รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ ผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2567 พบว่า ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สินเฉลี่ย 606,378 บาทครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% และเพิ่มสูงสุดตั้งแต่มีการสำรวจในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2552
ในจำนวนนี้เป็นหนี้นอกระบบ 69.9% ลดลงจากปีก่อนที่ 80.2% แต่เพิ่มในสัดส่วนหนี้นอกระบบสูงถึง 30.1% จากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วนเพียง 19.8% มาจากการกู้ในระบบเต็ม เนื่องจากธนาคารระวังการปล่อยสินเชื่อ ส่วนภาระการผ่อนชำระอยู่ที่ 18,787 บาทต่อเดือน จากปีก่อนหน้าผ่อนชำระต่อเดือนที่ 16,742 บาท ซึ่งในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ 71.6% เคยผิดนัดชำระหนี้
ประเภทหนี้อันดับ 1 มาจากบัตรเครดิต รองลงมา คือ ยานพาหนะ และการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค เนื่องมาจากมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย มีเหตุให้ต้องใช้เงินฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด และค่าของชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงภาระทางการเงินในครอบครัวที่สูงขึ้น
ส่วนสาเหตุที่ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น 10 อันดับแรก คือ 1.รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 2.มีเหตุไม่คาดคิดที่ต้องใช้เงินฉุกเฉิน 3.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 4.ภาระทางการเงินของครอบครัวสูงขึ้น 5.ล้มเหลวจากการลงทุน
6.ลงทุนประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น 7.ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 8.ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น 9.ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน 10.ขาดรายได้ เนื่องจากถูกออกจากงาน
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้มากสุด คือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมา คือ รายได้ลดลง, สภาพคล่องของครัวเรือนลดลง, ราคาพืชผลเกษตรลดลง, ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ และไม่มีแหล่งให้กู้ยืมเงินเพิ่ม เป็นต้น
หนี้สินครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญและเป็นปัญหาที่สะสมมาต่อเนื่องยาวนาน โดยนับตั้งแต่ปี 2556 ระดับหนี้ครัวเรือนเริ่มสูงเกินกว่า 80% ของ จีดีพี โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 90% ของจีดีพี นับตั้งแต่ปี 2563
รวมทั้งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงระดับสูงสุดที่ 94.6% ของจีดีพี ในปี 2564 จากปัญหาโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนของประเทศต้องหยุดชะงัก ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในเรื่องการพักชำระหนี้ จึงทำให้ยอดหนี้ครัวเรือนไม่ลดลง
อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการแปลงสินเชื่อจากนอกระบบเข้ามาสู่ในระบบ จึงทำให้มีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เพราะช่วยลดดอกเบี้ยจากที่ต้องชำระในอัตราสูงถึง 10% ต่อเดือน ลงมาอยู่ที่ราว 3% ต่อเดือนได้ นอกจากนี้ รัฐบาลในขณะนั้นยังมีนโยบายพักชำระหนี้ และการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาเงินนอกระบบ
สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะให้กับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรกในเดือน ก.ย.นี้ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยจะแจกเป็นเงินสดคาดว่าจะไหลไปในการซื้อสินค้าทุกประเภท น่าจะอยู่ในกลุ่มอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และซื้อภายในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่จึงคาดว่าจะมีเงินหมุนในระบบรวม 2 รอบ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นจีดีพีไตรมาส 4 ของปีนี้ให้เติบโตราว 3.5-4.0% ขณะที่ภาพรวมจะช่วยกระตุ้นจีดีพีทั้งปีให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3% เป็น 2.7-2.8% จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเติบโต 2.5%
ส่วนการจ่ายเงิน 1 หมื่นบาท กับกลุ่มที่เหลือยังไม่ชัดเจน ซึ่งเบื้องต้น หากจ่ายครึ่งนึงก่อน ในช่วงปลายปี เศรษฐกิจ จะโตขึ้นอีก 0.1% ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสโตได้ถึง 2.8% และหากดิจิทัลวอลเล็ต อัดต่อเนื่อง ต้นปีหน้ารวมกับการใช้จ่ายช่วงเทศกาลต่าง ๆ รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีหน้า จะโตได้ 3.5 ถึง 4.0% กดดันหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีให้ลดมาที่ระดับ 89 -89.5% แต่ระยะต่อไปรัฐบาลควรเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตเกิน 4% โดยเร็วเพราะในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยทรงตัวไม่เกิน 2.5%