svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

แบงก์สุดอั้นแห่ขึ้น"ดอกเบี้ย" ลูกหนี้ก่ายหน้าผากต้นทุนการเงินพุ่ง  

05 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ภายใต้เงินเฟ้อยังอยู่ในทิศทางที่ประเมินไว้ หนุนให้ กนง.เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและแบงก์พาณิชย์จะพาเหรดขึ้นดอกเบี้ยกันมากน้อยแค่ไหน ตามไปดูกันเลย  

ในที่สุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบาย จาก 1.25% ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.50% โดยให้เหตุผลว่า การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้สอดรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ช่วยหนุนการจ้างงานและกระจายรายได้ลูกจ้าง ในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีจำนวนมาก รวมทั้งเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน  
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง โดยแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานทยอยคลี่คลาย ตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(หักราคาพลังงานและอาหารสด) มีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด อาจทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง และจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

โดย กนง.ย้ำว่า จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ก็พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

ทันทีที่ผลประชุม กนง.ประกาศออกมา สมาคมสถาบันการเงินของรัฐก็ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นทันทีเช่นกัน 

เริ่มจาก "ธนาคารอาคารสงเคราะห์" หรือธอส. นำร่องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทเพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.66 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี(MRR) เพิ่มขึ้นเป็น 6.40% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา(MLR) เป็น 6.00% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้เบิกเกินบัญชี(MOR) เพิ่มเป็น 6.15% ต่อปี

แบงก์สุดอั้นแห่ขึ้น"ดอกเบี้ย" ลูกหนี้ก่ายหน้าผากต้นทุนการเงินพุ่ง  

ตามติดด้วย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์  ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% สำหรับลูกค้าทั่วไปและเอสเอ็มอี จาก 5.75% ต่อปี เป็น 6.00% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 66 เป็นต้นไป แต่ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องให้สามารถปรับตัวกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และปัจจัยท้าทายของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ หรือ MLR อีก 0.25% มีผล ตั้งแต่ 25 ม.ค.66 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ดอกเบี้ย MLR ปรับขึ้นเป็น 7.00% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้ชนิดอื่นยังคงไว้ในอัตราเดิมไม่เปลี่ยนแปลง  

ส่วน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.)ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125-0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.66 เป็นต้นไป โดยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย MRR 0.125% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มจาก 6.5% เป็น 6.625% ขณะที่ MLR ปรับขึ้น 0.25% จาก 4.875% เป็น 5.125% และ MOR เพิ่มขึ้น 0.25% จาก 6.25% เป็น 6.50%

ด้านธนาคารออมสิน ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี มีผลวันที่ 27 ม.ค. โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางของสมาคมสถานบันการเงินเฉพาะกิจแห่งรัฐ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยของออมสิน โดยเฉลี่ยยังต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย MRR ในตลาด
 

สาเหตุที่ธนาคารเฉพาะกิจพาเหรดกันขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารเฉพาะกิจของรัฐส่วนใหญ่ ยึดนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย

แต่หากย้อนไทมไลน์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของกนง. ที่ผ่านมา พบว่า กนง.ขึ้นดอกเบี้ยในปี 65 จำนวน 3 ครั้งๆ ละ 0.25% และเมื่อรวมกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนม.ค.66 อีก 0.25% เท่ากับว่า กนง.ขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 1% โดยที่ธนาคารเฉพาะกิจตรึงดอกเบี้ยเงินกู้มาโดยตลอด
   
หากคราวนี้ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ จะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างธนาคารเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์ห่างกันมากขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารเฉพาะกิจบางแห่งมีภาระในเรื่องของต้นทุนทางด้านเงินฝาก จึงต้องบริหารจัดการทางด้านต้นทุนให้มีความเหมาะสม

ส่วนธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้ ก็ยังการขยับดอกเบี้ยขึ้นเช่นกัน ประเดิมด้วย "ธนาคารกรุงเทพ" ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.15-0.20% และเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ย 0.05% มีผล 27 ม.ค. โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR เพิ่มเป็น 6.45% ต่อปี อัตราดอกเบี้ย MOR จากเดิมอยู่ที่ 6.75% เพิ่มเป็น 6.90% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ย MRR จากเดิมอยู่ที่ 6.65% เพิ่มเป็น 6.80% ต่อปี สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากสะสมทรัพย์ ปรับขึ้นเป็น 0.50% อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 และ 6 เดือน เพิ่มเป็น 0.75% และเงินฝากประจำ 12, 24 และ 36 เดือน ปรับเพิ่ม 0.25%
   
ขณะที่ "ธนาคารกสิกรไทย" ไม่น้อยหน้า ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำให้สูงขึ้น 0.10%-0.25%  ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยปรับขึ้นเพียง 0.10% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทอื่น เพิ่มขึ้น 0.15-0.20% โดย ดอกเบี้ย MLR ปรับเป็น 6.57% ดอกเบี้ย MOR เป็น 6.89% และดอกเบี้ย MRR ปรับเป็น 6.60% โดยให้มีผลในวันที่ 30 ม.ค.เป็นต้นไป  

ปิดท้ายที่"ธนาคารไทยพาณิชย์" ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MOR และ MRR ขึ้น 0.10% - 0.20% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR เพิ่มเป็น 6.620% อัตราดอกเบี้ย MLR เพิ่มเป็น 6.350% และอัตราดอกเบี้ยที่ MOR ปรับเป็น 6.895% นอกจากนี้ ธนาคารได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น 0.05%-0.25% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. เป็นต้นไป

การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ผู้ได้ประโยชน์คือผู้ฝากเงินกับธนาคาร ผู้ที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงิน เช่น กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ กองทุนที่ลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ และพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนมากขึ้น

แต่ฝ่ายที่เสียประโยชน์คือคนที่มีภาระเงินกู้  ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด สินเชื่อบุคคล  สินเชื่อบ้าน  สินเชื่อธุรกิจ  ดังนั้นจะต้องระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินมากขึ้น ไม่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย และสิ่งของที่ไม่จำเป็น แม้จะเป็นยอดเล็กๆน้อยๆ ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าสะสมจำนวนขึ้นมาก็เป็นภาระก้อนโตได้เช่นกัน

หันไปดูภาคธุรกิจก็กระทบหนักไม่น้อย โดยเฉพาะเอสเอ็มที่เพิ่งสร่างไข้และเริ่มฟื้นตัว อาจต้องสะดุดลงอีกครั้ง  เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น จากภาระหนี้ที่สูงขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังเริ่มฟื้นตัวแบบต้องประคับประคองกันอย่างใกลชิด ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็เสี่ยงถดถอย ซึ่งเอสเอ็มอี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก คงต้องพยายามหามาตรการตัดรายจ่าย เพิ่มรายได้ คุมต้นทุน พัฒนาผลิตภัณฑ์ และหาตลาดใหม่ให้มากขึ้น เพื่อที่จะอยู่รอดให้ได้

เพราะฉะนั้น ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ใน "วัฏจักรขาขึ้น" ซึ่งที่ประชาชนและภาคธุรกิจจะต้องยึดมั่นไว้ให้ดี คือวินัยทางการเงิน ก่อหนี้เท่าที่จำเป็น อย่าให้เกินความสามารถในการชำระหนี้

 

"ขณะที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ต่างๆ คงต้องมีมาตรการช่วยเหลือและผ่อนปรนกับลูกค้ากลุ่มเปราะบางต่อไป เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูง หากรีบร้อนไปเคร่งครัดกับลูกหนี้แบบไม่ดูเหตุฟังผล สุดท้ายปัญหาหนี้เสียที่พยายามประคองจนผ่านวิกฤติโควิดมาได้ อาจจะผุดขึ้นมาในช่วงที่ทุกฝ่ายการ์ดตก และฉุดให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมกลับไปผันผวนอีกครั้ง"

 

แบงก์สุดอั้นแห่ขึ้น"ดอกเบี้ย" ลูกหนี้ก่ายหน้าผากต้นทุนการเงินพุ่ง  

logoline