svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ลุ้น ครม.ไฟเขียวแก้หนี้ 'เอสเอ็มอี-บ้าน-รถ' พักจ่ายดอก 3 ปี

คลัง ชง ครม. วันนี้เคาะมาตรการแก้หนี้ NPL อุ้มรายย่อย 'เอสเอ็มอี-บ้าน-รถ' พักจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี ลดเงินส่ง FIDF 50% คลัง-ธปท.เตรียมแถลงโครงการ "คุณสู้ เราช่วย"

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (11 ธ.ค.) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญที่เข้าสู่การพิจารณาคือการกระทรวงการคลัง จะเสนอมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) และมาตรการ ช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอื่นของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยการช่วยเหลือกระทรวงการคลัง จะเสนอ ครม.ในวันนี้เช่นกันให้เห็นชอบการลดเงินโอนเงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน การเงินเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF1 และ FIDF3 ซึ่งเป็นการนำเงินจำนวนนี้ไปชดเชยให้สถาบันการการเงิน

โดยจะได้รับการชดเชยด้วยการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปีจาก 0.46% ต่อปี เพื่อนำเงินนี้มาช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนทำให้ผู้ที่ชำระหนี้สามารถจ่ายชำระเงินต้น รวมทั้งสถาบันการเงินจะใส่เงินเข้ามาอีกจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้

ทั้งนี้ภายหลังการประชุม ครม.นายกรัฐมนตรีจะแถลงมาตรการนี้ด้วย ส่วนรายละเอียดนั้นกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) จะมีการแถลงข่าวร่วมกัน โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นประธานงานเปิดตัวโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ มีปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและหนังสือแสดงเจตนารมณ์ ระหว่าง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย (TBA) และสมาคมธนาคารนานาชาติ (AIB)

โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ต้องการช่วยเหลือลูกหนี้เสีย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มหนี้บ้าน รถยนต์ และเอสเอ็มอี ผ่านการพักชำระดอกเบี้ยนาน 3 ปี คือ กลุ่มหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ เอสเอ็มอี โดยทั้ง 3 กลุ่มจะต้องเป็นหนี้เสียอายุไม่เกิน 1 ปี และต้องเป็นหนี้เสียภายใน 31 ต.ค.2567 โดยมีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าข่าย 2.3 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 1.31 ล้านล้านบาท 

แบ่งเป็นกลุ่มหนี้บ้าน มีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าข่ายจำนวน 4.6 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 4.8 แสนล้านบาท กลุ่มหนี้รถยนต์ 1.4 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 3.7 แสนล้านบาท และกลุ่มหนี้เอสเอ็มอี มีลูกหนี้เข้าข่ายจำนวน 4.3 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 4.54 แสนล้านบาท
 

แหล่งข่าวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบมาตรการทางการเงิน เพื่อแก้ไขหนี้ประชาชน หนี้ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะมีการนำเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในวันที่ 11 ธ.ค.2567 เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 ชุด

มาตรการแก้หนี้ชุดที่ 1 จะเน้นการแก้หนี้เอสเอ็มอี หนี้รถและหนี้บ้าน และมาตรการที่ 2 เสมือนเป็นมาตรการ “ตัดติ่งหนี้” เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสกลับมาเข้าสู่ระบบการเงินได้อีกครั้ง

แต่อย่างไรก็ตามเบื้องต้น ที่ภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันคือ การขยายเพดานการแก้หนี้ให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม เอสเอ็มอี สำหรับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อให้มากกว่า 3 ล้านบาท เช่นเพิ่มเป็น 5 ล้านบาท เป็นต้น เนื่องจากมาตรการนี้ มีการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูเพื่อสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือเพียง 0.23% จาก 0.46% ทำให้มีเงินส่วนนี้เข้ามาช่วยลดภาระลูกหนี้ได้มากขึ้น 

ดังนั้น ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคือ การเพิ่มเพดานในการแก้หนี้ครั้งนี้ จะมีการเสนอเพดานใหม่ สำหรับการแก้หนี้ของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 ล้านบาท ทันทีในรอบ 11 ธ.ค.นี้ และอีกข้อเสนอคือ หลังจากนี้จะขอดูผลของการสมัครใจเข้าโครงการว่ามากน้อยแค่ไหน หากมีแนวโน้มมากขึ้น และมีลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้มากกว่า 3 ล้านบาทอีกจำนวนมาก ก็อาจพิจารณาขยายหลักเกณฑ์ภายหลังอีกครั้ง

สำหรับมาตรการแก้หนี้ชุดที่ 1 เบื้องต้นเป็นความร่วมมือกัน ทั้ง 3 ฝ่าย คือกระทรวงการคลัง ในการลดเงินนำส่ง FIDF ให้เหลือ 0.23% เหมือนนำภาษีที่นำส่งเข้ารัฐมาช่วยแก้หนี้ให้ลูกหนี้ และอีก 2 ผู้เกี่ยวข้องคือ ธนาคารพาณิชย์ และลูกหนี้ที่ต้องให้ความร่วมมือ

ทั้งนี้ การแก้ไขหนี้ในมาตรการชุดแรกนี้ อาจมีการกำหนดการเป็นหนี้เสีย คือไม่เกิน 12 เดือน หรือ 1 ปี และอีกกลุ่มคือ ไม่ได้จำกัดว่า ลูกหนี้จะต้องเป็นหนี้เสีย หรืออยู่ในกลุ่ม SM ที่มีประวัติค้างชำระหนี้ไม่เกิน 90 วัน เพียงแต่มีประวัติค้างชำระ บางเดือนบางงวด หรือที่ผ่านมาเคยมีปัญหาคลุกคลิกในการชำระหนี้

โดยเกณฑ์การเข้าโครงการครั้งนี้ ลูกหนี้ต้อง “สมัครใจ” เข้าโครงการเอง ทั้งลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 1 ปี และลูกหนี้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยเบื้องต้น จะมีการทำสัญญาคล้ายปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้ลูกหนี้จ่ายเฉพาะเงินต้นติดต่อกัน 12 เดือนต่อเนื่อง หากทำตามสัญญาต่อเนื่อง ภาระดอกเบี้ยทั้งหมดส่วนนี้แบงก์จะ “ยกเว้น” ให้

“โครงการนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วน โดยเฉพาะลูกหนี้ ที่ต้องสมัครเข้าโครงการในการแก้หนี้ โดยเฉพาะการกำหนดว่า ช่วง 12 เดือนแรกลูกหนี้ต้องสามารถชำระหนี้ได้ต่อเนื่อง ตรงตามที่ปรับโครงสร้างหนี้ไว้ ถึงจะยกเลิก “ดอกเบี้ย” ให้ทั้งหมด และไม่สามารถก่อหนี้ใหม่ได้ในช่วง ที่ทำสัญญาแก้หนี้ ดังนั้น ต้องรักษาวินัยต้องมีส่วนร่วมทำด้วยกัน ไม่มีใครได้อย่างเดียวและไม่ต้องเสียอะไร และเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเมื่อลูกหนี้กลุ่มนี้ออกจากโครงการลูกหนี้จะเบาตัวเยอะมาก”

อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกหนี้ ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่หากต้องการเข้าโครงการแก้หนี้ตามมาตรการนี้ การเข้าโครงการต้องขึ้นกับแบงก์เช่นเดียวกันว่า ลูกหนี้มีศักยภาพชำระหนี้ต่อไปหรือไม่ หรือมีปัญหาคลุกคลิกในการชำระหนี้ เหมือนที่ลูกหนี้แจ้งความประสงค์ไว้ 

ดังนั้น นอกจากลูกหนี้ประเมินตัวเองแล้ว ส่วนนี้แบงก์จะต้องประเมินลูกหนี้ด้วยเช่นกันว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ถดถอยลงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือ Moral Hazard ดังนั้นต้องมีการเกณฑ์วัดหนี้เองก็ต้องมองเช่นกันถึงสามารถเข้าโครงการได้ ต้องมีเกณฑ์วัดบางอย่าง

สำหรับมาตรการชุดที่ 2 เป็นมาตรการคล้ายตัด “ติ่งหนี้” โดยมีกำหนดวงเงินการค้างชำระหนี้สำหรับรายย่อย เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ต้องไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย 

โดยจะกำหนดให้ลูกหนี้ ที่ค้างชำระหนี้ ที่เป็นหนี้เสียต่างๆ ต้องจ่ายเงินต้น 10-15% จากเงินค้างชำระทั้งหมด เพื่อล้างหนี้ ปิดหนี้ทั้งก้อนได้ทันที ซึ่งมาตรการนี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ให้พ้นจากการเป็นหนี้ทั้งก้อน สำหรับลูกหนี้ที่มียอดการค้างชำระเพียงเล็กน้อย หรือไม่ตั้งใจค้างชำระ หรือไม่ทราบว่า มีหนี้ค้างชำระหนี้จนทำให้ลูกหนี้ตกเป็น “เอ็นพีแอล”