรัฐบาลใดสามารถออก พรบ.ได้ (รัฐบาลอภิสิทธิ์ถอนออกจากสภา ส่วนศาลรัฐธรรมนูญตีตก พรบ. รัฐบาลยิ่งลักษณ์) จากประวัตินี้สะท้อนความเสี่ยงทางกฎหมาย
3. เพิ่มเติมคือเงื่อนใขทางกฎหมายชัดเจนขึ้นจากการออก พรบ. วินัยทางการคลังในปี 2561 ซึ่งระบุว่ากู้เงินนอกงบประมาณจะทำได้ “เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
4. ครม. สภาฯ และศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ตามกฎหมายหรือไม่
5. เทียบการออก พรก. ในอดีต
5.1 ปี 52 มีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่ GDP ติดลบและเงินงบประมาณไม่เพียงพอ
5.2 ปี 54 มีวิกฤตินํ้าท่วมใหญ่
5.3 ปี 62 มีวิกฤติโควิด
6. สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในสภาพตึง เงินทุนต่างชาติไหลออก และเงินฝากในระบบธนาคารลดลง การกู้เงินโดยรัฐบาลเพิ่มเติมจากการกู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จะยิ่งเพิ่มปัญหาสภาพคล่องให้กับภาคเอกชนที่มีปัญหาอยู่
7. สัดส่วนรายได้ภาษีของรัฐบาลเทียบกับ GDP ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือไม่ถึง 14% ดังนั้นรัฐบาลยิ่งต้องระมัดระวังภาระดอกเบี้ยจากการกู้ยืมที่จะเพิ่มขึ้น
8. การใช้เงินดิจิตอลมีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่กับห้างขนาดใหญ่ จะไม่ช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กทั่วไปมากนัก
9. การเดินหน้านโยบายนี้จะเป็นเหตุให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปรับลดดอกเบี้ย